ซีไอเอ็มบีไทย ประกาศผลกำไรไตรมาสแรกกำไร 168.9 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 47.7% จากการเพิ่มขึ้นของรายได้ดำเนินงาน-ลดการกันสำรอง ด้านเกียรตินาคินภัทรกำไร 1,531 ล้านบาท ลดลงเล็กน้อย 0.7%
นายกิตติพันธ์ อนุตรโสตถิ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ผลการดำเนินงานของกลุ่มธนาคาร สำหรับงวดสามเดือนสิ้นสุดวันที่ 31 มีนาคม 2561 มีกำไรสุทธิ จำนวน 168.9 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 47.7 ล้านบาท หรือร้อยละ 39.3 เมื่อเปรียบเทียบผลกำไรสุทธิของงวดเดียวกันปี 2560 สาเหตุหลักเกิดจากการเพิ่มขึ้นของรายได้จากการดำเนินงานร้อยละ 8.1และการลดลงของสำรองหนี้สงสัยจะสูญร้อยละ 4.5 สุทธิกับการเพิ่มขึ้นของค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานร้อยละ 10.6
ทั้งนี้ เมื่อเปรียบเทียบผลการดำเนินงานงวดสามเดือนปี 2561 และ 2560 รายได้จากการดำเนินงานเพิ่มขึ้นจากปี 2560 จำนวน 252.3 ล้านบาท หรือร้อยละ 8.1 เป็นจำนวน 3,382.2 ล้านบาท เนื่องจากการเพิ่มขึ้นของรายได้ดอกเบี้ยสุทธิจำนวน 132.9 ล้านบาท หรือร้อยละ 5.4 และรายได้ค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิจำนวน 47.3 ล้านบาท หรือร้อยละ 11.1 ซึ่งส่วนใหญ่มาจากการเพิ่มขึ้นของรายได้ค่าธรรมเนียมจากการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ประกันภัย ธุรกรรมเช่าซื้อ และค่าธรรมเนียมจากการจัดจำหน่ายหน่วยลงทุน รายได้อื่นเพิ่มขึ้น 72.1 ล้านบาท หรือร้อยละ 30.1 เนื่องมาจากกำไรจากการจำหน่ายหลักทรัพย์เผื่อขาย
ด้านค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานสำหรับงวดสามเดือนปี 2561 เปรียบเทียบกับงวดเดียวกันปี 2560 เพิ่มขึ้นจำนวน 186.0 ล้านบาท หรือร้อยละ 10.6 สาเหตุส่วนใหญ่มาจากการเพิ่มขึ้นของค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับทรัพย์สินรอการขาย และค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับพนักงาน สุทธิกับการลดลงของค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับอาคารสถานที่และอุปกรณ์ เป็นผลให้อัตราส่วนค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน ต่อรายได้จากการดำเนินงานงวดสามเดือนปี 2561 อยู่ที่ร้อยละ 57.2 เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปี 2560 อยู่ที่ ร้อยละ 55.8
อัตราส่วนรายได้ดอกเบี้ยสุทธิต่อสินทรัพย์เฉลี่ย (Net Interest Margin - NIM) สำหรับงวดสามเดือนปี 2561 อยู่ที่ร้อยละ 3.98 เพิ่มขึ้นจากงวดเดียวกันปี 2560อยู่ที่ร้อยละ 3.77 เป็นผลจากการบริหารต้นทุนที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น
วันที่ 31 มีนาคม 2561 เงินให้สินเชื่อสุทธิจากรายได้รอตัดบัญชี (รวมเงินให้สินเชื่อซึ่งค้ำประกันโดยธนาคารอื่น และเงินให้สินเชื่อแก่สถาบันการเงิน) ของกลุ่มธนาคาร อยู่ที่ 213.7 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.3 เมื่อเทียบกับเงินให้สินเชื่อ ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2560 กลุ่มธนาคาร มีเงินฝาก (รวมตั๋วแลกเงิน หุ้นกู้ และผลิตภัณฑ์ทางการเงินบางประเภท) จำนวน 219.4 พันล้านบาท ลดลงร้อยละ 0.3 จากสิ้นปี 2560 ซึ่งมีจำนวน 220.1 พันล้านบาท อัตราส่วนสินเชื่อต่อเงินฝาก (the Modified Loan to Deposit Ratio) ของกลุ่มธนาคารเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 97.4 จากร้อยละ 96.8 ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2560
สินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPLs) อยู่ที่ 11.4 พันล้านบาท อัตราส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ต่อเงินให้สินเชื่อทั้งสิ้น (NPL ratio) อยู่ที่ร้อยละ 5.2 เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับ ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2560 อยู่ที่ร้อยละ 4.8 เป็นผลจากการขายสินเชื่อด้อยคุณภาพในปี 2560 อย่างไรก็ตาม ธนาคารซีไอเอ็มบีไทย ยังคงมาตรฐานการอนุมัติสินเชื่อ และนโยบายการบริหารความเสี่ยงที่รัดกุมขึ้น ตลอดจนได้มีแนวทางเพิ่มประสิทธิภาพการติดตามหนี้ การดำเนินการดูแลและการแก้ไขลูกหนี้ที่ถูกผลกระทบดังกล่าวอย่างใกล้ชิด
อัตราส่วนค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญต่อเงินให้สินเชื่อด้อยคุณภาพ ณ วันที่ 31 มีนาคม 2561 อยู่ที่ร้อยละ 92.3 ลดลงจากสิ้นปี 2560 ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 93.2 ณ วันที่ 31 มีนาคม 2561 เงินสำรองของกลุ่มธนาคารอยู่ที่จำนวน 10.4 พันล้านบาท ซึ่งเป็นสำรองส่วนเกินตามเกณฑ์ธนาคารแห่งประเทศไทย จำนวน 4.0 พันล้านบาท และเงินกองทุนรวมของกลุ่มธนาคาร ณ สิ้นวันที่ 31 มีนาคม 2561 มีจำนวน 40.7 พันล้านบาท คิดเป็นอัตราส่วนเงินกองทุนรวมต่อสินทรัพย์เสี่ยงร้อยละ 16.4 โดยเป็นอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 ร้อยละ 12.4
เกียรตินาคินภัทร กำไรลด 0.7%
กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร (KKP) ประกาศผลการดำเนินงานไตรมาส 1 ปี 2561 ธนาคารและบริษัทย่อยมีกำไรสุทธิ ไม่รวมส่วนของผู้ถือหุ้นส่วนน้อยเท่ากับ 1,513 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 16.0 เมื่อเปรียบเทียบกับกำไรสุทธิในไตรมาส 4/2560 หากเปรียบเทียบกับไตรมาส 1/2560 กำไรสุทธิลดลงเล็กน้อยที่ร้อยละ 0.7 ทางด้านรายได้ดอกเบี้ยอยู่ที่ 3,790 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.5 จากไตรมาส 1/2560 โดยหลักมาจากการเพิ่มขึ้นของรายได้ดอกเบี้ยของเงินให้สินเชื่อที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 22.3 ตามปริมาณการเพิ่มขึ้นของสินเชื่อ สินทรัพย์รวม ณ วันที่ 31 มีนาคม 2561 มีจำนวน 273,819 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.6 จากสิ้นปี 2560
ณ วันที่ 31 มีนาคม 2561 ธนาคารมีอัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS Ratio) คำนวณตามเกณฑ์ Basel III ซึ่งรวมกำไรถึงสิ้นปี 2559 อยู่ที่ร้อยละ 15.96 โดยเงินกองทุนชั้นที่ 1 เท่ากับร้อยละ 12.87 แต่หากรวมกำไรถึงสิ้นไตรมาส 1/2561 อัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงจะเท่ากับร้อยละ 18.05 และเงินกองทุนชั้นที่ 1 เท่ากับร้อยละ 14.96
ในไตรมาส 1/2561 สินเชื่อของธนาคารมีการขยายตัวที่ร้อยละ 5.7 เมื่อเทียบกับสิ้นปี 2560 โดยสินเชื่อมีการขยายตัวในเกือบทุกประเภท รวมถึงสินเชื่อเช่าซื้อที่เริ่มมีการขยายตัวที่ร้อยละ 0.7 หลังจากที่มีการหดตัวต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2557 เป็นต้นมา ในด้านคุณภาพของสินเชื่อ อัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพต่อสินเชื่อรวม ณ สิ้นไตรมาส 1/2561 อยู่ที่ร้อยละ 4.7 ลดลงเมื่อเทียบกับร้อยละ 5.0 ณ สิ้นปี 2560 ทางด้านธุรกิจบริหารหนี้ธนาคารขายทรัพย์รอการขายได้ในไตรมาส 1/2561 จำนวน 317 ล้านบาท และมีกำไรจากการขายทรัพยร์อการขาย 160 ล้านบาท ส่วนหนี้สินรวม (เงินฝาก และอื่น ๆ) มีจำนวน 230,790 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.0 จากสิ้นปี 2560
ในด้านผลิตภัณฑ์และบริการ ในไตรมาส 1/2561 ธนาคารได้ออกผลิตภัณฑ์ทางการเงิน สินเชื่อ KK SME คูณสาม ซึ่งเป็นสินเชื่อสำหรับเอสเอ็มอีใช้อสังหาริมทรัพย์เป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันโดยให้วงเงินสูงสุด3 เท่าของหลักประกันวงเงิน สูงสุด 15 ล้านบาท ในส่วนของการให้บริการ ธนาคารได้มีการพัฒนานวัตกรรมการบริการภายใต้การให้บริการ KK Magic Mirror ซึ่งเป็นการใหบ้ ริการที่ปรึกษาทางการเงินผ่านจอ LED แบบ interactive เพื่อเป็นการเพิ่มรูปแบบและช่องทางการ ให้บริการสำหรับผู้ที่สนใจด้านการวางแผนการเงินและการลงทุน
ในด้านคุณภาพของสินเชื่อมีปริมาณสินเชื่อด้อยคุณภาพ (NPL) ของธนาคาร และบริษทัย่อย จำนวน 9,673 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 4.7 ของสินเชื่อรวม โดยเป็นอัตราส่วนที่ลดลงจาก ณ สิ้นปี 2560 ที่ร้อยละ 5.0 โดยปริมาณสินเชื่อด้อยคุณภาพในส่วนของสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ และสินเชื่อธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ยังมีการปรับตัวลดลงจากสิ้นปี 2560