• ชูกลยุทธ์ Digital Partnership ร่วมมือพันธมิตรมอบโซลูชันดิจิทัลช่วยพัฒนาศักยภาพ เอสเอ็มอี 4.0 ทั้งลดต้นทุน ขยายช่องทางการค้า และเพิ่มยอดขายให้เติบโตได้อย่างยั่งยืน
• ดัน Business Center ขึ้นแท่นศูนย์กลางความรู้เสริมแกร่งเอสเอ็มอีไทย
ธนาคารไทยพาณิชย์ พลิกโมเดลธุรกิจเอสเอ็มอี ต่อยอดวิสัยทัศน์กลับหัวตีลังกา (Going Upside Down) พร้อมเป็นทุกอย่างเพื่อเอสเอ็มอี ประกาศกลยุทธ์ Digital Partnership พัฒนาเครือข่ายพันธมิตรทางด้านดิจิทัลกว่า 50 องค์กร ที่มีความเชี่ยวชาญในธุรกิจต่างๆ อย่างกว้างขวาง เพื่อพลิกโฉมผู้ประกอบเอสเอ็มอีสู่ยุค 4.0 และช่วยตอบโจทย์ทางธุรกิจในทุกมิติ พร้อมลุยขยายฐานลูกค้าเอสเอ็มอี เดินหน้าเปิด Business Center ศูนย์รวมทุกคำตอบสำหรับผู้ประกอบการ หนึ่งในฟันเฟืองการร่วมสร้างระบบนิเวศทางธุรกิจ (Business Ecosystem) หนุนเอสเอ็มอีไทยเติบโตเต็มศักยภาพอย่างยั่งยืน มั่นใจปีนี้สินเชื่อเอสเอ็มอีขยายตัว 7%
นางพิกุล ศรีมหันต์ รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส ผู้บริหารสูงสุดลูกค้าเอสเอ็มอี ธนาคารไทยพาณิชย์ เปิดเผยว่า การพัฒนาอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยีและการเติบโตอย่างก้าวกระโดดของกระแสดิจิทัลส่งผลให้บริบทของโลกธุรกิจการค้าพลิกโฉมไปจากอดีต ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีจึงไม่สามารถนิ่งเฉย แต่จำเป็นต้องปรับตัวให้เท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลง ธนาคารไทยพาณิชย์มีความมุ่งมั่นที่จะสนับสนุนให้เอสเอ็มอี Transform ตัวเองเพื่อพลิกโฉมสู่การเป็นเอสเอ็มอี 4.0 ที่ใช้เทคโนโลยีเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของธุรกิจ โดยวางกลยุทธ์ “Digital Partnership” เป็นแนวทางหลักในการดำเนินธุรกิจในปี 2561 เนื่องจากเล็งเห็นว่ามีลูกค้าเอสเอ็มอีจำนวนมากที่ยังต้องการเสริมความรู้ทางด้านดิจิทัล และยังนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในธุรกิจได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ ดังนั้น ภายใต้กลยุทธ์ Digital Partnership ธนาคารไทยพาณิชย์จะทำหน้าที่เป็นสะพานเชื่อมต่อระหว่างลูกค้าเอสเอ็มอี กับสตาร์ทอัปผู้ให้บริการด้านต่างๆ ที่มีการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล และระบบออนไลน์เป็นเครื่องมือในการบริการลูกค้า เพื่อนำมาต่อยอดธุรกิจหรือแก้ไขปัญหาของผู้ประกอบการที่มีอยู่ (pain point) ด้วยต้นทุนที่ถูกลงแต่มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยเฉพาะการเพิ่มช่องทางการขายสินค้าบนระบบดิจิทัลที่จะสามารถเข้าถึงลูกค้าได้ทุกที่ทุกเวลา พร้อมระบบการขนส่งที่มีประสิทธิภาพลดขั้นตอน และความยุ่งยากทำให้สินค้าถึงมือผู้รับได้อย่างรวดเร็ว องค์ประกอบเหล่านี้จะนำไปสู่การเพิ่มยอดขายให้กับเอสเอ็มอีต่อไป ซึ่งขณะนี้สามารถขยายเครือข่ายพันธมิตรทางด้านดิจิทัลแล้ว จำนวนกว่า 50 ราย ครอบคลุมทุกบริการที่สามารถเติมเต็มศักยภาพทางธุรกิจให้ลูกค้าเอสเอ็มอี อาทิ
• บริษัท เรดดี้ แพลนเน็ต จำกัด: ผู้ให้บริการเว็บไซต์สำเร็จรูป การพัฒนาโมบายแอปพลิเคชัน และการตลาดออนไลน์ ช่วยให้เอสเอ็มอีมีหน้าร้านบนโลกดิจิทัลได้อย่างง่ายดาย พร้อมระบบที่ช่วยให้การจัดการหน้าร้านสะดวก และคล่องตัว โดยบริษัทมีประสบการณ์ในการให้บริการกับลูกค้ามาแล้วกว่า 17,000 ราย ซึ่งจะเป็นการช่วยเอสเอ็มอีขยายช่องทางการขาย และมีหน้าร้านบนดิจิทัลได้อย่างสะดวกรวดเร็ว
• บริษัท ฟาสต์เวิร์ค เทคโนโลยี จำกัด: ศูนย์รวมฟรีแลนซ์ออนไลน์อันดับ 1 ของประเทศ ที่สามารถเชื่อมโยงฟรีแลนซ์จากทุกสาขาวิชาชีพกว่า 8,000 คน ที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีสามารถเลือกใช้บริการฟรีแลนซ์ เพื่ออุดช่องว่างที่ตนเองไม่ถนัดด้วยค่าใช้จ่ายที่ลดลง แต่ได้ประสิทธิผลคุ้มค่า ซึ่งช่วยตอบสนองความต้องการได้ทุกรายละเอียดของธุรกิจอย่างครบวงจร
• บริษัท แอ็คเคาท์ติ้ง ทรานส์ฟอร์เมชั่นส์ จำกัด: ผู้พัฒนาแพลตฟอร์ม แอคเรโว ผู้ให้บริการทางด้านบัญชีบนระบบออนไลน์อย่างครบวงจร มีเครือข่ายสำนักบัญชีที่ได้รับการรับรองจากกรมสรรพากร อยู่บนแพลตฟอร์มมากถึง 18 สำนัก จำนวนกว่า 200 คน ช่วยให้เอสเอ็มอีมีระบบบัญชีที่ถูกต้อง รองรับการขยายธุรกิจในอนาคต และยังช่วยให้ผู้ประกอบการได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีตามสิทธิพึงได้ อีกทั้งมีต้นทุนที่ลดลงเนื่องจากไม่ต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายในการจ้างพนักงานบัญชีประจำ
• บริษัท ซีแมนทิค ทัช จำกัด: ผู้ให้บริการระบบ E-commerce Web Application ที่มีชื่อว่า BentoWeb ระบบสำหรับช่วยผู้ประกอบการเปิดร้านเพื่อขายสินค้า หรือบริการบนอินเทอร์เน็ต ผ่านช่องทาง Electronics ต่างๆ และยังให้บริการเช่าพื้นที่ฝากร้านค้า บริการตกแต่งออกแบบเว็บไซต์หน้าร้าน บริการข้อมูล และเครื่องมือในการทำการตลาด และบริการอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องในการขายสินค้า ช่วยให้เอสเอ็มอีมีช่องทางในการขายที่หลากหลาย และสามารถกระตุ้นยอดขายไปสู่ลูกค้าเป้าหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพ
• MyCloudFulfillment: ผู้ให้บริการลอจิสติกส์แบบครบวงจรสำหรับร้านขายของออนไลน์ หรือการขายในหลายช่องทาง ที่ช่วยจัดการเก็บสินค้าคงคลัง การตรวจ และแพกสินค้า และการส่งสินค้าไปสู่ช่องทางการขายทุกช่องทาง พร้อมมีระบบจัดการ Supplychain และจัดการคำสั่งซื้อ ช่วยให้เอสเอ็มอีสามารถส่งของถึงมือลูกค้าได้อย่างรวดเร็ว และประหยัดเวลารวมทั้งค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการต้นทุนในการจัดเก็บสินค้า
“การสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการทำธุรกิจให้กับลูกค้าเอสเอ็มอี เป็นแนวทางที่ธนาคารฯ มุ่งมั่นทำให้เกิดขึ้นจริง เราเชื่อว่า หากเอสเอ็มอีสามารถค้าขาย และเติบโตได้อย่างแข็งแกร่ง ย่อมส่งผลดีต่อเศรษฐกิจโดยรวม สิ่งที่เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมในวันนี้ คือ ความร่วมมือจากพันธมิตรต่างๆ ที่จะช่วยสนับสนุนลูกค้าเอสเอ็มอีของเราต่อไป รวมถึงการให้บริการของศูนย์ลูกค้าธุรกิจ (Business Center) ที่มุ่งสู่การเป็นศูนย์รวมความรู้ และรวบรวมบริการที่จำเป็นสำหรับเอสเอ็มอีในยุคปัจจุบัน ทั้งด้านธุรกรรมทางการเงิน และด้านอื่นๆ ครอบคลุมทั้ง การทำ Digital Marketing การสร้างแบรนด์ให้กับธุรกิจ การหาโซลูชั่นทางด้าน Logistics และการทำธุรกิจแฟรนไชส์ พร้อมทั้งมีกูรูที่ประสบความสำเร็จทางธุรกิจเป็นที่ปรึกษาให้กับเอสเอ็มอีโดยไม่มีค่าใช้จ่าย ตลอดจนการจัดสัมมนา และ Workshop เป็นประจำทุกสัปดาห์เพื่ออัปเดตความรู้ และพัฒนาทักษะให้กับผู้ประกอบการ สิ่งเหล่านี้นับเป็นส่วนสำคัญในการสร้าง Business Ecosystem ที่ธนาคารตั้งเป้าหมายไว้ โดยจะยังเดินหน้าพัฒนาเครือข่ายพันธมิตรในมิติอื่นๆ อย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะทำให้เราสามารถขยายฐานลูกค้าเอสเอ็มอีไปยังกลุ่มใหม่ๆ ได้อย่างกว้างขวาง ซึ่งปัจจุบันธนาคารมีลูกค้าเอสเอ็มอีอยู่ในพอร์ตราว 5 แสนราย และธนาคารไทยพาณิชย์ พร้อมที่จะเปิดรับพันธมิตรใหม่ๆ ที่มีศักยภาพ เพื่อร่วมสร้างเครือข่ายเอสเอ็มอีที่แข็งแกร่งยิ่งขึ้น เพื่อเป็นรากฐานทางเศรษฐกิจ และสังคมของประเทศต่อไป
นางพิกุล กล่าวต่อว่า ตัวเลขเศรษฐกิจที่ขยายตัวดีขึ้นจะเป็นแรงส่งต่อการขับเคลื่อนธุรกิจเอสเอ็มอีในระยะต่อไป ธนาคารฯ จึงประเมินแนวโน้มทางด้านธุรกิจสำหรับกลุ่มเอสเอ็มอีในปี 2018 ในทิศทางที่เป็นบวก โดยมั่นใจว่า สินเชื่อคงค้างปีนี้จะขยายตัวได้ถึง 7% โดยมียอดสินเชื่อคงค้างจำนวน 3.6 แสนล้านบาท ขณะที่คุณภาพของลูกค้าเอสเอ็มอี มีการปรับตัวดีขึ้น โดยพบว่าอัตราการอนุมัติสินเชื่อเอสเอ็มอีของธนาคารสูงถึง 80%
(ข่าวประชาสัมพันธ์)