“อมรเทพ” ชี้ ราคาน้ำมันขึ้น-บาทอ่อน อาจกระทบเศรษฐกิจครึ่งปีหลัง แนะเร่งจ้างงานในชนบทกระตุ้นกำลังซื้อรากฐาน
นายอมรเทพ จาวะลา ผู้อำนวยการอาวุโส สำนักวิจัย ธนาคารซีไอเอ็มบีไทย จำกัด (มหาชน) หรือ CIMBT เปิดเผยในงานสัมมนา “เจาะวิกฤต จับโอกาส มองขาดการลงทุนครึ่งปีหลัง” โดยระบุว่า เศรษฐกิจไทยในครึ่งปีแรกขยายตัวร้อยละ 3.7 และคาดในครึ่งปีหลังจะขยายตัวได้ร้อยละ 3.8-4 คาดอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจปีนี้โตร้อยละ 3.7โดยคาดหวังในครึ่งปีหลังการส่งออก และการท่องเที่ยวจะเป็นตัวขับเคลื่อนหลักต่อเนื่อง และหวังผลดีจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจะกระจายไปให้ถึงทุกภาคของประเทศหนุนกำลังซื้อฐานรากให้ฟื้นกลับคืนมา เพราะขณะนี้กำลังซื้อเกษตรกรยังไม่ฟื้นตัว แม้ราคาพืชผลเกษตรอยู่ในราคาที่สูง แต่ผลผลิตน้อยทำให้รายได้ภาคเกษตรติดลบ โดยคาดหวังให้ทางรัฐมีมาตรการกระตุ้น เช่น การจ้างงานในท้องถิ่นที่ไม่ใช่การอุดหนุนราคา เพื่อให้เศรษฐกิจฐานล่างขับเคลื่อนไปได้
“นอกจากนี้ คาดหวังครึ่งปีหลังการลงทุนจะมีมากขึ้น หากการเลือกตั้งมีความชัดเจนในปีหน้า และเป็นไปตามโรดแมป ความเชื่อมั่นของต่างชาติจะกลับมา แต่ยังต้องจับตาการเมืองว่า หลังการเลือกตั้งแล้ว จะมีความคลุมเคลือในการจัดตั้งรัฐบาลหรือไม่” นายอมรเทพ กล่าว
ทางด้านความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจไทย คือ ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ที่ขยับขึ้นเหนือ 85 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล เนื่องจากสหรัฐฯ คว่ำบาตรอิหร่าน แต่คาดว่าปรับขึ้นระยะสั้น อาจกระทบให้ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลลดลง กดดันต่อการส่งออกของไทย อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าเป็นการขึ้นชั่วคราว โดยปีนี้ยังเชื่อว่าราคาน้ำมันจะอยู่ในระดับต่ำกว่า 70 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
ปัจจัยเสี่ยงจากเงินบาทที่อ่อนค่า มาจากเงินทุนไหลออก เพราะดอลลาร์สหรัฐฯ แข็งค่า ประกอบกับ ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลน้อยลง โดยการอ่อนค่ายังไม่รุนแรงก็เชื่อว่าในไตรมาส 2/61 จะอยู่ที่ 32.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ และไตรมาส 3/61 จะอยู่ที่ 31.50-32.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ และจะกลับมาแข็ง เนื่องจากเศรษฐกิจไทยดี และเงินจะไหลกลับมาส่งผลให้ในไตรมาส 4/61 เงินบาทจะอ่อนค่า เพราะธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด)จะขึ้นดอกเบี้ยส่งผลให้เงินบาทสิ้นปีนี้อยู่ที่ 32.00 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ
สำหรับการเลือกตั้งในมาเลเซียไม่น่ามีผลต่อไทย โดยไทยไม่ควรมองมาเลเซียเป็นคู่แข่ง ควรใช้ประโยชน์ และมองเป็นยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจร่วมกัน
“แม้การเมืองในมาเลเซีย จะมีการเปลี่ยนขั้ว แต่โดยนโยบายการลงทุนเศรษฐกิจยังเดินหน้าต่อ เราต้องติดตามการที่มาเลเซีย เลิกเก็บภาษีการบริโภค จะกระทบฐานะการคลัง รวมทั้งการทบทวนความสัมพันธ์ระหว่างมาเลเซีย กับจีน” นายอมรเทพ กล่าว