บมจ. ซุปเปอร์ เอนเนอร์ยี คอร์เปอเรชั่น ร่วงอย่างหนัก แม้ผู้บริษัทจะออกมาชี้แจงข่าวเกี่ยวกับฐานะการดำเนินงานยังแข็งแกร่ง และไม่เทขายหุ้น ราคาหลุด 1 ลาท ลดลงกว่า 20% ก่อนจะปรับตัวขึ้นมายืนเหนือ 1 บาทอีกครั้ง
บรรยากาศการซื้อขายหุ้นของบริษัท ซุปเปอร์ เอนเนอร์ยี คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ SUPER วันนี้ (4 มิ.ย.) ราคายังคงปรับตัวลงแรงต่อเนื่อง แม้ผู้บริหารจะออกมาชี้แจงข่าวยืนยันฐานะทางการเงินของบริษัทแข็งแกร่ง โดยเปิดการซื้อขายที่ 1.11 บาท ก่อนจะปรับตัวขึ้นสูงสุดที่ 1.13 บาท และต่ำสุดที่ 0.81 บาท หรือลดลงเกือบ 20% ก่อนจะปรับตัวขึ้นมายื่นเหนือ 1 บาท ได้อีกครั้ง ล่าสุด เวลา 10.20 น. ราคาอยู่ที่ 1.00 บาท ลดลง 0.04 บาท หรือคิดเป็น 3.85%
โดย บมจ. ซุปเปอร์ เอนเนอร์ยี คอร์เปอเรชั่น ได้ชี้แจงต่อตลาดหลักทรัพย์ฯ ว่า ตามที่ได้มีข่าวลือตามสื่อต่าง ๆ ในประเด็นที่อาจมีผลกระทบต่อราคาซื้อขายหุ้นของบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ฯ โดยราคาหุ้นบริษัทปิดตลาดอยู่ที่ 1.04 บาท ลดลง 0.44 บาท หรือ 29.73% นั้น บริษัทขอชี้แจงข้อเท็จจริงตามประเด็นต่างๆ ดังนี้
กรณีประเด็นผู้ถือหุ้นรายหนึ่งของบริษัท เทขายหุ้นของบริษัทนั้น ขณะนี้จำนวนหุ้น SUPER ที่ถือโดย 1) นายจอมทรัพย์ โลจายะ ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่และผู้บริหารของบริษัท และหุ้น SUPER ที่ถือโดย 2) บริษัท แอ็ดวานซ์แอสเซท แมเนจเม้นท์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่นายจอมทรัพย์ โลจายะ ถือหุ้นในสัดส่วนร้อยละ 100 ของทุนจดทะเบียน รวมทั้งหุ้น SUPER ที่ถือโดย 3) บริษัท สุวินทวงศ์ โกลแอสเซท จำกัด ผู้ถือหุ้นรายใหญ่
ณ วันที่ 31 พ.ค.61 การถือหุ้นของผู้ถือหุ้นทั้ง 3 ราย จำนวน 1) 5,031,199,317 หุ้น 2) 354,023,754 หุ้น และ 3) 5,631,494,736 หุ้น ตามลำดับ ถือหุ้นบริษัทเป็นจำนวนรวม 11,016,717,807 หุ้น คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 40.28 ของทุนจดทะเบียน ณ วันที่ 1 มิ.ย. 61 ผู้ถือหุ้นทั้ง 3 ราย มิได้มีการขายหุ้นของบริษัทออกมาแต่อย่างใด
กรณีประเด็นการจัดตั้งกองทุนกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน ปัจจุบัน บริษัทยังคงดำเนินการตามแผนงานการจัดตั้งกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน โดยไม่มีการเปลี่ยนแปลงแผนงานแต่อย่างใด โดยปัจจุบันบริษัทอยู่ในระหว่างการจัดเตรียมข้อมูลและเอกสาร ร่วมกับธนาคารกรุงเทพ (BBL) ซึ่งเป็นที่ปรึกษาในการจัดตั้งกองทุนโครงสร้างพื้นฐานให้กับบริษัท และคาดว่าจะสามารถยื่นข้อมูลและเอกสารต่างๆ ต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้ในเร็วๆ นี้
ทั้งนี้ ในส่วนของการปรับปรุงหลักเกณฑ์ของสำนักงาน ก.ล.ต. นั้นเมื่อวันที่ 18 พ.ค.61 ได้ครบกำหนดการรับฟังความคิดเห็นเรียบร้อยแล้ว หลังจากนั้น จะได้มีการพิจารณาดำเนินการไปตามขั้นตอนของสำนักงาน ก.ล.ต. ต่อไป
กรณีประเด็นเรื่องความสามารถในการชำระหนี้ ซึ่งตามที่มีข่าวลือว่าบริษัทมีภาระหนี้เงินกู้จำนวนมาก และมีภาระหนี้เงินกู้ที่ถึงกำหนดชำระในปีนี้เป็นจำนวนสูงถึง 23,000 ล้านบาท แต่กระแสเงินสดรายได้จากการดำเนินกิจการมีประมาณ 6,000 ล้านบาท จึงมีไม่เพียงพอเพื่อชำระหนี้นั้น ข้อมูลดังกล่าวเป็นข้อมูลที่ผิดพลาดและคลาดเคลื่อนทั้งหมด เนื่องจากตามงบการเงินของบริษัทสิ้นสุดวันที่ 31 มี.ค.61 บริษัทมีภาระหนี้สินที่ถึงกำหนดชำระภายใน 1 ปี จำนวนเพียง 3,340 ล้านบาท โดยส่วนที่เหลือจำนวน 23,000 ล้านบาท ตามที่เนื้อหาข่าวระบุ เป็นจำนวนเงินกู้ระยะยาวคงเหลือหลังหักส่วนที่ถึงกำหนดชำระภายใน 1 ปี และมีเงื่อนไขให้บริษัททยอยชำระคืนภายในปี 72 ซึ่งเป็นไปตามที่ระบุในสัญญาเงินกู้ที่มีกับสถาบันการเงิน
กรณีประเด็นเรื่องการเพิ่มทุน บริษัทขอยืนยันว่า บริษัทยังไม่มีนโยบายการเพิ่มทุนแต่อย่างใด ขณะเดียวกัน การดำเนินธุรกิจของบริษัทยังคงเป็นไปตามแผนการดำเนินธุรกิจทั้งหมด โดย ณ ปัจจุบัน ยังไม่มีปัจจัยใดที่จะมากระทบฐานะทางการเงินและปัจจัยพื้นฐานของบริษัทแต่อย่างใด