สหรัฐฯ มีหนี้สาธารณะทะลุ 20 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ในวันที่ 8 ก.ย. และขยับขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 20.7 ล้านล้านดอลลาร์ ในวันที่ 13 ก.พ. ขณะที่ล่าสุด ในช่วงกลางเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา หนี้สหรัฐฯ แตะมูลค่า 21 ล้านล้านดอลลาร์เป็นครั้งแรก นับได้ว่าใช้เวลามากกว่า 6 เดือนแค่เล็กน้อยเท่านั้นที่หนี้ของสหรัฐฯ เติบโตขึ้นอีก 1 ล้านล้านดอลลาร์ ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ของประเทศ การเพิ่มขึ้นของหนี้อีก 1 ล้านล้านดอลลาร์อย่างรวดเร็วภายในเวลาไม่ถึงปีนั้นไม่ใช่ว่าจะไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน
ปรากฏการณ์นี้เคยเกิดขึ้นแล้วในปี 2009 ระหว่างสภาวะเศรษฐกิจถดถอยอย่างรุนแรง (Great Recession) และอีกครั้งในปี 2010 ซึ่งวิกฤตดังกล่าวได้เริ่มต้นตั้งแต่เดือน ธ.ค.ปี 2007 นำโดยการล่มสลายของตลาดที่อยู่อาศัยในสหรัฐฯ ส่งผลให้เกิดการชะลอตัวทางเศรษฐกิจในช่วงการบริหารของประธานาธิบดี Bush และ Obama และเป็นเหตุให้ยอดขาดดุลงบประมาณขยายตัวขึ้นอย่างมาก จากการที่รัฐบาลต้องดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจขนานใหญ่ ทำให้ในปีงบการเงิน 2009-2012 หนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นเกินกว่า 1 ล้านล้านดอลลาร์
คาดการณ์กันว่า หนี้สหรัฐฯ จะปรับตัวสูงขึ้นกว่านี้อย่างแน่นอนจากการที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ลงนามในข้อตกลงระงับเพดานหนี้ (suspends the debt limit) ในเดือน ก.พ. ซึ่งจะทำให้รัฐบาลสหรัฐฯ สามารถใช้จ่ายเงินจำนวนมากได้เท่าที่ต้องการโดยไม่มีเพดานจำกัดจนกระทั่งถึงวันที่ 1 มีนาคม 2019 ขณะที่นักเศรษฐศาสตร์คาดว่า การขาดดุลงบประมาณที่เพิ่มขึ้นเป็นผลมาจากการปรับลดภาษีซึ่งทรัมป์ ได้ลงนามในเดือนธันวาคม
ในอนาคต นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า สหรัฐฯ จะมีหนี้มากขึ้นโดยคณะกรรมการดูแลงบประมาณของรัฐบาลกลาง (Committee for a Responsible Federal Budget) คาดว่า หนี้สหรัฐฯ จะเกินขนาดของ GDP ภายในอีก 10 ปีข้างหน้า จะเพิ่มขึ้นถึง 150% ของขนาด GDP ในปี 2047 จากปัจจุบันที่ระดับ 77% เมื่อถึงจุดหนึ่งปัจจัยนี้จะเป็นแรงกดดันที่รุนแรงต่อค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐอย่างแน่นอน
ที่มาข้อมูล : Marketwatch
วาย แอล จี บูลเลี่ยน อินเตอร์เนชั่นแนล