กสิกรไทย คงเป้าหมายจีดีพีที่ 4% ชี้เศรษฐกิจไทยยังอาศัยแรงขับเคลื่อนเดิมจากส่งออก-ท่องเที่ยว รอลงทุนรัฐ-อีอีซี ดันลงทุนเอกชนเกิด ด้านเงินบาทบาทระยะสั้นยังแข็งค่า มีโอกาสแตะ 30.80 ช่วงฤดูกาลท่องเที่ยว หลังจากนั้นอ่อนค่าเล็กน้อย
นายกอบสิทธิ์ ศิลปชัย ผู้บริหารงานวิจัยเศรษฐกิจและตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) เปิดเผยว่า มุมมองของธนาคารในการประชุม FOMC ในครั้งนี้ (วันที่ 20-21 มีนาคมที่จะถึงนี้) จะมีการปรับดอกเบี้ยนโยบายขึ้นอีก 0.25% ขณะที่ปัจจัยที่ต้องพิจารณาเป็นท่าทีของเฟดในระยะต่อไปว่าจะยังคงสัญญาณเดิมที่ว่าอาจจะมีการปรับขึ้นดอกเบี้ยถึง 4 ครั้งในปีนี้หรือไม่ ขณะที่ตลาดและธนาคารกสิกรไทย ยังมองว่าจะมีการปรับขึ้น 3 ครั้ง โดยปรับขึ้น 2 ครั้งในครึ่งปีแรก และอีกครั้งในปลายปี
ส่วนค่าเงินบาทในช่วงนี้จนถึงเทศกาลสงกรานต์ จะเป็นช่วงที่เงินบาทจะแข็งค่าขึ้น เนื่องจากเป็นฤดูกาลที่จะมีนักท่องเที่ยวเข้ามามาก ซึ่งประเมินไว้ที่ระดับ 9,700 ล้านบาท ทำให้ค่าเงินบาทมีโอกาสหลุดจากระดับ 31.00 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ไปที่ 30.80 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ได้ อย่างไรก็ตาม หลังจากในเดือนพฤษภาคม จะเป็นช่วงการจ่ายเงินปันผลของบริษัทจดทะเบียนให้กับผู้ถือหุ้นต่างชาติที่คาดว่าจะมีจำนวนประมาณ 87,000 ล้านบาท ก็จะทำให้เงินบาทอ่อนค่าไประยะหนึ่ง โดยธนาคารกสิกรไทยประเมินค่าเงินบาท ณ สิ้นปีที่ระดับ 32.00 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ
ทั้งนี้ อีกปัจจัยที่ต้องจับตาดูเป็นกรณีนโยบายทางการเงินของธนาคารกลางยุโรป (ECB) ซึ่งเริ่มมีความชัดเจนขึ้นว่าจะมีการลด QE ลง และจะหยุดในเดือนกันยายนนี้ ก็จะส่งผลกระทบต่อเงินทุนไหลในระดับหนึ่ง แต่ก็คงจะไม่มากนักสำหรับประเทศไทย เนื่องจากยังมีการเกินดุลชำระเงินในระดับสูง และอัตราเงินเฟ้อยังอยู่ในระดับต่ำ และจะเป็นการไหลออกของเงินในตลาดหุ้นมากกว่าตลาดตราสารหนี้
สำหรับเศรษฐกิจไทยในช่วง 3 เดือนแรก ปัจจัยต่าง ๆ ใกล้เคียงกับปีก่อน โดยยังพึ่งพาการส่งออก และการท่องเที่ยว เป็นหลัก ซึ่งคงต้องดูว่าโครงการลงทุนขนาดใหญ่ของรัฐ และโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) จะมีความคืบหน้าหรือไม่ ก็จะเป็นปัจจัยหลักที่นำการลงทุนภาคเอกชนตามมา โดยธนาคารยังคงเป้าหมายจีดีพีปีนี้ เติบโต 4% ซึ่งหากมองเป็นรายไตรมาสนั้น คาดการณ์ไตรมาส 1 เติบโต 1.2% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า ไตรมาส 2 เติบโต 1.8% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า ไตรมาส 3 เติบโต 0.3% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า และไตรมาส 4 เติบโต 1.5% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า