xs
xsm
sm
md
lg

ก.ล.ต. แนะลงทุน ICO เสี่ยงเสียหายสูงกว่า 95%

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นายรพี สุจริตกุล เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)
ก.ล.ต. ชี้การเข้าลงทุนใน ICO เป็นการลงทุนเฉพาะกลุ่ม พบส่วนใหญ่นักลงทุนกว่า 95% เสียหายจำนวนมาก มีเพียง 5% เท่านั้นที่จะประสบผลสำเร็จ แนะอย่ามองผลตอบแทนสูงที่อวดอ้างเป็นที่ตั้ง เพราะในความเป็นจริงมีธุรกิจส่วนน้อย หรือสตาร์ตอัป ที่จะทำได้ ส่วน พ.ร.ก. ควบคุมธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลนั้น เพื่อป้องกันประชาชนถูกหลอกตกเป็นเหยื่อ

นายรพี สุจริตกุล เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือ ก.ล.ต. กล่าวในงานสัมมนา "Symposium Thailand 4.0 Fintech & Cryptocurrency VS Law Enforement" ว่า ปัจจุบัน การลงทุนประเภทเหรียญดิจิทัล ICO หรือ Initial Coin Offering เริ่มได้รับความสนใจและความนิยมในหมู่นักลงทุนรุ่นใหม่มีปริมาณเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่ปัญหาหลักอยู่ที่นักลงทุนส่วนใหญ่นั้น ไม่มีความรู้ด้านการลงทุนประเภทนี้อย่างเพียงพอ เพราะว่าการระดมทุนในลักษณะนี้จะมีเรื่องของเทคโนโลยีเข้ามาเกี่ยวข้องเป็นจำนวนมาก อีกทั้งส่วนใหญ่มักติดกับหลงกลด้วยการอวดอ้างผลตอบแทนที่จะได้รับว่าสูงถึง หลัก 100-1,000% ซึ่งถือว่าผลตอบแทนที่สูงกว่าความเป็นจริงมากกว่าการลงทุนในตลาดหุ้นที่ให้ผลตอบแทนอยู่ที่ 10% เท่านั้น

ขณะที่ในส่วนของการทำธุรกิจของสตาร์ตอัปนั้น นักลงทุนที่จะเข้าไปร่วมกับสตาร์ตอัป จะต้องประเมินและพิจารณาความเสี่ยงให้รอบคอบก่อน เพราะเป็นธุรกิจที่ไม่เคยมีใครทำมาก่อน และเป็นเรื่องที่ไม่มีคาดเดาได้ว่าจะประสบความสำเร็จหรือไม่

“คนที่จะลงทุนใน ICO หรือ Cryptocurrency จะต้องทำความเข้าใจก่อนว่า การลงทุนประเภทนี้นั้นมีเทคโนโลยีอะไรเข้ามาเกี่ยวข้องบ้าง อัตราความเสี่ยง และผลตอบแทนที่จะได้รับ กับความเป็นจริง มีความเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน เพราะสตาร์ตอัปต่างๆ ไม่เคยมีใครทำมาก่อน และหากการเข้ามาของเทคโนโลยีใหม่ จะไม่ส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจเดิม ที่จะไปสร้างผลตอบแทนจำนวนมหาศาล ซึ่งผลตอบแทนที่เกิดขึ้นได้นั้นจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อไปทำลาย (Disruption) ธุรกิจอื่นที่เคยทำอยู่แล้ว”

อย่างไรก็ดี การที่ ก.ล.ต. ออกกฎหมาย “พ.ร.ก. ควบคุมธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล” เพื่อที่ต้องการปกป้องให้กับคนที่จะเข้าไปลงทุนแต่ไม่มีความรู้ และอาจถูกหลอกลวงได้ง่าย จากการอ้างผลตอบแทนมูลค่าสูง แต่สาระสำคัญของ พ.ร.ก. ฉบับนี้ เป็นไปเพื่อปกป้องและป้องกันต่อผู้ที่จะมาประกอบธุรกิจไม่ใช่ลักษณะฉ้อโกง หรือหลอกลวง ไม่ใช่แชร์ลูกโซ่ ซึ่งจะต้องมีความชัดเจน มีรายละเอียดที่โปร่งใส ตรวจสอบได้ และให้ผู้ที่สนใจเข้าลงทุนได้เรียนรู้และเข้าใจในทุกมิติ ไม่ได้หมายความว่าจะลดความเสี่ยงว่า ธุรกิจนี้อาจจะไม่ล้มละลาย หรือหลอกลวงด้วยการเชิดเงินหนี

ทั้งนี้ จากสถิติคนที่ทำธุรกรรมลักษณะนี้ โดยเฉพาะการออก ICO พบว่า 95% ได้รับความเสียหาย ซึ่งมีแค่สัดส่วนเพียง 5% เท่านั้นที่อยู่รอด แต่อาจจะแค่ 5 โปรเจกต์นี้ สามารถทำผลตอบแทนได้หลาย 100% เพราะฉะนั้น ถ้าใครจะเข้าไปลงทุนตรงนี้อาจจะต้องทำใจยอมรับความเสี่ยงที่จะเสียหายจากการลงทุนได้สูง

“เราไม่รู้ว่า อนาคต ตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลมันจะ take over กระบวนการในการออกเสนอขายหลักทรัพย์แบบโบราณหรือเปล่า หรือต่อไปนี้ตลาดหลักทรัพย์จะไม่มีหรือเปล่า อนาคตเงินบาทจะไม่มีหรือเปล่า ไม่มีใครตอบได้ เพราะเราอยู่ในจุดตัดของทางแยก ไม่รู้ว่าเดินข้ามสี่แยกไปแล้วจะกลายเป็นถนนเส้นใหญ่ หรือถนนลูกรัง ไม่มีใครตอบได้” นายรพี กล่าว

ทั้งนี้ ในแง่ของการกำกับดูแลสำหรับคนที่จะเข้ามามากขึ้น คนจะเชื่อได้ว่า คนที่ทำธุรกิจนี้ไม่ใช่แชร์ลูกโซ่ และถ้ามีใครทำผิดเกี่ยวกับมาตรฐานในเรื่องต่างๆ กฎหมายฉบับนี้มีความสามารถที่จะไปกำกับดูแลเพื่อเอาโทษได้ นั่นคือวัตถุประสงค์ของตัวกฎหมายฉบับนี้


กำลังโหลดความคิดเห็น