ภาคเอกชนยื่นหนังสือถึง “พรเพชร” ค้าน พ.ร.บ.ภาษีที่ดิน อ้างกระทบลงทุน บั่นทอนอำนาจซื้อ เสนอให้มีตัวแทนจากเอกชนเข้าไปร่วมพิจารณากฎหมาย
วันนี้ (24 พ.ค.) นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้รับมอบหนังสือจากตัวแทนสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย ที่ยื่นข้อเสนอและความคิดเห็นต่อร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ที่อยู่ในระหว่างการพิจารณาของ สนช. โดยมีเนื้อหาดังนี้
1. ร่าง พ.ร.บ.ยังขาดความชัดเจนและปัญหาในการตีความ เมื่อนำไปปฏิบัติในแต่ละพื้นที่ ในแต่ละสาขาธุรกิจอาจมีลักษณะไม่เหมือนกัน ก่อให้เกิดการใช้ดุลพินิจของพนักงานเจ้าหน้าที่ในการบังคับใช้กฎหมาย 2. หลักการจัดเก็บภาษีที่ดีจะต้องมีความเหมาะสมและเป็นที่ยอมรับจากภาคประชาชนและภาคธุรกิจ ตลอดจนสามารถนำปฏิบัติได้โดยไม่เป็นภาระต่อผู้ถูกจัดเก็บมากเกินไป และการจัดเก็บภาษีที่ส่งผลกระทบต่อประชาชนทุกกลุ่มทั่วประเทศ ควรเปิดโอกาสให้ประชาชนที่เกี่ยวข้องได้แสดงความคิดเห็นตามหลักในรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 มาตรา 77 ดังนั้น การกำหนดอัตราภาษีควรมีความชัดเจนและแน่นอน โดยกำหนดเป็นอัตราคงที่อัตราเดียว
3. การกำหนดอัตราภาษีเป็นเพดานสูงโดยภาครัฐจะประกาศใช้อัตราเรียกเก็บจริงในอนาคตนั้นจะส่งผลเสียต่อการลงทุน เนื่องจากทำให้ไม่เกิดความไม่แน่นอนและไม่สามารถวางแผนลงทุนได้ 4. การเก็บภาษีในครั้งนี้ ในระยะสั้นเป็นการเพิ่มภาระทางตรงให้แก่ผู้เสียภาษี โดยส่งผลต่อผู้เสียภาษีทั้งประชาชนผู้อยู่อาศัย และผู้ครอบครองที่ดิน ตลอดจนธุรกิจเอสเอ็มอี และธุรกิจขนาดใหญ่ โดยคาดว่าประชาชนจะมีภาระภาษีจ่ายทั้งประเทศอยู่ในวงเงินรวม 50,000-100,000 ล้านบาทต่อปี เป็นการบั่นทอนอำนาจซื้อของภาคประชาชนและธุรกิจ และทำให้ภาคเอกชนขาดความมั่นใจต่อการลงทุนในอนาคต
ด้วยเหตุผลดังกล่าวทำให้เศรษฐกิจขยายตัวลดลงจากเดิม 0.3%-0.7% ต่อปี นอกจากนี้ แนวทางในการปฏิบัติเกี่ยวกับการจัดเก็บภาษีในแต่ละพื้นที่ยังไม่มีความชัดเจน ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อการบริโภคและการลงทุนทำให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวต่ำกว่าที่ควรจะเป็น
5. เพื่อให้ร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวเป็นกฎหมายที่ดีและสามารถบังคับใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และส่งเสริมการมีส่วนร่วมรับฟังความคิดเห็นของผู้ที่เกี่ยวข้องอย่างรอบด้าน ขอเสนอให้แต่งตั้งคณะทำงานโดยมีผู้แทนจากภาคเอกชน
ด้านนายพรเพชรกล่าวว่า สนช.จะรับข้อเสนอดังกล่าวเพื่อนำไปให้คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวดำเนินการพิจารณาต่อไป