xs
xsm
sm
md
lg

ก.ล.ต. เตรียมคลอดเกณฑ์กำกับสินทรัพย์ดิจิทัล มิ.ย. นี้-คุมเข้มรายย่อยลงทุนไม่เกิน 3 แสนต่อครั้ง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


บอร์ด ก.ล.ต. เห็นชอบแนวทางการกำกับดูแลออกไอซีโอ และการประกอบธุรกิจศูนย์ซื้อขาย นายหน้า และผู้ค้าสินทรัพย์ดิจิทัล โดยคาดจะออกประกาศหลักเกณฑ์ได้ภายในเดือน มิ.ย. นี้ เบื้องต้น กำหนดดูแลผู้ลงทุนรายย่อยให้ลงทุนไม่เกินรายละ 3 แสนบาทต่อครั้ง เพื่อป้องกันความเสี่ยง ระบุมีผู้แสดงความจำนงทำหน้าที่ “ไอซีโอพอร์ทัล-ศูนย์กลางซื้อขาย” แล้วไม่ต่ำกว่า 10 ราย

นางทิพยสุดา ถาวรามร รองเลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการ ก.ล.ต. เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2561 ที่ผ่านมา ได้มีมติให้ความเห็นชอบแนวทางกำกับดูแลการออกไอซีโอ และการประกอบธุรกิจศูนย์ซื้อขาย นายหน้า และผู้ค้าสินทรัพย์ดิจิทัล โดยคาดว่าจะออกประกาศที่เกี่ยวข้องได้ภายในเดือนมิถุนายนนี้ หลังจากที่ได้ผ่านการรับฟังความคิดเห็นจากสาธารณชนในหลายช่องทาง อาทิ ทางเว็บไซต์ โซเชียลมีเดีย และการจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นจากกลุ่มผู้เกี่ยวข้อง (focus group)

สำหรับหลักเกณฑ์ที่จะออกมานี้จะช่วยให้มีความชัดเจนสำหรับผู้ต้องการออกไอซีโอ ตัวกลางที่เกี่ยวข้อง และผู้ทำธุรกรรมเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัล และช่วยลดโอกาสที่ประชาชนจะถูกหลอกลวง หรือถูกเอาเปรียบ รวมทั้งช่วยให้ภาครัฐมีเครื่องมือในการติดตามและป้องปรามการฟอกเงิน

ส่วนคุณสมบัติของผู้ที่จะออกไอซีโอ ต้องเป็นบริษัทตามกฎหมายไทยที่มีแผนธุรกิจชัดเจน มีงบการเงินที่ผ่านการตรวจสอบ ข้อกำหนดสิทธิของผู้ถือโทเคนดิจิทัลต้องชัดเจน มีการเปิดเผยชุดรหัสทางคอมพิวเตอร์สำหรับใช้ในกระบวนการไอซีโอ (ซอร์สโค้ด: source code) มีหนังสือชี้ชวน และมีการรายงานความคืบหน้าของโครงการและการใช้เงินเป็นระยะ

พร้อมกันนี้ การเสนอขายต้องทำผ่านผู้ให้บริการระบบเสนอขายโทเคนดิจิทัล (ไอซีโอพอร์ทัล) ที่ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการ ก.ล.ต. ซึ่งไอซีโอพอร์ทัล จะทำหน้าที่คัดกรองโครงการ และทำความรู้จักตัวตน และสถานะผู้ลงทุน ตลอดจนประเมินความสามารถในการรับความเสี่ยงของผู้ลงทุนด้วย

ขณะเดียวกัน สำนักงาน ก.ล.ต. อาจจะปฏิเสธ หรือไม่อนุญาตให้ออกไอซีโอได้หากเข้าข่ายเป็นการเลี่ยงกฎหมาย ขัดต่อนโยบายภาครัฐ กระทบต่อความน่าเชื่อถือของตลาดทุนโดยรวม หรืออาจทำให้ผู้ลงทุนไม่ได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง และไม่ได้รับความเป็นธรรม

พร้อมกันนี้ หลักเกณฑ์ดังกล่าวได้กำหนดผู้ลงทุนออกเป็น 4 ประเภทหลัก คือ ผู้ลงทุนสถาบัน ผู้ลงทุนรายใหญ่พิเศษ (UHNW) กิจการร่วมลงทุน (PE/VC) ที่ไม่จำกัดเม็ดเงินในการลงทุน ส่วนนักลงทุนรายย่อยกำหนดให้ลงทุนได้ไม่เกินรายละ 3 แสนบาทต่อดีล และกำหนดให้วงเงินรวมที่ขายผู้ลงทุนรายย่อยลงทุนต้องไม่เกิน 4 เท่าของส่วนของผู้ถือหุ้น หรือไม่เกินร้อยละ 70 ของมูลค่าที่เสนอขายทั้งหมด

สำหรับศูนย์กลางการซื้อขายแลกเปลี่ยน (Exchange) นายหน้าหรือตัวแทน (Broker) และผู้ค้าสินทรัพย์ดิจิทัล (Dealer)ต้องได้รับใบอนุญาตจากรัฐมนตรี โดยต้องมีทุนจดทะเบียนชำระแล้วไม่ต่ำกว่าที่คณะกรรมการ ก.ล.ต. กำหนด ทั้งนี้ สินทรัพย์ดิจิทัลที่จะนำมาซื้อขายในศูนย์ซื้อขาย ให้เป็นไปตามข้อบังคับของศูนย์ซื้อขาย ซึ่งต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการ ก.ล.ต.

หลักเกณฑ์ได้กำหนดทุนจดทะเบียนของผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล คือ กรณีที่สามารถจำหน่ายจ่ายโอนทรัพย์สินให้ลูกค้าได้เอง (Centralized) กำหนดให้ Exchange ต้องมีทุนจดทะเบียนชำระแล้ว 50 ล้านบาท ส่วน Broker 25 ล้านบาท หากจำหน่ายจ่ายโอนทรัพย์สินลูกค้าไม่ได้ (Decentralized) กำหนดให้ Exchange ต้องมีทุนจดทะเบียนชำระแล้ว 10 ล้านบาท ส่วน Broker 5 ล้านบาท ส่วน Broker ที่เป็นช่องทางส่งคำสั่งโดยมิได้ยุ่งเกี่ยวกับทรัพย์สินลูกค้า ทุนจดทะเบียนชำระแล้ว 1 ล้านบาท ขณะที่ Dealer กำหนดไว้ที่ 5 ล้านบาท

ปัจจุบันมีผู้สนใจต้องการทำธุรกรรมเป็นไอซีโอพอร์ทัล และตัวกลางซื้อขายแลกเปลี่ยนมากกว่า 10 ราย ซึ่งมีทั้งผู้ประกอบธุรกิจตัวกลางเดิมที่ดำเนินการอยู่แล้ว แต่ต้องขออนุญาตจากกระทรวงการคลังตามกำหนดภายใน 90 วัน หลัก พ.ร.ก. มีผลบังคับใข้ และคาดจะใช้เวลาในการพิจาณาอีกประมาณ 2-3 เดือน

อย่างไรก็ตาม การซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลใดๆ ในศูนย์ซื้อขายต้องเป็นการแลกเปลี่ยนกับเงินบาท หรือคริปโตเคอร์เรนซีในรายชื่อที่ประกาศกำหนดเท่านั้น เบื้องต้น อนุญาตให้ใช้ 7 ดิจิทัลโทเคน ประกอบด้วย Bitcoin, Bitcoin Cash, Ethereum,Ethereum Classic, Litecoin, Ripple และ Stellar ซึ่งอาจจะมีการปรับลดหรือเพิ่มขึ้นไปได้อนาคต

“หลักเกณฑ์ที่ออกมานี้ ได้พยายามหาจุดสมดุลระหว่างการสนับสนุนนวัตกรรม และการสร้างความเชื่อมั่นให้ผู้เกี่ยวข้อง โดยได้นำความเห็นจากทุกฝ่ายมาพิจารณา เกณฑ์ที่ออกมาอาจจะยังไม่สมบูรณ์แบบ แต่เป็นจุดเริ่มต้นของการเรียนรู้จากของจริงไปด้วยกันระหว่างทางการ และภาคธุรกิจ” นางทิพยสุดา กล่าว

อนึ่ง คณะกรรมการ ก.ล.ต. ได้ให้ความเห็นชอบในการออกประกาศยกเว้นโทเคนดิจิทัลที่กำหนดสิทธิในการได้มาซึ่งสินค้า หรือบริการที่เฉพาะเจาะจง (utility token) ซึ่งผู้ถือสามารถใช้ประโยชน์ได้ทันที ออกจากการกำกับดูแลการเสนอขายโทเคนดิจิทัลต่อประชาชน นอกจากนี้ ผู้ให้บริการซื้อขายแลกเปลี่ยนสินทรัพย์ดิจิทัลที่มีมูลค่าคงที่เทียบกับเงินบาท หรือให้บริการแลกเปลี่ยนระหว่าง utility token ด้วยกันที่ให้สิทธิประโยชน์เฉพาะในลักษณะเดียวกัน เช่น ระหว่างเหรียญในเกมส์ หรือแต้มสะสมคะแนนแลกสินค้าหรือบริการ ไม่ถือเป็นการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลภายใต้ พ.ร.ก. นี้

น.ส.อาจารีย์ ศุภพิโรจน์ ผู้อำนวยการฝ่ายส่งเสริมเทคโนโลยีทางการเงิน สำนักงาน ก.ล.ต. กล่าวถึง กรณีที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ออกหนังสือเวียนห้ามธนาคารพาณิชย์ทำธุรกรรม ลงทุน หรือเป็นตัวกลางในการซื้อขายสกุลเงินดิจิทัล (คริปโทเคอร์เรนซี) ว่า ช่วงที่ผ่านมา ก.ล.ต. และ ธปท. มีการทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิด คาดว่าหากเกณฑ์ที่ ก.ล.ต. ออกมามีความชัดเจนแล้ว มีความเป็นไปได้ที่ ธปท. จะปลอดล็อกให้ธนาคารพาณิชย์มีการทำธุรกรรมได้ ซึ่งขึ้นอยู่กับการพิจารณาของ ธปท.

“ไทยถือเป็นประเทศแรกในอาเซียน ที่มีการออกเกณฑ์กำกับดูแลการออกไอซีโอโดยเฉพาะ ขณะที่สิงคโปร์ กำกับดูแลตามเกณฑ์การกำกับหลักทรัพย์” น.ส.อาจารีย์ กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น