xs
xsm
sm
md
lg

กม.คุมเงินดิจิทัลมีผล ขายโดยไม่ได้รับอนุญาตคุก 2ปี ปรับ 5 แสน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

บังคับใช้แล้วกม.ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิตอล คุม"ไอซีโอ" กำหนดความหมาย "คริปโทเคอร์เรนซี" เป็นหน่วยข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ใช้แลกเปลี่ยนสินค้า และบริการ มีผลย้อนหลังคุมผู้ประกอบการต้องยื่นจดทะเบียนภายใน 90 วัน พร้อมกำหนดโทษพวก18 มงกุฏ เสนอขายโทเคนดิจิตอลโดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่น้อยกว่า 5 แสน ส่วนก.ล.ต. ต้องกำกับดูแลใกล้ชิด หากพบสัญญาณความเสียหายในวงกว้างต้องแจ้งรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาโดยเร็ว

วานนี้ (13พ.ค.) เว็บไซต์ ราชกิจจานุเบกษาได้ เผยแพร่ พระราชกำหนดการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ.2561 โดยมีสาระสำคัญ คือ ได้กำหนดความหมายของคำว่า "คริปโทเคอร์เรนซี" หมายความว่า หน่วยข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งถูกสร้างขึ้นบนระบบหรือเครือข่ายอิเล็กทรอนิกส์ โดยมีความประสงค์ที่จะใช้เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยน เพื่อให้ได้มาซึ่งสินค้าบริการ หรือสิทธิอื่นใด หรือแลกเปลี่ยนระหว่างสินทรัพย์ดิจิทัล และให้หมายความรวมถึง หน่วยข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์อื่นใด ตามที่คณะกรรมการ ก.ล.ต. ประกาศกำหนด

ส่วนคำว่า "โทเคนดิจิทัล" หมายความว่า หน่วยข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งถูกสร้างขึ้นบนระบบหรือเครือข่ายอิเล็กทรอนิกส์ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อ (1) กำหนดสิทธิของบุคคลในการเข้าร่วมลงทุนในโครงการหรือกิจการใด ๆ (2) กำหนดสิทธิในการได้มาซึ่งสินค้าหรือบริการหรือสิทธิอื่นใดที่เฉพาะเจาะจง ทั้งนี้ ตามที่กำหนดในข้อตกลงระหว่างผู้ออกและผู้ถือ และให้หมายความรวมถึงหน่วยแสดงสิทธิอื่นตามที่คณะกรรมการ ก.ล.ต.
ประกาศกำหนด

ทั้งนี้ กฎหมายฉบับนี้จะมีอยู่ด้วยกัน 100 มาตรา โดยในมาตรา 100 ยังได้ระบุว่า ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล ที่ได้ประกอบธุรกิจอยู่ในวันก่อนวันที่พ.ร.ก.นี้ใช้บังคับ และเป็นธุรกิจที่ต้องขออนุญาตตามพ.ร.ก.นี้ หากจะดำเนินกิจการต่อไป ให้ยื่นคำขออนุญาตตามที่บัญญัติไว้ในพ.ร.ก.นี้ ภายใน 90 วัน นับแต่วันที่พ.ร.ก.นี้มีผลใช้บังคับ และเมื่อได้ยื่นคำขออนุญาตแล้ว ให้ดำเนินกิจการต่อไปได้จนกว่าจะมีคำสั่งไม่อนุญาต

นอกจากนี้ยังมีเนื้อหาน่าสนใจใน มาตรา 57 ที่ระบุว่า ผู้เสนอขายโทเคนดิจิทัล ที่ไม่ได้รับอนุญาต หรือไม่กระทำผ่านผู้ให้บริการเสนอขายโทเคนดิจิทัลที่ได้รับการเห็นชอบจาก ก.ล.ต. ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับเป็นเงินไม่เกิน 2 เท่าของราคาขายของโทเคนดิจิทัลทั้งหมดซึ่งผู้นั้นได้เสนอขาย แต่ทั้งนี้เงินค่าปรับต้องไม่น้อยกว่า 5 แสนบาท
และเพื่อประโยชน์ในการกำกับ และควบคุมการออก และเสนอขายโทเคนดิจิทัล และการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล ให้คณะกรรมการก.ล.ต. มีหน้าที่และอำนาจวางนโยบายเกี่ยวกับการส่งเสริมและพัฒนา ตลอดจนกำกับและควบคุมสินทรัพย์ดิจิทัลและผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล ตามที่บัญญัติไว้ในพ.ร.ก.นี้

ในกรณีที่มีการดำเนินการใด ๆ เกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัล อันอาจก่อให้เกิดผลกระทบ หรือความเสียหายอย่างรุนแรงต่อประโยชน์ของประชาชนในวงกว้าง ให้คณะกรรมการ ก.ล.ต. รายงานข้อเท็จจริงและประเมินผลกระทบหรือความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น พร้อมทั้งวิเคราะห์ปัญหาและเสนอแนวทางการดำเนินการต่อรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาโดยเร็ว

สำหรับเหตุผลของการออก กม.ดังกล่าว เนื่องจากในปัจจุบันได้มีการนําคริปโทเคอร์เรนซี และโทเคนดิจิทัล มาใช้เป็นเครื่องมือในการระดมทุนผ่านการเสนอขายโทเคนดิจิทัล ต่อประชาชน เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยน รวมถึงนํามาซื้อขายหรือแลกเปลี่ยนในศูนย์ซื้อขายคริปโทเคอร์เรนซี และโทเคนดิจิทัลแต่ยังไม่มีกฎหมายที่กํากับหรือควบคุมการดําเนินการดังกล่าวในประเทศไทย ซึ่งทําให้มีการประกอบธุรกิจหรือการดําเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่อาจส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพทางการเงิน ระบบเศรษฐกิจของประเทศและเกิดผลกระทบต่อประชาชนในวงกว้าง

ดังนั้น เพื่อกําหนดให้มีการกํากับและควบคุมการประกอบธุรกิจและการดําเนินกิจกรรมเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัล และเพื่อรองรับการนําเทคโนโลยีมาทําให้เกิดการพัฒนาทางเศรษฐกิจ และสังคมอย่างยั่งยืน อันจะเป็นการสนับสนุน และอํานวยความสะดวกให้ผู้ประกอบธุรกิจที่มีศักยภาพมีเครื่องมือในการระดมทุนที่หลากหลาย รวมทั้งประชาชนและผู้ที่เกี่ยวข้องมีข้อมูลที่ชัดเจนเพียงพอเพื่อใช้ในการตัดสินใจ เกิดความโปร่งใสในการดําเนินการ และป้องกันมิให้มีการนําสินทรัพย์ดิจิทัล ที่ไม่มีแหล่งที่มาที่ชัดเจนไปใช้ประโยชน์หรือกระทําการใดในลักษณะที่เป็นการหลอกลวงประชาชน หรือที่เกี่ยวข้องกับการประกอบอาชญากรรม และโดยที่เป็นกรณีฉุกเฉินที่มีความจําเป็นรีบด่วนอันมิอาจจะหลีกเลี่ยงได้เพื่อประโยชน์ในอันที่จะรักษาความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ จึงจําเป็นต้องตราพ.ร.ก.นี้


คลอดแล้ว กม.คุมบิตคอยน์ เก็บอัตราภาษี 15%
คลอดแล้ว กม.คุมบิตคอยน์ เก็บอัตราภาษี 15%
เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่พระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. 2561 และจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 14 พ.ค. นี้ ซึ่งกฎหมายดังกล่าวมีทั้งสิ้น 100 มาตรา โดยเหตุผลที่ประกาศใช้ดังกล่าวระบุว่า ปัจจุบันได้มีการนำคริปโตเคอเรนซี และโทเคนดิจิทัล มาใช้เป็นเครื่องมือในการระดมทุนผ่านการเสนอขายโทเคนดิจิทัลต่อประชาชน เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยน รวมถึงนำมาซื้อขายหรือแลกเปลี่ยนในศูนย์ซื้อขายคริปโตเคอเรนซี และโทเคนดิจิทัล แต่ยังไม่มีกฎหมายที่กำกับ หรือควบคุมการดำเนินการดังกล่าวในประเทศไทย ซึ่งทำให้มีการประกอบธุรกิจ หรือการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ที่อาจส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพทางการเงิน ระบบเศรษฐกิจของประเทศ และเกิดผลกระทบต่อประชาชนในวงกว้าง
กำลังโหลดความคิดเห็น