xs
xsm
sm
md
lg

“วิชัย ทองแตง” กับภารกิจปลุก EFORL

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“จนอาจกล่าวได้ว่า หากบริษัทใดมีชื่อของ “วิชัย ทองแตง” โผล่เข้าให้ความสนใจหรือเข้ามาลงทุนในหุ้นของบริษัท ย่อมได้รับความสนใจจากนักลงทุนรายย่อยอยู่จำนวนมาก แม้ท้ายสุด การการันตีถือหุ้นยาวอาจไม่เกิดขึ้นจริงก็ตาม”

การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่เกิดขึ้นอีกครั้งกับ บริษัท อี ฟอร์ แอล เอม จำกัด (มหาชน) (EFORL) เพราะเมื่อเร็วๆ นี้ บริษัทพึ่งได้ผู้ถือหุ้นใหญ่คนใหม่เข้ามากุมอำนาจ นั่นคือ “วิชัย ทองแตง” ผู้ตอบรับการเข้าซื้อหุ้นเพิ่มทุนของบริษัท 7.3 พันล้านหุ้น ราคาหุ้นละ 0.04 บาท คิดเป็นมูลค่าประมาณ 292 ล้านบาท ทำให้ได้สัดส่วนถือครองหุ้นใหญ่อันดับ 1 ของบริษัท 22.68% งานนี้ถือว่า EFORL ประสบความสำเร็จในการระดมทุน หลังเอื่อยเฉื่อยมานาน

เหตุการณ์เหล่านี้ เกิดขึ้นเมื่อคณะกรรมการบริษัท (บอร์ด) ไฟเขียวเพิ่มทุนจดทะเบียนเป็น 2.8 พันล้านบาท จาก 1.59 พันล้านบาท โดยออกหุ้นเพิ่มทุน 1.61 หมื่นล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้ (พาร์) หุ้นละ 0.075 บาท เสนอขายให้กับบุคคลเฉพาะเจาะจง (PP) จำนวน 5 ราย ได้แก่ นายวิชัย ทองแตง, นายชาคริต ศึกษากิจ, นายเกรียงไกร เธียรนุกูล, นายชวลิต เศรษฐเมธีกุล และนายเกรียงไกร ฏิระวณิชย์กุล ที่ราคาหุ้นละ 0.04 บาทต่อหุ้น คิดเป็นมูลค่ารวม 644.33 ล้านบาท

จำนวนหุ้น PP ถูกแบ่งออกเป็นจัดสรรให้ นายวิชัย ทองแตง 7.3 พันล้านหุ้น, นายชาคริต ศึกษากิจ 4 พันล้านหุ้น, นายเกรียงไกร เธียรนุกูล 2.4 พันล้านหุ้น, นายชวลิต เศรษฐเมธีกุล 1.6 พันล้านหุ้น และนายเกรียงไกร ฏิระวณิชย์กุล 800 ล้านหุ้น ตามข้อกล่าวอ้างในการเรียกระดมทุน คือ เพื่อสร้างประสิทธิภาพและประสิทธิผลในธุรกิจเดิม และธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจเดิมของบริษัทเป็นหลัก นั่นคือ ธุรกิจเครื่องมือแพทย์ และธุรกิจที่เกี่ยวกับความงาม

ส่งผลให้สัดส่วนโครงสร้างผู้ถือหุ้น EFORL ต่อจากนี้จะเปลี่ยนเป็นนายวิชัย ทองแตง เข้ามาถือหุ้นใหญ่ในสัดส่วน 22.68%, นายชาคริต ศึกษากิจ ถือหุ้นในสัดส่วน 12.42%, นายเกรียงไกร เธียรนุกูล ถือหุ้นในสัดส่วน 7.45%, นายชวลิต เศรษฐเมธีกุล ถือหุ้นในสัดส่วน 4.97%, นายศุภชัย วัฒนาสุวิสุทธิ์ เหลือถือหุ้น 3.65% จากเดิม 7.30%, นายโกศล วรฤทธินภา เหลือถือหุ้น 3.21% จากเดิม 6.41%, นายเกรียงไกร ฏิระวณิชย์กุล ถือหุ้นในสัดส่วน 2.48% ฯลฯ

นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ EFORL เกิดการเปลี่ยนแปลง เพราะที่ผ่านมาบริษัทแห่งนี้เคยเกิดการเปลี่ยนแปลงมาแล้วทั้งโครงสร้างธุรกิจ ผู้บริหาร และผู้ถือหุ้น มาก่อนหน้านี้แล้ว เริ่มตั้งแต่การเข้าตลาดหุ้นในรูปแบบ Backdoor Listing ด้วย การยึด บมจ. แอปโซลูท อิมแพค (AIM) ซึ่งประกอบธุรกิจให้บริการและผลิตสื่อโฆษณา เปลี่ยนมาเป็น EFORL

ต่อมา ในช่วงปลายปี 2557 EFORL ได้สร้างดีลช็อกวงการด้วยการจัดตั้งบริษัทย่อยชื่อ “บริษัท ดับบลิวซีไอ โฮลดิ้ง จำกัด” (WCIH) ใช้เข้าถือหุ้นบริษัท วุฒิศักดิ์ คลินิก อินเตอร์ กรุ๊ป จำกัด (WCIG) ด้วยเหตุผลเพื่อขยายช่องทางธุรกิจและเพิ่มแหล่งรายได้ พร้อมกับให้บริษัทดังกล่าวปล้อยกู้ให้วุฒิศักดิ์ฯ จำนวน 1 พันล้านบาท เพื่อไปจ่ายชำระคืนหนี้เงินกู้ยืมทั้งหมด รวมเป็นมูลค่าประมาณ 4.5 พันล้านบาท

และหากพิจารณาถึงตัวละคร และสถานการณ์ของบริษัทในช่วงก่อนหน้า ไม่น่าแปลกใจที่ “วิชัย ทองแตง” จะเข้ามาเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่คนใหม่ในครั้งนี้ เริ่มจากช่วงก่อนหน้าที่จะมีการขายหุ้นเพิ่มทุน สัดส่วนการถือครองของผู้ถือหุ้นใหญ่ EFORL ถือว่ามีความเปราะบางมาก เพราะผู้ถือหุ้นอันดับ 1 อย่าง “ศุภชัย วัฒนาสุวิสุทธิ์” ถือหุ้นอยู่เพียง 7.30% ส่วนผู้ถือหุ้นอัน 2 “โกศล วรฤทธินภา” ถือหุ้นอยู่เพียง 6.41% ขณะที่การถือหุ้นของผู้ถือหุ้นรายย่อย (Free float) มีสัดส่วนถึง 83.71% ถือว่าง่ายต่อการเข้ายึดครอง

แต่เมื่อบวกกับสายสัมพันธ์ของผู้บริหาร EFORL อย่างประธานเจ้าหน้าที่บริหาร “ธีรวุทธิ์ ปางวิรุฬห์รักข์” กับ “วิชัย ทองแตง” ที่เคยอยู่ในโครงข่ายเดียวกันของเจ้าพ่อร้านแก๊ส การติดต่อเจรจา หรือทาบทามเข้ามาร่วมสร้างความฮือฮาให้แก่วงการตลาดหุ้นไม่ใช่เรื่องยากลำบากนัก หากอีกฝ่ายเห็นถึงโอกาสสร้างผลประโยชน์จากการลงทุนของดีลในครั้งนี้ เพราะอย่างไรเสีย ย่อมจะมีนักลงทุนที่พร้อมจะเทเงินเข้าซื้อหุ้น EFORL เมื่อมีข่าวว่า “วิชัย ทองแตง” ได้เข้ามาร่วมลงทุนในบริษัท

ชื่อเสียงของ “วิชัย” ในวงการตลาดหุ้น จัดให้เป็นนักลงทุนตัวยงที่เข้ามากอบโกยผลตอบแทนที่หว่านไว้จากการเข้าถือหุ้นบริษัทต่างๆ และขายออกทำกำไรมานานเป็นทศวรรษ จนมีทรัพย์สินที่ได้รับการจัดอันดับจากนิตยสาร “ฟอร์บส์” สูงถึง 1. 7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา

เหตุการณ์ที่โดดเด่น อาทิ การเข้าไปเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ใน บริษัท ประสิทธิ์พัฒนา จำกัด (มหาชน) (PYT) ผู้บริหาร รพ.พญาไท อันเป็นสมบัติล้ำค่าของตระกูล อุไรรัตน์ ที่เสียท่าผู้จัดทำแผนฟื้นฟูกิจการ และปรับโครงสร้างทางการเงินในขณะนั้น ก่อนท้ายที่สุดจะนำ รพ.พญาไท มาส่งไม้ต่อให้ “ปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ” เจ้าของอาณาจักรบริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน) หรือ “BDMS” หรือกลุ่ม รพ.กรุงเทพ

หรือเหตุการณ์เข้ามาถือหุ้นและบริหารเพื่อผลักดันให้บริษัท วินด์ เอนเนอร์ยี่ โฮลดิ้ง จำกัด (WEH) ผู้ประกอบการธุรกิจพลังงานลมรายใหญ่ สามารถเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้ แต่ด้วยอุปสรรคปัญหาที่ยังไม่สามารถแก้ไขได้หลายประการ ทำให้แผนเข้าระดมยังต้องเรือนรางต่อไป

รวมถึงการก่อตั้งอาณาจักรบริษัท ซีทีเอช จำกัด (มหชน) ผู้ประกอบธุรกิจทีวีดาวเทียม ที่ฮือฮาอยู่ช่วงเวลาหนึ่งจนถึงขั้นสามารถดึงอาณาจักรแกรมมี่ของ “อากู๋” “ไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม” เข้ามาร่วมเป็นพาร์ตเนอร์สำคัญของธุรกิจ แต่สุดท้ายไม่ประสบความสำเร็จต้องเลิกกิจการไปด้วยตัวเลขขาดทุนกว่าหมื่นล้านบาท นอกจากนี้ ยังมีอีกหลายบริษัทที่ราคาหุ้นเคยปรับตัวอย่างหวือหวาเมื่อมีนามของเขาเป็นไปเป็นผู้ร่วมลงทุน หรือถือหุ้น อาทิ BLISS, TWZ, SGF, RPC และ GRAND เป็นต้น

จนอาจกล่าวได้ว่า หากบริษัทใดมีชื่อของ “วิชัย ทองแตง” โผล่เข้าให้ความสนใจ หรือเข้ามาลงทุนในหุ้นของบริษัท ย่อมได้รับความสนใจจากนักลงทุนรายย่อยอยู่จำนวนมาก แม้ท้ายสุด การการันตีถือหุ้นยาวอาจไม่เกิดขึ้นจริงก็ตาม

แต่สำหรับ EFORL ยิ่งแล้วไปกันใหญ่ หากพิจารณาจากผลประกอบการของบริษัทจะพบว่า ตัวเลขที่ควรโดดเด่นหลายๆ ตัว นับวันมีแต่ลดลงต่อเนื่อง สะท้อนการเข้าซื้อ “วุฒิศักดิ์ คลีนิก” ด้วยมูลค่ามหาศาลยังไม่สามารถตอบโจทย์ของกู้บริษัทได้ อาทิ สินทรัพย์รวมจากปี 2557 ที่ระดับ 7.36 พันล้านบาท แต่ปี 2560 เหลืออยู่ 3.88 พันล้านบาท แม้รายได้รวมในปีล่าสุด ทำได้ถึง 2.5 พันล้านบาท แต่กลับขาดทุนสุทธิสูงถึง 1.16 พันล้านบาท เป็นการขาดทุน 2 ปีติดต่อกันจากปี 2559 ที่ขาดทุนสุทธิ 614 ล้านบาท ขณะที่ปี 2557 บริษัทเคยทำกำไรได้ 240 ล้านบาท

นั่นย่อมทำให้ ROA และ ROE ของบริษัทลดลงอย่างหนักมาอยู่ที่ -41.42% และ -212.60% ในปี 2560 จาก 7.45% และ 29.42%ในปี 2545 มีเพียงยอดหนี้สินรวมที่ลดลงอย่างต่อเนื่องจาก 5.41 พันล้านบาทในปี 2557 เหลืออยู่ที่ 3.98 พันล้านบาทในปี 2560

ที่ผ่านมา EFORL ถูกมองว่าเป็นหุ้นเล็กที่คิดการณ์ใหญ่เกินตัว เพราะการเข้าซื้อกิจการ วุฒิศักดิ์ คลินิก ที่มีขนาดใหญ่กว่าโดยระดมทุนผ่านทางเลือกสูตรผสมที่ใช้เงินสดบางส่วน ร่วมกับกู้เงินยืมจากธนาคารทำให้มีพันธะสูงลิ่ว ข้อดีในช่วงแรกคือหลังดีลจบ คือ รายได้ของ EFORL พุ่งชัดเจน จากรายได้สิ้นปี 2556 ที่ 170 ล้านบาท กระโดดมาเป็น 1.49 พันล้านบาท ณ สิ้นปี 2557 เช่นเดียวกับกำไรสุทธิกระโดดจาก 26 ล้านบาทมาเป็น 240 ล้านบาท แต่ทุกอย่างกลับเริ่มถดถอยลงตั้งแต่ปี 2558 กลายมาเป็นขาดทุนสุทธิ เพราะปัญหาการแบกภาระหนี้จากการกู้ยืมมาซื้อกิจการ จนกลายเป็นหุ้นที่ทำให้นักลงทุนติดดอย มองไม่เห็นโอกาสในการฟื้นตัว

นอกจากนี้ EFORL ยังมีประเด็นที่ต้องชี้แจงต่อสาธารณชน คือ กรณีการขายทรัพย์สิน หรือขายสาขาของวุฒิศักดิ์ คลินิก ประมาณ 250 ล้านบาท ให้บริษัทลูกของ บริษัท ฟิลเตอร์ วิชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ FVC ซึ่งตลาดหลักทรัพย์ฯ สั่งให้ชี้แจงถึงการทำธุรกรรมอยู่ เพราะเป็นการขายทรัพย์สินที่มีปมความไม่โปร่งใส ไม่เป็นไปตามกฎเกณฑ์

ทำให้น่าสนใจว่า เมื่อ EFORL ได้ “วิชัย ทองแตง” เข้ามาเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ และมีอำนาจในการบริหารธุรกิจแล้ว จะใช้กลยุทธ์ใดมาพลิกฟื้น EFORL ให้กับมาโดดเด่น นอกเหนือจากราคาหุ้นที่หวือหวาอยู่ในช่วงนี้ได้หรือไม่? เพราะที่ผ่านมา หากเป็นการเข้ามาลงทุนในบริษัทที่ดำเนินกิจการอยู่ก่อนหน้าแล้ว หลายฝ่ายเชื่อว่า “วิชัย” สามารถทำกำไรจากธุรกิจดังกล่าวได้แน่ แต่ในทางกลับกันหากเป็นธุรกิจที่ถูกก่อตั้งมาตั้งแต่เริ่มต้นนั้น “วิชัย” ยังไม่สามารถพบความสำเร็จที่จับต้องได้เลย

ขณะเดียวกัน ตอนนี้เริ่มมีมุมมองต่อดีลการเข้าซื้อหุ้นเพิ่มทุน PP ของ “วิชัย” ว่า การเปลี่ยนถ่ายการถือครองหุ้น EFORL น่าจะไม่จบเพียงเท่านี้ หมายถึงอาจจะเกิดการซื้อขาย หรือการเข้ามาของผู้เพิ่มทุนรายใหม่ในอนาคต เมื่อกลุ่มของ “วิชัย” ถูกปลดล็อกเงื่อนไขที่ห้ามขายหุ้น EFORL ออกมาในระยะเวลา 1 ปีจากนี้

ดังนั้น เมื่อบริษัทมีปัญหาแถมยังได้ผู้ถือหุ้นใหญ่ที่ขึ้นชื่อเรื่องการเข้า-ออกลงทุนที่รวดเร็วมาอยู่ร่วมกัน ทำให้การดำเนินธุรกิจของ EFROL ต่อจากนี้ชวนให้น่าติดตามยิ่งนัก ว่าจะดิ่งลงในทิศทางเดียวกับปีที่ผ่านมา หรือจะฟื้นตัวกลับมาเติบโตอีกครั้ง โดยมีชื่อ “วิชัย ทองแตง” ช่วยการันตีไว้ได้หรือไม่?



กำลังโหลดความคิดเห็น