ธ.ไทยพาณิชย์ รุกเอสเอ็มอี ปั๊มยอดสินเชื่อใหม่ทะลุ 100,000 ล้านบาท ดันพอร์ตสินเชื่อคงค้างโตร้อยละ 7
นางพิกุล ศรีมหันต์ รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส ผู้บริหารสูงสุดลูกค้าเอสเอ็มอี ธนาคารไทยพาณิชย์ เปิดเผยว่า แนวโน้มธุรกิจเอสเอ็มอีในปีนี้ มีทิศทางที่เป็นบวก โดยคาดสินเชื่อเอสเอ็มอีคงค้างปีนี้ของธนาคารขยายตัวร้อยละ 7 ยอดสินเชื่อคงค้าง จำนวน 360,000 ล้านบาท ธนาคารตั้งเป้าสินเชื่อใหม่ 80,000 ล้านบาท เท่ากับปีก่อน โดยไตรมาสแรก ปล่อยสินเชื่อใหม่ไปแล้ว 15,000 ล้านบาท ซึ่งหากธนาคารต้องการให้สินเชื่อโตตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ ต้องปล่อยสินเชื่อใหม่ให้ได้ถึง 100,000 ถึง 120,000 ล้านบาทในช่วง 3 ไตรมาสที่เหลือ เนื่องจากในไตรมาสแรกลูกค้าธนาคารมีการชำระสินเชื่อกลับเข้ามาสูงมากกว่าการปล่อยใหม่ ประกอบกับลูกค้ามีการใช้เงินทุนหมุนเวียน ทำให้ภาพรวมเอสเอ็มอีอาจจะไม่มีการเติบโต
ปัจจัยสนับสนุนมาจากเศรษฐกิจไทยที่ขยายตัวดีขึ้น และธนาคารเตรียมออกสินเชื่อเอสเอ็มอ ไม่มีหลักประกัน หวังดึงลูกค้าเอสเอ็มอีนอกระบบมาขอสินเชื่อ โดยคิดดอกเบี้ยต่ำกว่าสินเชื่อนอกระบบ แต่ผลตอบแทนสินเชื่อประเภทนี้จะสูงกว่าอัตราผลตอบแทนสินเชื่อรวมทั้งพอร์ตที่อยู่ร้อยละ 5-6 ขณะที่คุณภาพลูกค้าเอสเอ็มอีมีการปรับตัวดีขึ้นเช่นกัน อัตราการอนุมัติสินเชื่อเอสเอ็มอีของธนาคารสูงถึงร้อยละ 80 ส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ทรงตัวอยู่ที่ร้อยละ 7.6 ส่วนใหญ่มาจาก3 กลุ่มหลัก คือ สิ่งพิมพ์ โรงสี และอุตสาหกรรมเหล็ก ซึ่งธนาคารไม่มีแผนตัดขายเอ็นพีแอลแต่อย่างใด แต่จะใช้วิธีช่วยเหลือลูกค้าด้วยการปรับโครงสร้างหนี้เป็นต้น ธนาคารพยายามรักษาระดับเอ็นพีแอล ไม่ให้ปรับสูงขึ้น
นอกจากนี้ ธนาคารมีการปรับรูปแบบสาขาใหม่ ลดสาขาทั่วไปจาก 1,200 สาขาเหลือ 400 สาขา ภายใน 3 ปี โดยปรับสาขาเป็นศูนย์ลูกค้าธุรกิจ (Business Center) แล้ว 5 แห่ง ปีนี้จะเปิดศูนย์ธุรกิจ 50 แห่งจากเป้าหมาย 200 แห่งในปี 2563 โดยใช้งบประมาณเบื้องต้น 2,000 ล้านบาท นอกจากนี้ มีการปรับสาขาเป็นศูนย์การลงทุน (Investment Center) เปิดแล้ว 6 แห่ง จำนวนสาขาด่วน (Express Branch) เปิดบริการแล้วจำนวน 30 แห่ง รวมทั้ง Service Center เพื่อตอบสนองการใช้บริการของลูกค้าได้ตรงจุด ในการปรับโฉมสาขาโดยเฉพาะศูนย์ลูกค้าธุรกิจ ทางธนาคารจะให้คำแนะนำผู้ประกอบการในการทำดิจิทัลมาร์เกตติง สร้างแบรนด์ให้ธุรกิจ บริหารจัดการระบบลอจิสติกส์ และแฟรนไชส์ รวมทั้งร่วมมือกับพันธมิตร 50 ราย ร่วมให้คำปรึกษา เช่น การทำตลาดออนไลน์ การพัฒนาเว็บไซต์ การพัฒนาโมบาย แอปพลิเคชัน รวมถึงการจัดทำระบบบัญชี เพื่อยกระดับศักยภาพทางธุรกิจ พร้อมกระตุ้นยอดขายให้เติบโตอย่างแข็งแกร่ง