กสิกรไทย ชี้แนวโน้มเงินบาทในระยะสั้นยังอ่อนค่าหลังต่างชาติยังขายบอนด์ระยะสั้น และเป็นฤดูกาลจ่ายปันผล แต่ยังคงประมาณการเดิมที่ 32.00 และจะทบทวนอีกครั้งในเดือน มิ.ย. ด้านปัจจัยที่ต้องติดตามเป็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟด-นโยบายอีซีบี และภัยธรรมชาติหลังปริมาณน้ำ 2 เขื่อนหลักสูงกว่า 7 ปีก่อน
นายกอบสิทธิ์ ศิลปชัย ผู้บริหารงานวิจัยเศรษฐกิจและตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) กล่าวว่า ธนาคารประเมินแนวโน้มค่าเงินบาทในระยะสั้นยังคงอ่อนค่าจากปัจจัยหลักที่เป็นช่วงฤดูกาลจ่ายเงินปันผลของบริษัทจดทะเบียนให้กับผู้ถือหุ้นต่างชาติ ซึ่งน่าจะยังค้างอยู่ประมาณ 32,000 ล้านบาทในปีนี้ จากยอดรวมประมาณ 86,000 ล้านบาท แต่ยังคงประมาณการค่าเงินบาท ณ สิ้นปีที่ระดับ 32.00 บาทโดยปัจจัยหลักที่ทำให้เงินบาทอ่อนค่ายากเนื่องจากไทยยังมีการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลในระดับสูง โดยในปีนี้คาดว่าจะมียอดเกินดุลฯ 37,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และนักลงทุนต่างชาติยังขายพันธบัตรระยะสั้นอยู่ โดยหลังเดือนมิถุนายน จึงจะมีการทบทวนตัวเลขอีกครั้งหนึ่ง
ทั้งนี้ ปัจจัยที่ต้องติดตามในระยะต่อไป เป็นกรณีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟด ซึ่งยังคงมีการคาดการณ์ทั้ง 3 รอบ และ 4 รอบในปีนี้ ขณะที่ธนาคารยังคงคาดการณ์ไว้ที่ 3 รอบหลังจากการปรับขึ้นในเดือนมีนาคมที่ผ่านมาแล้ว ก็จะเป็นเดือนมิถุนายน และในไตรมาส 4 รวมถึงการดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) ในส่วนของการลดขนาดทรัพย์สิน (QE)
ด้านปัจจัยในประเทศสำหรับประชุม กนง. ในวันนี้ แม้คณะกรรมการจะยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ในระดับเดิม แต่อีกจุดหนึ่งที่ต้องติดตาม คือ การลงมติจะยังคงมีหนึ่งเสียงที่ยืนการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยหรือไม่ เนื่องจากถือเป็นสัญญาณที่เปลี่ยนแปลงทิศทางอัตราดอกเบี้ยของไทยที่จากเดิมคาดการณ์ว่ามีโอกาสปรับลงเป็นมีแนวโน้มปรับขึ้น แต่หากมติคณะกรรมการฯ ครั้งนี้เป็นเอกฉันท์ก็จะต้องที่เหตุผลที่ทำให้ปัจจัยบ่งชี้เดิมเปลี่ยนไป ซึ่งความไม่แน่นอนในทิศทางดอกเบี้ยดังกล่าวก็อาจจะส่งผลให้เงินบาทอ่อนค่าได้ ขณะที่การคาดการณ์โดยรวม กนง. น่าจะยังคงอัตราดอกเบี้ยในระดับนี้จนถึงสิ้นปี เนื่องจากยังไม่มีความจำเป็นที่จะต้องปรับขึ้น เนื่องจากสภาพคล่องในระบบยังมีเพียงพอ
“ก่อนหน้านี้ที่ กนง. มีมติเอกฉันท์คงดอกเบี้ยนั้นทำให้มีการคาดการณ์แนวโน้มดอกเบี้ยมีโอกาสลงได้เพราะจีดีพีเรายังโตไม่สูงนักเมื่อเทียบกับภูมิภาค และเงินเฟ้อที่ต่ำ แต่เมื่อการประชุมครั้งก่อนมีเสียงแตกหนึ่งเสียงเป็นขึ้นทำให้สัญญาณเปลี่ยนมาเป็นคงดอกเบี้ย-แนวโน้มขึ้น และหากคราวนี้เปลี่ยนสัญญาณก็ต้องดูถึงสาเหตุด้วย เพื่อไม่ให้กระทบกับความเชื่อมั่น”
นอกจากนี้ ปัจจัยภายในประเทศยังต้องคำนึงถึงความเสี่ยงจากภัยธรรมชาติ โดยจากข้อมูลของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) หรือ EGAT ระบุปริมาณน้ำใน 2 เขื่อนหลัก ได้แก่ เขื่อนภูมิพล และเขื่อนสิริกิติ์ อยู่ในระดับที่สูงเมื่อช่วงเดียวกันของ 7 ปี หรือปี 2554 ที่มีเหตุอุทกภัย โดยเขื่อนภูมิพล สูงกว่า 20% และเขื่อนสิริกิติ์ สูงกว่า 10% ซึ่งหากการบริหารจัดการน้ำมีปัญหา และเกิดเหตุซ้ำ ก็จะกระทบต่อการท่องเที่ยว และการลงทุนของต่างชาติได้