xs
xsm
sm
md
lg

“วิษณุ” เร่งออก พ.ร.ก.คุมเงินดิจิทัล กัน ปชช.ถูกหลอก รับ ตปท.เตือนระวังบิตคอยน์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี (แฟ้มภาพ)
รองนายกฯ ระบุรัฐบาลเร่งออก พ.ร.ก.คุมเงินดิจิทัล ป้องกันประชาชนถูกหลอกทุ่มเงินจริงไปลงทุน เผยต่างชาติเตือนไทยระวัง “บิตคอยน์” เอื้อเงินสะพัดใช้ทุจริตช่วงเลือกตั้ง

วันนี้ (24 พ.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เวลา 09.30 น. ที่โรงแรมเซนทาราแกรนด์ เซ็นทรัลเวิลด์ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานเปิดการสัมมนาและปาฐกถาพิเศษ Symposium Thailand 4.0 “Fintech & Cryptocurrency vs. Law Enforcement” จัดโดยคณะนิติศาสตร์ มูลนิธินิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และกองทุนศาสตราจารย์ สัญญา ธรรมศักดิ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยนายวิษณุกล่าวตอนหนึ่งว่า เรื่องคริปโตเคอร์เรนซี ฟินเทค และสินทรัพย์ดิจิทัลเป็นเรื่องใหม่ ตอนที่พิจารณากฎหมายตรงนี้ คณะรัฐมนตรี (ครม.) ต้องใช้เวลาศึกษาทำความเข้าใจมากพอสมควร ทั้งนี้ ลักษณะของคริปโตเคอร์เรนซี หรือสินทรัพย์ดิจิทัลไม่มีลักษณะทางกายภาพ แต่มีสิ่งที่อาจทำให้เกิดโจรกรรม การทุจริต หรือการหลอกลวงให้คนเอาเงินจริงมาลงเหมือนกรณีแชร์แม่ชม้อย นอกจากนี้ รัฐบาลได้รับรายงานจากต่างประเทศแจ้งเตือนว่าต้องระมัดระวัง มิฉะนั้นประเทศไทยจะเป็นสวรรค์แห่งการฟอกเงิน อาจมีเรื่องของการก่อการร้ายข้ามชาติเข้ามาเกี่ยวข้อง อาจมีผู้นำเงินจากการทำผิดกฎหมายเข้าลงทุนผ่านบิตคอยน์เพื่อฟอกเงิน และเขาทราบว่าประเทศไทยกำลังจะมีการเลือกตั้ง จึงเตือนมาด้วยว่าขอให้ไทยระวังว่าอาจมีการใช้เงินอย่างสะพัดในการซื้อสิทธิขายเสียง ทุจริตการเลือกตั้งด้วยการลงทุนบิตคอยน์ได้เช่นกัน ดังนั้น รัฐบาลอยู่นิ่งไม่ได้ ต้องรีบหาทางป้องกัน จึงมอบหมายให้กระทรวงยุติธรรมไปศึกษาซึ่งได้ไปหารือร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และกระทรวงการคลังที่ได้ศึกษาเรื่องนี้เตรียมไว้ก่อนแล้ว ขณะที่เรื่องของโมเดลมาตรการกรควบคุมดังกล่าว ได้มอบหมายให้กระทรวงการต่างประเทศ และกระทรวงพาณิชย์ไปศึกษาและส่งข้อมูลเข้ามา จนในที่สุดนำไปสู่การจัดทำเป็นกฎหมาย โดยให้คณะกรรมการกฤษฎีกาเป็นผู้ยกร่าง เดิมคิดว่าจะทำเป็นพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) แต่ต้องใช้เวลานาน 1 ปี ทั้งนี้ ได้มีผู้เสนอให้ใช้อำนาจตามมาตรา 44 แห่งรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 ซึ่งตนคัดค้าน เพราะเห็นว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ เป็นเรื่องใหม่ ถ้าใช้มาตรา 44 แม้จะทำได้เร็วไป แต่ถ้าพลาดจะเกิดความเสียหาย และอาจขาดความเชื่อมโยงกับรัฐสภา ดังนั้นได้เลือกใช้การทำเป็นพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ที่เป็นช่องทางที่เป็นวิธีที่ไม่เร็วและไม่ช้าจนเกินไป ใช้ได้ตามระบอบประชาธิปไตย โดยเมื่อครม.มีมติเห็นชอบร่าง พ.ร.ก.แล้ว สามารถนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายเพื่อทรงลงพระปรมาภิไธย โดยไม่ต้องส่งให้สภาพิจารณาให้ความเห็นชอบก่อน แต่เมื่อเริ่มประกาศใช้แล้ว ต้องส่งไปให้ สนช.เห็นชอบรับรอง ถ้า สนช.ไม่เห็นชอบ กฎหมายนั้นก็จะคงตกไป แต่ตอนนี้ สนช.รับรองแล้ว แต่มีให้ข้อสังเกต และหลังจาก พ.ร.ก.ดังกล่าวออกมาใช้แล้ว ก.ล.ต.จะออกกฎหมายลูกตามมา

นายวิษณุกล่าวอีกว่า รัฐบาลมองว่าคริปโตเคอร์เรนซี ฟินเทค และสินทรัพย์ดิจิทัลมีทั้งประโยชน์และโทษ ซึ่งประโยชน์คือมีส่วนช่วยผู้ประกอบการธุรกิจใหม่ (สตาร์ทอัพ) และธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ถ้าใช้อย่างระมัดระวัง รัฐบาลมีกลไกดูแล แต่ไม่คัดค้านการเล่นคริปโตเคอร์เรนซีและสินทรัพย์ดิจิทัล เพียงแต่ขอให้ผู้เล่นรู้ทันกัน อย่างไรก็ตาม เมื่อถึงจุดหนึ่งกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับเรื่องดังกล่าวทั้ง พ.ร.ก.การประกอบธุรกิจทรัพย์สินดิจิทัล และพ.ร.ก.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 19) พ.ศ. 2561 เพื่อการจัดเก็บภาษีรายได้และเงินปันผลที่เกิดจากการลงทุนเงินสกุลดิจิทัล ต้องได้รับการแก้ไขเพื่อให้ทันสถานการณ์ และไม่เป็นอุปสรรคกับเทคโนโลยีชนิดนีี้ซึ่งไม่มีทางที่ใครจะสกัดหรือห้ามปราม แต่ต้องมีการควบคุมและมีบทลงโทษผู้กระทำผิด อีกทั้งจะต้องนำกฎหมายเหล่านี้จัดทำเป็น พ.ร.บ.เพื่อให้ได้กฎหมายเหล่านี้มีความสมบูรณ์มากขึ้น สำหรับสิ่งที่รัฐบาลทำได้ตอนนี้คือให้ความรู้กับเจ้าหน้าที่ก่อน โดยกรมบังคับคดีเตรียมการจัดอบรมเรื่องการเข้ายึดบิตคอยน์ ขณะที่ ธปท.และ ก.ล.ต.ขับเคลื่อนการเตรียมการแล้ว ซึ่งตนไม่แน่ใจว่าทางตำรวจเตรียมพร้อมแล้วหรือไม่ เราต้องทำให้การบังคับใช้กฎหมายดังกล่าวมีความสมบูรณ์

จากนั้นนายวิษณุให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่ระบุว่าต่างประเทศแจ้งเตือนทางการไทยให้ระวังเรื่องการใช้เงินดิจิทัลเพื่อการฟอกเงินว่า เขาเตือนมาเป็นภาพรวม เช่น การฟอกเงินเรื่องการก่อการร้าย การฟอกเงินเพื่อการค้ามนุษย์ การซื้อขายยาเสพติด และการฟอกเงินเพื่อใช้ในทางการเมือง ขณะนี้รัฐบาลยังไม่ถึงเวลาเข้าไปตรวจสอบในเชิงลึก สำหรับกฎหมายที่รัฐบาลเพิ่งออกมาจะทำให้คนที่คิดจะกระโดดลงไปลงทุนสินทรัพย์ดิจิทัลเกิดความตื่นตัวเพราะมีกฎหมายเข้าไปควบคุม และสามารถตรวจสอบได้ว่าบริษัทนั้นได้ซื้อขายถูกจดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ ซึ่งรัฐจะเป็นผู้ควบคุม และเกิดการเรียนรู้มากกว่าที่จะไปไล่จับเรื่องพวกนี้ที่ไม่ใช่เรื่องง่าย

เมื่อถามว่าธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับเงินดิจิทัล อย่างเช่นการทำเหมืองขุดเงินดิจิทัลจะต้องควบคุมด้วยหรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า จะต้องติดตามดูกันต่อไป ถ้ากฎหมายไม่พอ เราก็ต้องออกกฎหมายเพิ่ม เมื่อถามต่อว่าแต่การจดทะเบียนธุรกิจกลุ่มธุรกิจเงินดิจิทัลยังจดทะเบียนด้วยกฎหมายเดิมอยู่ รองนายกฯ กล่าววว่า เรื่องนี้อาจไม่จำเป็นต้องออกฎหมายเพิ่ม แต่อาจจะใช้กฎหมายปกติ เช่น ออกประกาศหรือกฎกระทรวงของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็พอ


กำลังโหลดความคิดเห็น