xs
xsm
sm
md
lg

สึนามิระลอกใหม่ของวงการแบงก์ ในสายตา “ธนา เธียรอัจฉริยะ”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ท่ามกลางสถานการณ์ความเปลี่ยนแปลงอย่างใหญ่หลวงในแวดวงการเงิน เพียงระยะเวลาไม่กี่ปีที่ผ่านมา พวกเราจึงได้ยินคำศัพท์และนวัตกรรมทางการเงินใหม่ ๆ เช่น ฟินเทค, พร้อมเพย์, โมบายแบงกิ้ง, คริปโตเคอเรนซี, บล็อกเชน, บิตคอยน์, โกลบอลแพลตฟอร์ม, ยูนิคอร์น, สมาร์ทเบต้า ฯลฯ

ในส่วนของ แวดวงการธนาคารไทยก็เกิดความเปลี่ยนแปลงและปั่นป่วนอย่างสูง จากเดิมทีการทยอยปิดสาขา-ปรับลดพนักงาน นั้นถือเป็นเรื่องที่กระทบความเชื่อมั่นต่อสถาบันการเงินอย่างรุนแรง แต่ในยุคปัจจุบันกลายเป็นว่า ผู้บริหารแบงก์ใด สถาบันการเงินไหน สามารถปิดสาขา และลดจำนวนคนได้รวดเร็วกว่ากันโดยไม่กระทบกับการปล่อยสินเชื่อและบริการต่าง ๆ ต้องถือว่าปรับตัวได้เร็ว พร้อมรับกับการเปลี่ยนแปลงได้ดีกว่า

ธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารแห่งแรกของประเทศไทย ที่ในปีนี้มีอายุอานามครบ 112 ปีแล้ว ถือว่าเป็นธนาคารหนึ่งที่เอาจริงเอาจัง และก่อให้เกิดพลวัตรอย่างสูงในการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญนี้ ภายใต้การกุมบังเหียนของ “อาทิตย์ นันทวิทยา” กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) และการขับเคลื่อนของ “ธนา เธียรอัจฉริยะ” นักการตลาดชั้นเซียนที่ผ่านประสบการณ์อย่างโชกโชนทั้งกับดีแทค, แม็คยีนส์, จีเอ็มเอ็ม แต่กลับบอกย้ำกับคนรู้จักอยู่เสมอว่า ตัวเองเป็น “มือใหม่” ในอุตสาหกรรมการเงิน และการธนาคาร

วันนี้ทีมข่าว MGR Online และผู้จัดการรายวัน มีโอกาสนั่งจับเข่าคุยกับ “พี่โจ้” ธนา เธียรอัจฉริยะ รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส Chief Marketing Officer ธนาคารไทยพาณิชย์ เพื่อถามถึงสภาพการณ์ ณ ปัจจุบัน และมุมมองต่ออนาคตของแบงก์ใบโพธิ์ และวงการการเงินการธนาคารไทยในภาพรวม

• Fintech เทคคอมปานี กับสึนามิระลอกใหม่

ธนา มองว่า ตอนนี้ธนาคารต่างก็ดิ้นพล่านกันอยู่ เพราะรู้ว่าโลกมันเปลี่ยนไปมาก ปัจจุบัน เรื่องเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทมาก เรื่องฟินเทค (Fintech; เทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับการเงิน) ทำให้คู่แข่งที่น่ากลัวจากนอกวงการเข้ามาสู่แวดวงการเงินการธนาคารได้ง่ายขึ้น

“เอาจริง ๆ คือ ทุกอุตสาหกรรมก็แช่งแบงก์หมด เพราะว่าอย่างแรกเลยคือ ธุรกิจธนาคารกับประกันเป็นธุรกิจที่กำไรดี เพราะฉะนั้น พวกบริษัทเทคโนโลยีทั้งหลายก็ประกาศตัวหมดว่าต้องเข้าสู่สองอุตสาหกรรมนี้ไม่ว่าทางใดก็ทางหนึ่ง เพราะเขาเห็นเงินอยู่ ทุกบริษัทพยายามเป็น ‘เทคคอมปานี (Tech Compamy)’ ก็มีซีอีโอของเทคคอมปานีอันนึงบอกว่า เมื่อทุกคนอยากเป็นเทคคอมปานี เพราะฉะนั้น เทคคอมปานีก็เป็นอะไรก็ได้สิ ดังนั้น เราจะเป็นว่า กูเกิล, เฟซบุ๊ก, แกร็บ, แพลตฟอร์มต่าง ๆ จึงพยายามที่จะเป็นอะไรก็ได้ และอะไรก็ได้อันต้น ๆ ก็คือ แบงก์, ไฟแนนซ์, ประกัน เพราะกำไรดีที่สุด พวกนี้คือแพลตฟอร์ม แพลตฟอร์มเขาเคลื่อนตัวเป็นอะไรก็ได้ เพราะเขามี Customer Engagement (การปฏิสัมพันธ์กับลูกค้า) อยู่เยอะ อันนี้เป็นอันที่หนึ่งที่ผมคิดว่า การที่เขาเป็นบริษัทเทคโนโลยี ต้นทุนต่ำ อย่างแบงก์สาขาเต็มไปหมดเลย แต่เราไม่เคยรู้ว่า กูเกิล, เฟซบุ๊ก, สาขามันอยู่ไหนนะ เพราะฉะนั้น ต้นทุนมันคนละเรื่องเลย

“อีกทางหนึ่งก็คือ ลูกค้าเปลี่ยนอย่างมหัศจรรย์มาก ตั้งแต่มีโซเชียลมีเดีย ตั้งแต่ช่วงสิบปีที่สตีฟ จ็อบส์ ชูไอโฟน ผมว่า เทียบกับแสนห้าหมื่นปีที่เรามีเผ่าพันธุ์มนุษย์มา ที่ผ่านมา เราทำเหมือนเดิมมาตลอด ออกไปล่าสัตว์ กลับมานั่งกองไฟกินข้าวกับครอบครัว ตอนนี้ทุกคนนั่งกินข้าวด้วยกันแต่ละคนดูจอกันคนละอัน ถามว่าเกิดอะไรขึ้น? เทคโนโลยีมันเข้ามาตรงช่องว่างพอดี ผมว่าสิ่งที่น่ากลัวไม่ใช่เทคโนโลยี แต่เป็น ‘ความต้องการของลูกค้า’ ที่เปลี่ยนอย่างมหัศจรรย์ โดยเปลี่ยนเป็นคำเดียวเลยคือ NOW ทุกอย่างต้อง ‘เดี๋ยวนี้’ ความอดทนความหวังของลูกค้าจะต้องได้อ ‘เดี๋ยวนี้’ และพอต้องการ ‘เดี๋ยวนี้’ นี่มันทำให้ทุกต้องเปลี่ยนเลย เพราะในอีกฝั่ง คือ ธุรกิจ ยังไงก็คือ ธุรกิจจะเปลี่ยนได้ช้ากว่าความต้องการของลูกค้า ยกตัวอย่างเช่น จากเดิมแอร์เสีย ช่างบอกลูกค้าว่าซ่อมได้ภายใน 8 ชั่วโมง ต่อมาเป็น 6 ชั่วโมง ก็ต้องทำงานหนักขึ้น ทำให้องค์กรกระชับขึ้น ต้องหาคนเก่งขึ้น เทียบกันดูเมื่อก่อน ถ้าแอร์เสีย 3 ทุ่ม สมัยพ่อผมได้ซ่อมใน 2-3 วัน รุ่นผมพรุ่งนี้ก็มาละช่าง แต่ตอนนี้ถ้าแอร์เสีย 3 ทุ่ม ต้องมาเดี๋ยวนี้นะ ไม่งั้นผมนอนไม่ได้ ถ้าไม่มา เดี๋ยวเรียกเจ้าใหม่

“ธุรกิจสื่อก็เป็นอีกธุรกิจที่โดนกระทบแรง เพราะเทคโนโลยีของมีเดียมันรองรับคนอยากรู้ผลบอลเดี๋ยวนี้ไม่ได้ เว็บไซต์เคยรองรับได้แป๊บนึง แล้วก็ไหลมาโซเชียลมีเดีย เพราะต้องการรู้เดี๋ยวนี้ เพราะฉะนั้น เทคโนโลยีอะไรที่รองรับอะไรที่เดี๋ยวนี้ไม่ได้ ก็โดนกระทบหมด กรณีของแบงก์มันก็มีช่องว่างตรงนี้เยอะ จะมาบ่นว่า ต้องใช้ต้นทุนสูงหรืออะไรไม่ได้ เพราะลูกค้าไม่แคร์ ...ธุรกิจดั้งเดิมน่ะไม่ได้ทำอะไรผิดนะ เราก็ขยันของเรามาเรื่อย แต่เป็นลูกค้าที่เปลี่ยนเยอะ กลายเป็นเราทั้งงก ทั้งช้า สุดท้าย คือ ห่วยละ บริการก็ไม่ทันใจ ค่าบริการก็แพง ลูกค้ารับไม่ได้ เพราะเขาต้องการอะไรที่ Better Faster Cheaper อันนี้เป็นช่องว่างใหญ่สุดในทุกอุตสาหกรรมที่โดนกระทบ ซึ่งแทบทุกอุตสาหกรรมก็โดนกระทบ ตั้งแต่เติมน้ำมันไปจนถึงโชห่วยที่ต้องแพ้เซเว่นอีเลฟเว่น ก็เพราะเขาต้องการอะไรก็ต้องได้เดี๋ยวนี้ ทีนี้พอมีช่องว่าง พวกสตาร์ทอัป มือดี ตัวเบา มีเทคโนโลยีดี ก็เข้ามาเสียบช่องว่างตรงนี้ ซึ่งตัวธุรกิจเก่าก็ไม่ได้ผิดอะไร แต่ปรับตัวไม่ทัน อย่างแบงก์ค่าธรรมเนียม (Fees) แพง เรามีต้นทุน ค่าสาขาอะไรยุบยับไปหมด แต่พวกสตาร์ทอัปใหม่ ๆ มันโอนกันฟรี ถามว่าในอนาคตเราจะอยู่ได้ไหม มันอยู่ไม่ได้แน่ ๆ คือ รายได้จากค่าธรรมเนียมของเรา 30% มันหายแน่ ๆ ไม่ช้าก็เร็ว อันนี้เป็นผลกระทบแรก

“เรื่องที่สองก็คือ การบริการที่ลูกค้าต้องการเดี๋ยวนี้ เราทำได้ไหม เรามีหลังบ้านเต็มไปหมด องคาพยพมันใหญ่มาก เราก็ต้องปรับตัว อาทิ อย่างจะอายัดบัตรเครดิต ขั้นตอนก็ติดต่อคอลเซ็นเตอร์ แล้วระบบจะตอบกลับภายใน 60 วัน ลูกค้าก็รับไม่ได้โกรธแล้ว สมัยก่อนรับได้ ตัวเราเองปรับลดลงมาเหลือ 40 วัน ก็คิดว่าเก่งแล้ว แต่ลูกค้าก็ยังไม่ถูกใจ ต้องภายใน 1 วัน ทำไม่ได้เขาก็ไม่ใช้บัตรเครดิตคุณ อย่างคนมีฐานะจะซื้อนาฬิกาหรูสักเรือนที่บัตรเครดิตมันติดเพดานวงเงินอยู่ จะขอวงเงินเพิ่มใช้เวลา 3-4 ชั่วโมงนี่เขาก็ไม่เอาแล้ว ต้องเดี๋ยวนี้เลย ดังนั้น แบงก์จะใช้วิธีดำเนินการอย่างเดิม ๆ ไม่ได้แน่ ไม่ทัน ที่ซีอีโอ (คุณอาทิตย์) อยากจะเปลี่ยนแปลงตรงนี้ เปลี่ยนโมเดลใหม่หมดเพื่อให้ทันลูกค้า และเพื่อให้สู้กับแพลตฟอร์มอื่น ๆ เขาได้ เพราะอย่างพวกกูเกิล, เฟซบุ๊ก, อาลีบาบา, ลาซาด้า ต้นทุนเขาต่ำ เราก็เลยต้องเปลี่ยนแปลงอย่างมาก

มีอยู่ประโยคหนึ่งที่ผมชอบก็คือ “แบงก์กิงจะอยู่ทุกที ยกเว้นที่แบงก์” อันนี้แรงมากนะ ก็คือ คนจะทำธุรกรรมกับธนาคารในทุก ๆ ที่ ยกเว้นที่แบงก์เอง ดังนั้น สาขาแบงก์มันจะต้องหลุดออกไปด้วยตัวมันเอง แบงก์ต้องมีการปรับตัวเปลี่ยนแปลงอย่างมหาศาล ถามว่าจะเปลี่ยนแปลงคืออะไร อันหนึ่งที่ถูกกระทบแน่ ๆ คือ หนึ่งค่าธรรมเนียม สอง โดนผลกระทบจากความต้องการของลูกค้าที่เป็น NOW แล้วเราทำไม่ทัน ก็ต้องเปลี่ยนแปลงตัวเอง เรื่องที่สาม คือ การปล่อยกู้

• การปล่อยกู้ด้วย Big Data, AI กับธุรกิจใหม่ของแบงก์

ธนาเล่าต่อว่า ธุรกิจหลักของแบงก์ คือ การปล่อยกู้ โดยแต่ไหนแต่ไรมา ธนาคารจะปล่อยกู้โดยอ้างอิงกับสินทรัพย์ (Asset-Based) ซึ่งเป็นการวิเคราะห์จากสินทรัพย์ รายได้ หนี้สินของผู้กู้เป็นหลัก หรืออีกแบบหนึ่งคือ การปล่อยกู้ไม่มีหลักประกัน ซึ่งก็จะมีการคิดอัตราดอกเบี้ยค่อนข้างสูง แต่เมื่อมีเรื่องบิ๊กดาต้า (Big Data) เข้ามา มีเรื่องโซเชียลมีเดียเข้ามา จึงเกิดวิธีการปล่อยกู้ที่ชาญฉลาดขึ้นกว่าแต่ก่อนมาก โดยมีการนำเอาปัญญาประดิษฐ์ (AI) หรืออะไรก็ตามเข้ามาเป็นเครื่องมือช่วยวิเคราะห์

“อย่างอาลีบาบามี Big Data อยู่มากมาย ก็มีการตั้ง “แอนต์ไฟแนนเชียล” (Ant Financial; 蚂蚁金服) ขึ้นมา แล้วก็เลือกปล่อยกู้ให้กับลูกค้าที่นิสัย จากพฤติกรรม จากความเต็มใจที่จะจ่าย (Willingness to Pay) จากข้อมูลมหาศาลที่เขามี ซึ่งรูปแบบแบบนี้ แบงก์ยังไม่สามารถทำได้ แล้วก็มีสตาร์ทอัปที่วิเคราะห์จากการใช้โทรศัพท์ แล้วสามารถรู้ถึงพฤติกรรมทางการเงินของลูกค้าได้ก็มี พวกนี้พอเอาถังข้อมูลมารวมกันแล้ว มันสามารถทำให้ หนึ่ง ปล่อยกู้ให้กับคนดี และคนไม่ดี ในอัตราดอกเบี้ยที่ต่างกันได้ สอง สินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) เป็นศูนย์เลย อย่างอาลีบาบา นี่ถ้าไม่จ่ายหนี้ ไม่ให้ค้าขายเลย เป็นต้น หรือรู้ว่าช่วงตรุษจีน คนนี้ต้องขายของเยอะ ก็เสนอวงเงินให้เลย”

“ต่อไป ถ้าแบงก์ไม่สามารถย้ายต้วเองในการปล่อยกู้ด้วย Data (Data as a Business) ได้จะเสร็จพวกนี้ เพราะการปล่อยกู้คือธุรกิจหลักของเรา เพราะฉะนั้น เราจะต้องมีใน 3 ส่วน คือ หนึ่ง เราต้องหาธุรกิจใหม่ในอนาคต (New Future Business) สอง เราต้องทำอย่างไรกับค่าธรรมเนียมที่หายไปด้วย และสาม จะทำอย่างไรที่จะรองรับความต้องการเรื่อง NOW ของลูกค้า

“หากองคาพยพเดิมของแบงก์รองรับ 3 อย่างนี้ไม่ได้ อยู่ไปก็รอวันตาย เพราะฉะนั้น ซีอีโอก็มีความพารานอยด์ขั้นสูงสุด และเขาเป็นคนที่เข้าไปดูเทคคอมปานีเยอะ แล้วก็จะมาบอกว่า เราว่า เราเร็วแล้ว บริษัทพวกนั้นมันเร็วกว่าเรา 3 เท่าเลยนะ แล้วเราจะทันมันยังไง ตรงนี้ก็เลยเกิดกระบวนการให้เกิดการตื่นรู้ โดยการสร้างระบบต่าง ๆ ไว้เพื่อรองรับ เป็นการเปลี่ยนผ่านแบงก์ขึ้นมา ในสภาวะที่ธุรกิจหลักของแบงก์ยังต้องดำเนินต่อไป แต่ก็ต้องมีการเปลี่ยนผ่าน ตั้งแต่เรื่องคน การดูแลขั้นลำดับของคนในแบงก์ก็ต้องไม่เหมือนเดิม เราจะมี 15 ขั้นเหมือนเดิม แล้วทาเลนต์เก่ง ๆ ที่ไหนมันจะมา คือ โครงสร้างเดิมมันไม่รองรับทาเลนต์”

• SCB จะกลายเป็นเทคคอมปานี?

เมื่อถามต่อว่า ไทยพาณิชย์มีโอกาสที่จะเปลี่ยนผ่าน หรือเปลี่ยนแปลงไปสู่การเป็นบริษัทเทคโนโลยีหรือ เทคคอมปานีหรือไม่ คุณธนา ให้คำตอบว่า

“ผมว่า เรายังไม่ตกผลึกว่า เราจะเป็นเทคคอมปานีไหม เพราะว่ามันมีเงื่อนไขอยู่เยอะ เช่น ถ้าจะเป็นเทคคอมปานี เราไม่เหมือนอย่างโกลด์แมน แซคส์ หรือ เจพี มอร์แกน อย่างโกลด์แมน เขาเห็นสึนามิแล้ว เขาสะสมนักวิทยาศาสตร์ข้อมูล วิศวกร เกือบหมื่นคน มากกว่าเฟซบุ๊ก ซึ่งมหัศจรรย์มาก ตอนนี้เขาเริ่มปล่อยกู้แบบอ้างอิงข้อมูลใช้ชื่อว่า มาร์คัส (Marcus) เมื่อปีที่แล้ว เขาเห็นอะไรบางอย่าง แต่เมืองไทยมีข้อจำกัดก็คือ ต่อให้เราอยากจะเป็นเทคคอมปานี แต่เราไม่มีทรัพยากร จะหานักวิทยาศาสตร์ข้อมูลจากไหน เพราะเราไม่ได้อยู่ในซิลิคอน วัลเลย์ อย่าว่าแต่มีพันคน มีหมื่นคนเลย มี 20 คนยังยาก”

• SCB Easy จะต้องเป็นแพลตฟอร์ม ขนาด 10 ล้านภายในสิ้นปี 61

ธนา ยังกล่าวต่อด้วยว่า “ปัจจุบัน ผมคิดว่าเรามีภารกิจ 3 ส่วน คือ Run the Bank, Transform และ Build ไอ้รันก็ต้องรันให้ดีที่สุดก่อน ทำกำไร โดยเปลี่ยนผ่านไปด้วย ส่วนที่สาม คือ การสร้าง อย่างเช่น การปล่อยกู้แบบ Unsecured Lending โดยใช้ดาต้า ซึ่งแบงก์ไม่เคยทำเลย ซีอีโอเลยบอกว่า อย่างแรกในการ Run ก็ต้อง Lean the Bank ความหมาย คือ ลดต้นทุน ตัวต้องผอมก่อน แล้วค่อยไปกลับหัวตีลังกา ผอมเสร็จแล้วเราค่อยเอาเงินมาลงทุนทำธุรกิจเพื่ออนาคต ซึ่งอาจจะถูกหรือผิดไม่มีใครรู้ แต่ดีกว่านั่งงอมืองอเท้า”

“นอกจากนี้ จะทำยังไงที่เราต้องขับเคลื่อนธุรกิจแบงก์ไปพร้อมกับการ Transform ไปด้วย ซีอีโอก็บอกว่า ก่อนจะรันก็ต้องทำตัวให้ผอมก่อน แล้วถึงจะกลับหัวตีลังกาได้ ทำตัวให้ผอมเพื่อที่จะได้เอาเงินมาทดลองหาธุรกิจใหม่ ๆ ในอนาคต และในที่สุดแบงก์ก็จะต้องเป็นแพลตฟอร์ม”

“สิ่งสำคัญของแพลตฟอร์ม คือ การมีการปฏิสัมพันธ์กับลูกค้า ซึ่งตอนนี้ที่เมืองไทยมีอยู่ ไม่ว่าเป็น เฟซบุ๊ก, กูเกิล, ไลน์, แกร็บ, ลาซาด้า, Joox เป็นของต่างชาติทั้งหมด ส่วนของไทยผมมองว่า แอปพลิเคชันที่สามารถจะกลายเป็นแพลตฟอร์มไทยได้ ก็น่าจะเป็นโมบายแบงกิ้ง (Mobile Banking) เพราะองค์กรผู้กำกับดูแล (Regulators) ผู้ควบคุมนโยบาย ไม่ใช่เพราะเราเก่ง แบงก์เก่ง แต่มันเป็นเรื่องความมั่นคงทางการเงิน ดังนั้น ก็ถือว่าแบงก์โชคดีที่มีโอกาสเป็นแพลตฟอร์มได้

“ถามต่อว่า แพลตฟอร์มนี่ต้องทำถึงระดับไหน คิดว่า เอสซีบี อีซี่ (SCB Easy) ก็น่าจะต้องมีสัก 10 ล้านคน ถึงจะเป็นแพลตฟอร์มขนาดกลางได้ เพราะอะไร เพราะถ้ามีถึง 10 ล้านแล้ว ต้นทุนมันจะลง ก็จะตอบโจทย์ลูกค้าเรื่องการค่าธรรมเนียมที่ต่ำหรือไม่มีเลย เร็ว ตอบโจทย์เรื่อง Faster Cheaper Better และเมื่อเป็นแพลตฟอร์มแล้ว เราก็จะสามารถแตกแขนงอะไรได้อีกมาก อย่างตอนนี้ แบงก์ชาติให้ทำ E-Marketplace ได้แล้ว ก็ทำ E-Market ได้อีก ซึ่งซีอีโอก็ตั้งเป้าว่า จำนวนผู้ใช้แอปพลิเคชันที่จะให้ได้ 10 ล้าน ต้องเกิดภายในสิ้นปีนี้ ส่วนเคแบงก์ เขาประกาศว่า ภายใน 5 ปีจะมี 20 ล้าน ก็เชื่อว่า เขาก็คงมองคล้าย ๆ กันว่า ตอนนี้ก็จะเอาลูกค้าเข้ามาไว้ก่อนต้องเป็นแพลตฟอร์ม เพราะธุรกิจรุ่นใหม่เขาไม่ทำเหมือนเดิม ที่ต้องประเมินความเป็นไปได้ของโครงการ ดูตัวเลข แล้วค่อยลงทุน พอลงทุนแล้ว 3 เดือน เงินไม่มา เลิก เดี๋ยวนี้ธุรกิจโมเดลธุรกิจใหม่ คือ ยังไม่ต้องพูดถึงรายได้ ขอให้ปริมาณผู้ใช้ การปฏิสัมพันธ์กับลูกค้าเพิ่มขึ้น แล้วเดี๋ยวค่อยคิดหารายได้จากสิ่งที่เข้ามา ซึ่งเป็นการคิดกลับหัวจากการทำธุรกิจแบบเดิม ปัจจุบัน แบงก์ยังพอมีเงินที่สร้างตรงนี้ ตัวเลข 10 ล้านผู้ใช้นี่ ถือว่าเป็นอย่างน้อยเลยถือเป็นขนาดกลางเอง ประมาณแอปฯ ฟังเพลงอย่าง Joox เท่านั้น

อย่างไรก็ตาม ในเรื่อง E-Marketplace ที่เราจะเข้าไปนั้น คงจะไม่ได้เข้าไปเอง เพราะไม่ใช่ธุรกิจที่เราถนัด โครงสร้างขององค์กรไม่เหมาะสม แต่ที่เราอยากทำ เพราะอยากได้ดาต้ามาทำธุรกิจในอนาคต ซึ่งถ้าจะทำก็คงต้องหาพาร์ตเนอร์ แล้วเราเข้าไปช่วยเรื่องการเงิน หรือสินเชื่อ ซึ่งแบงก์อยู่ระหว่างคุยกัน แต่ขณะเดียวกัน ในส่วนของคิวอาร์ โค้ด (QR Code) แม่มณี ก็ทำให้ได้เราดาต้ามาระดับหนึ่ง ซึ่งก็ถือว่าเป็น E-Marketplace อย่างหนึ่งที่ไม่ต้องใช้ใบอนุญาต เพราะเดิม เอสเอ็มอีไม่ได้แข็งแรงเรื่องเอสเอ็มอีหรือเรื่องรายย่อยเท่าไหร่ พอดีแบงก์ชาติออก QR Standard ก็เป็นโอกาสที่เราจะเป็นแบงก์หลักของร้านค้าต่าง ๆ ได้ ต่อไป เราก็จะมีดาต้าที่ใช้ในการปล่อยกู้ให้กับร้านค้าย่อย ๆ ได้ ก็เป็นที่มาของระบบแม่มณี ที่เราทำอย่างจริงจังมาก เพราะมันมีโอกาสที่จะเป็นธุรกิจในอนาคตได้ ซึ่งชื่อแม่มณี มาจากที่เราพยายามสร้างคาแร็กเตอร์ให้มัน

• เอสซีบี กับไอเดียใหม่ ๆ ในปี 2561

“ในทั้งหมดทั้งปวงแล้ว ความเร็วเป็นเรื่องสำคัญ เพราะในปีหนึ่งนี่เราจะเห็นเลยว่าอะไร ๆ มันเกิดขึ้นเร็วไปหมด หลาย ๆ อย่างต้องใช้พาร์ตเนอร์ เพราะในบางอย่างก็ทำเองไม่ได้ ก็คงจะต้องหาพาร์ตเนอร์ที่เป็นบริษัทเทคโนโลยี มีโนว์ฮาวเข้ามาร่วม เพราะในบางเรื่องทำเองก็สปีดไม่ทันอีก ก็เลยเป็นช่วงที่สนุก สับสน และวุ่นวายของแบงก์ อย่างจีเอ็ม จะทำรถยนต์ไฟฟ้า ก็แยกบริษัทออก เพราะจะให้คนที่ทั้งชีวิตทำรถใช้น้ำมันมาทำรถไฟฟ้ามันไม่เวิร์ก สำหรับเอสซีบี เราก็แยกออกมาเป็นดิจิทัล เวนเจอร์ (Digital Ventures) เป็น อบาคัส (Abacus)

“ถัดจากนี้ก็จะมีรูปแบบใหม่ ๆ ออกมาอีก อย่างอาลีบาบา ถ้าลูกค้าเขาเอาเงินไปเข้าอาลีเพย์ที่จีน ก็ได้ผลตอบแทนด้วย ปีที่แล้ว รู้สึกจะ 6% แต่ที่นี่ยังให้ดอกเบี้ยไม่ได้ ก็สามารถเปลี่ยนคูปองซื้อสินค้าแทน เป็นต้น แล้วที่นี้ แบงก์จะเปลี่ยนอย่างไรให้ทันกับเรื่องเหล่านี้ แล้วก็ต้องไม่หวังด้วยว่า แบงก์ชาติจะช่วย หรือจะปกป้องให้เราอีกต่อไป ก็เลยต้องรีบทรานฟอร์มตัวเองให้มีต้นทุนที่ต่ำกว่านี้ ไม่ต้องพูดถึงไปสู้กับแบงก์ด้วยกัน แต่ต้องสู้ส่วนอื่น ๆ ที่มันต้นทุนต่ำมาก แล้วก็มีแพลตฟอร์ม ซึ่งเป็นเรื่องที่ท้าทาย แล้วก็ไม่รู้ด้วยว่าจะทำได้สำเร็จมั้ย แต่ถ้าไม่ทำน่ะ เจ๊งแน่ภายในไม่กี่ปี

“การที่เราต้องตั้งบริษัทที่เป็นฟินเทคขึ้นมาต่างหาก ส่วนหนึ่งเพราะวัฒนธรรมองค์กรใหญ่ ๆ มันไม่เอื้อให้เกิดนวัตกรรมใหม่ ๆ ขึ้นมา มันเหมือนมีกรอบอยู่แล้ว แต่การคิดของพวกนี้มันต้องคิดนอกกรอบ ก็เลยต้องออกมาเป็นอีกส่วนหนึ่ง ขณะที่การทรานฟอร์มนั้น หลักใหญ่ก็คือ เรื่องวัฒนธรรมเรื่ององค์กร ไม่ใช่เรื่องเทคโนโลยี เพราะอันนั้นซื้อเข้ามาเท่าไหร่ก็ไม่ทันแล้ว ในด้านของการปรับองค์กรไทยพาณิชย์ที่มีมาร้อยกว่าปี ก็มีเชื้อดีอยู่ คือ พนักงานรักองค์กร และเชื่อผู้นำ แม้วิสัยทัศน์ที่ซีอีโอพูดไปดูจะรุนแรง แต่ข้างในเชื่อและรู้ว่าจะต้องทำอย่างนี้ เราอาจจะยังคลำ ๆ อยู่ว่าจะทำยังไง เพราะโตมาแบบนี้ทั้งชีวิต แต่ก็รู้ว่าต้องทำ ความท้าทายของที่นี่ ผมว่า การบาลานซ์ทรานฟอร์ม กับเพอร์ฟอร์ม คือ ในขานึงก็ต้องปรับเปลี่ยน แต่อีกขานึงก็ยังต้องทำกำไรด้วย ต้องบาลานซ์ แต่พอบาลานซ์แล้ว สปีดมันก็จะช้า

• มุมมองต่อ Cryptocurrency และ Blockchain

เมื่อถามต่อถึงความเห็นต่อการที่ธนาคารแห่งประเทศไทย ออกประกาศขอความร่วมมือสถาบันการเงินไม่ให้ทำธุรกรรม หรือมีส่วนร่วมในการสนับสนุนการทำธุรกรรมที่เกี่ยวข้องกับคริปโตเคอเรนซี ธนา ให้คำตอบว่า

“เรื่องคริปโตเคอเรนซีนั้น ก็เห็นด้วยว่า เราควรปฏิบัติตามที่แบงก์ชาติของความร่วมมือมา อย่างกรณีของ ICO เราก็เห็นอยู่แล้วว่า ตอนนี้มี ICO กาก ๆ ออกมาเต็มไปหมด ซึ่งไม่รู้ว่ามันออกมาเพื่ออะไร แล้วก็ไม่มีการแสดงตัวตนด้วย ซึ่งแบงก์โดยหลัก ๆ แล้ว หัวใจแบงก์ คือ ทรัสต์ (ความเชื่อมั่น) ถ้าเราไปยุ่งอะไรกับที่มันไม่น่าเชื่อถือ ก็ไม่ควรไปยุ่ง ถึงแม้ตอนนี้มันจะยังเป็นเพียงเศษเงิน แต่ถ้าเราเอาความเชื่อมั่น ความน่าเชื่อถือของเราไปยุ่งด้วยเรื่องพวกนั้น และกระทบกับภาพใหญ่ของแบงก์ ก็ไม่ควรยุ่ง แบงก์ควรดูเรื่องของบล็อกเชนมากกว่า ส่วนคริปโตฯ ตราบใดยังไม่มีนโยบายที่ชัดเจนก็ไม่ควรยุ่ง เพราะความน่าเชื่อถือสำหรับแบงก์แล้วเป็นเรื่องสำคัญ แล้วก็มีอีกหลายธุรกิจที่พยายามจะแย่งความน่าเชื่อถือของเราไป ไม่ว่าจะเป็น กูเกิล หรืออะไรอื่น ถ้าเราเข้าไปทำลายทรัสต์ตัวเอง ก็ยิ่งเป็นการเปิดทางให้พวกนี้เข้ามาได้ง่ายขึ้น

“ต้องแยกว่า คริปโตฯ เนี่ยยังไม่ควรเข้าไปยุ่ง ถ้ายังไม่มีนโยบายกฎเกณฑ์กำกับดูแลออกมาอย่างชัดเจน แต่บล็อกเชนเป็นเรื่องที่ผู้บริหารแบงก์ต้องพยายามรู้ให้ลึกซึ้ง เพราะผู้ที่รู้กว่าเราทำนายไว้ว่า ในปี ค.ศ. 2030 บล็อกเชนบิสิเนสจะใหญ่กว่าขนาดเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ไม่รู้กี่เท่า ก็ต้องพยายามทำความเข้าใจให้ได้ ธุรกิจแบงก์ของเดิมต้องปรับให้ดี แล้วก็ต้องดูอนาคตที่จะไป แล้วก็ต้องทำเรื่องผลการดำเนินงานด้วย นี่เป็นความยากของธุรกิจแบงก์”


กำลังโหลดความคิดเห็น