เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่พระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. 2561 และจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 14 พ.ค. นี้ ซึ่งกฎหมายดังกล่าวมีทั้งสิ้น 100 มาตรา โดยเหตุผลที่ประกาศใช้ดังกล่าวระบุว่า ปัจจุบันได้มีการนำคริปโตเคอเรนซี และโทเคนดิจิทัล มาใช้เป็นเครื่องมือในการระดมทุนผ่านการเสนอขายโทเคนดิจิทัลต่อประชาชน เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยน รวมถึงนำมาซื้อขายหรือแลกเปลี่ยนในศูนย์ซื้อขายคริปโตเคอเรนซี และโทเคนดิจิทัล แต่ยังไม่มีกฎหมายที่กำกับ หรือควบคุมการดำเนินการดังกล่าวในประเทศไทย ซึ่งทำให้มีการประกอบธุรกิจ หรือการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ที่อาจส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพทางการเงิน ระบบเศรษฐกิจของประเทศ และเกิดผลกระทบต่อประชาชนในวงกว้าง
ดังนั้น เพื่อกำหนดให้มีการกำกับและควบคุมการประกอบธุรกิจและการดำเนินกิจกรรมเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัล และเพื่อรองรับการนำเทคโนโลยีมาทำให้เกิดการพัฒนาทางเศรษฐกิจ และสังคมอย่างยั่งยืน อันจะเป็นการสนับสนุน และอำนวยความสะดวกให้ผู้ประกอบธุรกิจที่มีศักยภาพมีเครื่องมือในการระดมทุนที่หลากหลาย รวมทั้งประชาชน และผู้ที่เกี่ยวข้อง มีข้อมูลที่ชัดเจนเพียงพอเพื่อใช้ในการตัดสินใจ เกิดความโปร่งใสในการดำเนินการ และป้องกันมิให้มีการนำสินทรัพย์ดิจิทัลที่ไม่มีแหล่งที่มาที่ชัดเจนไปใช้ประโยชน์ หรือกระทำการใดในลักษณะที่เป็นการหลอกลวงประชาชน หรือที่เกี่ยวข้องกับการประกอบอาชญากรรม โดยที่เป็นกรณีฉุกเฉินที่มีความจำเป็นรีบด่วนอันมิอาจจะหลีกเลี่ยงได้ เพื่อประโยชน์ในอันที่จะรักษาความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ จึงจำเป็นต้องตราพระราชกำหนดนี้
ทั้งนี้ ในบทเฉพาะกาล มาตรา 100 ได้กำหนดให้ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลที่ได้ประกอบธุรกิจอยู่ในวันก่อนวันที่พระราชกำหนดนี้ใช้บังคับและเป็นธุรกิจที่ต้องขออนุญาตตามพระราชกำหนดนี้ หากจะดำเนินกิจการต่อไป ให้ยื่นคำขออนุญาตตามที่บัญญัติไว้ในพระราชกำหนดนี้ ภายใน 90 วันนับแต่วันที่พระราชกำหนดนี้มีผลใช้บังคับ และเมื่อได้ยื่นคำขออนุญาตแล้ว ให้ดำเนินกิจการต่อไปได้จนกว่าจะมีคำสั่งไม่อนุญาต
ขณะเดียวกัน ยังมีการประกาศ พ.ร.ก. แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 19) พ.ศ. 2561 ซึ่งเป็นกฎหมายที่เกี่ยวเนื่องกัน โดยเฉพาะในเรื่องภาษีเกี่ยวกับเงินได้พึงประเมินที่ได้จากการถือหรือครอบครองโทเคนดิจิทัล หรือการโอนคริปโตเคอเรนซี หรือโทเคนดิจิทัล ซึ่งมีเพียง 4 มาตราเท่านั้น โดยได้กำหนดให้เก็บในอัตราภาษี 15%