xs
xsm
sm
md
lg

ธปท. หวั่นฟองสบู่สินเชื่อบ้าน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ผู้ว่าแบงก์ชาติ ห่วงความเสี่ยงสินเชื่อที่อยู่อาศัยของสถาบันการเงิน เริ่มเห็นสัญญาณการแข่งขันปล่อยสินเชื่อของแบงก์สูงขึ้น เตือนสถานการเงินบางแห่งให้ระมัดระวังความเสี่ยง ระบุปัญหาการเมืองอิตาลีไม่กระทบตลาดเงินตลาดทุนไทย เนื่องจากไม่มีธุรกรรมโดยตรง พร้อมจับตากระแสเงินทุนไหลออกจากประเทศตลาดเกิดใหม่ พร้อมเปิดมิติใหม่ปฏิรูปการกำกับสถาบันการเงิน นำร่องไฟเขียวเอกชน 5 ราย ทำธุรกิจเงินตราต่างประเทศกับธนาคารพาณิชย์ได้
 
นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ ธปท. เริ่มเห็นสัญญาณการแข่งขันการปล่อยสินเชื่อที่อยู่อาศัยเพิ่มมากขึ้น อาจจะมีความเสี่ยง ซึ่ง ธปท. ได้เตือนสถาบันการเงินบางแห่งให้ระมัดระวังความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นในอนาคต รวมทั้งติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด

“ภาพรวมการปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงินเป็นไปอย่างปกติ มีระบบวิเคราะห์ข้อมูล ป้องกันความเสี่ยงที่ดีขึ้น ธปท. ได้เตือนสถาบันการเงินเป็นบางรายเท่านั้น โดยสินเชื่อทั้งระบบยังคงมีเสถียรภาพ และยังไม่เกิดปัญหา”

สำหรับประเด็นปัญหาการเมืองในประเทศอิตาลี ยังไม่มีผลกระทบต่อตลาดเงินตลาดทุนของไทย เพราะไทยไม่มีความสัมพันธ์และธุรกรรมโดยตรง ผลกระทบที่เกิดขึ้นมาจากความผันผวนของตลาดการเงินโลกที่จะมีผลต่อกระแสเงินทุนไหลเข้าออกบ้าง แต่ไม่ต้องตกใจ ซึ่ง ธปท. ยังคงติดตามสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง

การไหลออกของเงินทุนต่างชาติจากประเทศตลาดเกิดใหม่รวมทั้งประเทศไทย ในช่วงนี้เป็นไปตามภาวะตลาดเงินตลาดทุนโลก เนื่องจากประเทศขนาดใหญ่เริ่มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยกลับไปสู่ภาวะปกติ ดังนั้น เงินทุนจึงไหลออกบ้าง แต่พื้นฐานเศรษฐกิจไทย และฐานะการเงินต่างประเทศมีความแข็งแกร่ง หนี้ต่างประเทศต่ำ ทุนสำรองระหว่างประเทศสูง สัดส่วนต่างชาติถือครองพันธบัตรไทยต่ำกว่า 10% ซึ่งแตกต่างจากประเทศตลาดเกิดใหม่บางประเทศที่มีต่างชาติถือครองพันธบัตร 30-40% ดังนั้น แม้ภาวะการเงินโลกอาจจะตึงตัวบ้าง แต่เชื่อว่าจะไม่ได้รับผลกระทบรุนแรง

***ธปท. ปฏิรูปการกำกับสถาบันการเงิน

นายวิรไท กล่าวเพิ่มเติมว่า ธปท. ได้ปฏิรูปการกำกับดูแลสถาบันการเงินอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ การดำเนินธุรกิจของสถาบันการเงินมากขึ้น และมีแผนจะปฏิรูปอีก 2 โครงการ คือ 1. การปฏิรูปการกำกับดูแลสถาบันการเงิน เพื่อให้สอดรับสถานการณ์ปัจจุบันที่เข้าสู่ยุคดิจิทัลแบงกิง และ 2. กฎเกณฑ์การปล่อยสินเชื่อ ธุรกิจเอสเอ็มอี ลดความซ้ำซ้อน แต่มีความรัดกุมป้องกันความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นได้

ส่วนครึ่งหลังของปี 61 จะเข้าสู่ระยะที่สองของการปฏิรูปกฎเกณฑ์ควบคุมการแลกเปลี่ยนเงิน ซึ่งจะมุ่งเน้นที่กลุ่มวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) และบุคคลรายย่อยให้สามารถบริหารจัดการเงินตราต่างประเทศมีประสิทธิภาพ และคล่องตัวมากขึ้น รวมทั้งยังจะได้ผ่อนคลายหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการประกอบธุรกิจรับแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ และธุรกิจโอนเงินระหว่างประเทศ ทั้งในด้านคุณสมบัติและรูปแบบการให้บริการ เพื่อของรับการให้บริการรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์มากยิ่งขึ้น

การปฏิรูปที่สำคัญอีกด้าน ซึ่งถือเป็นมิติใหม่ของการทาธุรกรรมเงินตราต่างประเทศ คือ การอนุญาตให้บริษัท และกลุ่มบริษัทที่มีคุณสมบัติตามที่กำหนด (Qualified Company) สามารถทำธุรกรรม เงินตราต่างประเทศกับธนาคารพาณิชย์ได้ โดยไม่ต้องแสดงเอกสารประกอบการทำธุรกรรมหลายรายการ เช่น ใบกำกับสินค้า สัญญาเงินกู้ หรือหลักฐานแสดงภาระอื่นๆ ซึ่ง Qualified Company จะต้องมีนโยบายการกำกับดูแล และการตรวจสอบการทาธุรกรรมเงินตราต่างประเทศที่รัดกุมจากผู้บริหารระดับสูงของบริษัท โดย ธปท. จะติดตามพฤติกรรมการทำธุรกรรมของ Qualified Company ด้วยการวิเคราะห์ข้อมูล (Data Analytic) แทนการพิจารณารายรายการ

โดย ธปท. ได้เห็นชอบให้บริษัท 5 ราย เป็น Qualified Company เป็นกลุ่มแรก ประกอบด้วย บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน), บริษัท เอ็นเอ็มบี-มินีแบไทย จำกัด, บริษัท โคเวส โตร (ประเทศไทย) จำกัด, บริษัท แอลจี อีเลคทรอนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด และบริษัท สตาร์ ปิโตรเลียม รีไฟน์นิ่ง จำกัด (มหาชน) และให้มีศูนย์บริหาร เงิน (Treasury Center) 1 ราย คือ บริษัท มิตรผล เทรชเชอรี่ เซ็นเตอร์ จำกัด
 
ทั้งนี้ ธปท. เล็งเห็นประโยชน์ และความสนใจของภาคเอกชนต่อโครงการนี้ ธปท. จึงขยายช่วงเวลายื่นขอ ความเห็นชอบออกไปจนถึงวันที่ 16 พฤศจิกายน 2561 และปรับเปลี่ยนเกณฑ์คุณสมบัติให้สอดคล้องกับรูปแบบการดำเนินธุรกิจของทั้งบริษัทไทย และบริษัทข้ามชาติที่ประกอบธุรกิจในประเทศไทยมากยิ่งขึ้น โดย ธปท. จะติดตามผลของโครงการ และจะพิจารณาขยายการผ่อนคลายดังกล่าวให้ครอบคลุมถึงผู้ประกอบธุรกิจในวงที่กว้างขึ้นต่อไป


กำลังโหลดความคิดเห็น