แบงก์กรุงเทพ จับมือ “คาลเท็กซ์” เปิด 2 บัตรใหม่ ตอบโจทย์ลูกค้าธุรกิจ บริหารต้นทุนน้ำมัน ยืดกระแสเงินสดช่วยเพิ่มสภาพคล่อง เพิ่มประสิทธิภาพธุรกิจตั้งเป้า 1% ยอดขายน้ำมัน ส่วนภาพรวมบัตรเครดิตธนาคารกรุงเทพ ไตรมาสแรกมียอดใช้จ่ายเติบโต 14% มั่นใจโตตามเป้า 15% ยอดบัตรใหม่ 5 แสนใบ เน้น GEN Y
นายโชค ณ ระนอง ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ (BBL) เปิดเผยว่า ธนาคารได้จับมือกับบริษัท เชฟรอน (ไทย) จำกัด ผู้ให้บริการน้ำมันคุณภาพระดับโลกภายใต้แบรนด์ “คาลเท็กซ์” พัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ “บัตรธนาคารกรุงเทพ-คาลเท็กซ์ ฟลีทการ์ด” (BBL-Caltex Fleet Card) บัตรเครดิตสำหรับองค์กรที่จะช่วยให้สามารถแสดงรายงานค่าใช้จ่ายน้ำมันได้ทั้งแบบรายวัน และรายเดือน พร้อมมีระบบออกใบกำกับภาษีเต็มรูปแบบ
ทั้งนี้ องค์กรธุรกิจที่ใช้บัตรฟลีทการ์ดยังสามารถกำหนดค่าใช้จ่ายต่อครั้ง ต่อวัน และต่อเดือน เป็นจำนวนบาท หรือลิตร และมีระบบบันทึกเลขระยะทาง เพื่อคำนวณอัตราการสิ้นเปลืองน้ำมัน รวมถึงระบุรายละเอียดบนหน้าบัตรเป็นชื่อบริษัท, ทะเบียนรถ, ยี่ห้อรถ, ผลิตภัณฑ์ที่บริษัทอนุญาตให้ใช้ และยังกำหนดให้ใช้บัตรเฉพาะสถานีน้ำมันที่ต้องการเท่านั้น โดยมีรอบการชำระเงินได้นานสูงสุดถึง 55 วัน และยังมียืดหยุ่นสามารถเลือกรอบการตัดยอดการใช้น้ำมันที่เหมาะสมกับระบบบัญชีได้ จึงช่วยให้ธุรกิจสามารถควบคุมและบริหารต้นทุนได้เป็นอย่างดี รวมถึงช่วยให้กิจการมีกระแสเงินสดที่ยาวขึ้น มีสภาพคล่องที่ดีขึ้นดีด้วย
นอกจากนี้ ธนาคารยังได้ออก “บัตรธนาคารกรุงเทพ-คาลเท็กซ์ แคชการ์ด” (BBL-Caltex Cash Card) บัตรพรีเพด เพื่อใช้เติมน้ำมันและซื้อผลิตภัณฑ์น้ำมันหล่อลื่นภายในสถานีน้ำมันคาลเท็กซ์ ทั่วประเทศ ซึ่งนอกจากมีความสะดวกแล้วยังช่วยควบคุมการใช้จ่ายในแต่ละเดือนได้ตามต้องการ หรือหน่วยงาน และองค์กรธุรกิจสามารถใช้เป็นของสมมนาคุณให้แก่ลูกค้าได้ โดยสามารถระบุชื่อบริษัทบนบัตรได้
ทั้งนี้ ธนาคารได้ตั้งเป้าหมายจากความร่วมมือในครั้งนี้ จะมียอดใช้จ่ายผ่านบัตรดังกล่าวประมาณ 1% ของยอดขายน้ำมันของคาลเท็กซ์ 80,000-100,000 ล้านบาทต่อปี
นายณรงค์ฤทธิ์ ชัยยะราษฎร์ ผู้จัดการ แผนกธุรกิจจัดหา, ผลิตภัณฑ์ ประเทศไทยและกัมพูชา บริษัท เชฟรอน (ไทย) จำกัด กล่าวว่า ความร่วมมือกับธนาคารกรุงเทพ ในครั้งนี้ถือเป็นความร่วมมือครั้งสำคัญในการเติมเต็มธุรกิจทั้งสองฝ่าย ทั้งในด้านของผู้ประกอบการ และตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคในปัจจุบันได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ “Smart Value for All” ซึ่งจากการสำรวจพฤติกรรมของลูกค้าปัจจุบันมีการชำระค่าน้ำมันด้วยเงินสด และบัตรเครดิต ในอัตรา 50:50
สำหรับความคืบหน้าในการให้บริการรับชำระเงินค่าน้ำมันเชื้อเพลิงด้วยคิวอาร์โค้ดผ่านเครื่อง EDC นั้น บริษัทมีความพร้อมด้านระบบอยู่แล้ว และสามารถให้บริการได้ทันทีภายหลังจากที่ภาครัฐได้ปรับแก้กฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการใช้โทรศัพท์มือถือ ณ จุดให้บริการน้ำมัน
นายโชค กล่าวอีกว่า ในส่วนของบัตรเครดิตธนาคารกรุงเทพนั้น ในช่วงไตรมาสแรก ยังเติบโตได้โดยยอดใช้จ่ายผ่านบัตรเติบโตในอัตรา 14% สอดคล้องกับเป้าหมายทั้งปีที่ตั้งไว้ 15% ขณะที่ยอดบัตรใหม่ตั้งเป้าหมายทั้งปีที่ 500,000 ใบ จากยอดบัตรรวมที่ 2.2 ล้านใบ ซึ่งเกณฑ์ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) นั้น ที่จำกัดวงเงินสำหรับผู้ถือบัตรเครดิตที่มีรายได้ต่อเดือนไม่ต่ำกว่า 15,000 บาท ไม่เกิน 1.5 เท่าของรายได้ รายได้ไม่ต่ำกว่า 30,000 บาท ไม่เกิน 3 เท่าของรายได้ และรายได้ 50,000 บาทขึ้นไป วงเงิน 5 เท่าของรายได้นั้น ไม่กระทบกับธนาคาร เนื่องจากจากฐานลูกค้าของธนาคารกว่า 50% มีรายได้สูงกว่า 30,000 บาท
นอกจากนี้ ธนาคารก็มีแนวทางที่จะรุกลูกค้าในกลุ่ม young generation หรือ Gen Y ที่มีอายุระหว่าง 23-28 ปีมากขึ้น โดยการเพิ่มสิทธิประโยชน์ต่างๆ ให้ตรงกับความต้องการของกลุ่มนี้มากขึ้นทั้งด้านการเติมน้ำมัน, ภัตตาคาร, ร้านอาหาร และโรงพยาบาล-สุขภาพ-ความงาม เนื่องจากกลุ่มดังกล่าวเป็นกลุ่มที่ใหญ่ตลาดยังกว้าง และยังมีความต้องการในการใช้จ่าย แม้เป็นกลุ่มที่ ธปท. มีความเป็นห่วงในการก่อหนี้อยู่ แต่เชื่อว่าจากการให้ความรู้ด้านวินัยทางการเงินที่ผ่านมา ทำให้คนกลุ่มนี้มีความระมัดระวังมากขึ้น ขณะที่ธนาคารเองก็มีการบริหารความเสี่ยงเป็นอย่างดีอยู่แล้ว โดยปัจจุบันมีสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ที่ระดับ 1.5% ซึ่งถือว่าต่ำกว่าระบบ
“ลูกค้ากลุ่ม GEN Y ถือเป็นกลุ่มใหม่ที่ธนาคารพยายามเข้าถึงให้มากขึ้นมาระยะหนึ่งแล้ว โดยปัจจุบันยังมีอยู่ไม่มากในพอร์ตประมาณ 15-18% จากส่วนใหญ่ที่เป็นกลุ่มรายได้ปานกลาง ซึ่งก็ต้องพยายามหาสิทธิประโยชน์ให้ตอบโจทย์กลุ่มนี้มากขึ้น โดยคาดหวังว่าจากจำนวนบัตรใหม่ในปีนี้ 500,000 ใบ ครึ่งหนึ่งจะเป็นกลุ่ม GEN Y”