ฝ่ายวิเคราะห์เศรษฐกิจและการลงทุน ธนาคารกรุงศรีอยุธยา คาดการประชุมธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) วันที่ 20-21 มีนาคม ซึ่งจะมีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% เป็นปัจจัยสำคัญกดดันค่าบาทแข็งค่ากรอบ 31.10-31.45 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ
ฝ่ายวิเคราะห์เศรษฐกิจและการลงทุน ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) หรือ BAY เปิดเผยมุมมองต่อทิศทางค่าเงินบาทในสัปดาห์นี้ว่า มีแนวโน้มเคลื่อนไหวในกรอบ 31.10-31.45 ต่อดอลลาร์สหรัฐฯ เทียบกับระดับปิดแข็งค่าที่ 31.20 ต่อดอลลาร์สหรัฐฯ เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว โดยเงินบาทแตะระดับแข็งค่าสุดในรอบสี่ปีครึ่ง
ทั้งนี้ นักลงทุนต่างชาติกลับมาเป็นผู้ซื้อสุทธิในตลาดหุ้น และพันธบัตรไทย ด้วยมูลค่า 3.9 พันล้านบาท และ 1.4 หมื่นล้านบาท ตามลำดับ เงินดอลลาร์สหรัฐฯ แข็งค่าเทียบกับสกุลเงินสำคัญส่วนใหญ่ยกเว้นเงินเยนและเงินปอนด์ เงินยูโรเผชิญแรงกดดันหลังธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) มีท่าทีระมัดระวังต่อเงินเฟ้อในยูโรโซนที่ยังอยู่ในระดับต่ำ ขณะที่ความกังวลเกี่ยวกับมาตรการกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ ส่งผลให้สกุลเงินที่เชื่อมโยงกับราคาสินค้าโภคภัณฑ์ และการค้าโลก เช่น ดอลลาร์ออสเตรเลีย และดอลลาร์แคนาดาอ่อนค่าลง อย่างไรก็ตาม เงินเยนได้แรงหนุนจากความไม่แน่นอนทางการเมืองในสหรัฐฯ หลังประธานาธิบดีทรัมป์ สั่งปลดรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ ส่วนเงินปอนด์แข็งค่าขึ้นจากความเชื่อมั่นของตลาดที่มีต่อทิศทางการเจรจา Brexit
อย่างไรก็ตาม ปัจจัยชี้นำสำคัญสัปดาห์นี้จะอยู่ที่การประชุมธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) วันที่ 20-21 มีนาคม ซึ่งคาดว่าจะมีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% ขณะที่นักลงทุนจะจับตาการประเมินภาวะเศรษฐกิจและเงินเฟ้อของสหรัฐฯ รวมถึงประมาณการอัตราดอกเบี้ยนโยบายจากเจ้าหน้าที่ของเฟด (Dot Plot) โดยสัญญาดอกเบี้ยล่วงหน้าบ่งชี้ว่าเฟดจะปรับขึ้นดอกเบี้ยราวสามครั้งในปีนี้
ดังนั้น ถ้าหากเฟดคงประมาณการสำหรับการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายในปี 2561 ไว้ที่สามครั้งตามที่เคยระบุไว้ในการประชุมเมื่อเดือนธันวาคม 2560 เงินดอลลาร์สหรัฐฯ จะเผชิญแรงขายทำกำไร ในทางกลับกัน หากรายงานฉบับใหม่ส่งสัญญาณว่าเฟดจะขึ้นดอกเบี้ยในอัตราเร่ง ดอลลาร์สหรัฐฯ มีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นในระยะสั้น นอกจากนี้ ตลาดจะให้ความสนใจกับการประชุมธนาคารกลางอังกฤษ (บีโออี) ช่วงท้ายสัปดาห์นี้เช่นกัน
สำหรับปัจจัยภายในประเทศ กระทรวงพาณิชย์มีกำหนดเผยแพร่ข้อมูลการค้าระหว่างประเทศเดือนกุมภาพันธ์ โดยเราคาดว่า ตัวเลขจะยังสะท้อนแรงส่งเชิงบวกของกิจกรรมส่งออกและนำเข้าอย่างต่อเนื่อง อนึ่ง แนวโน้มการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟดในสัปดาห์นี้ จะส่งผลให้ดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐฯ สูงกว่าดอกเบี้ยนโยบายของไทยเป็นครั้งแรกในรอบ 13 ปี ขณะที่คาดว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะยังไม่ส่งสัญญาณปรับขึ้นดอกเบี้ยในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ สภาวะดังกล่าวอาจช่วยลดแรงกดดันด้านการแข็งค่าของเงินบาทลงได้ชั่วคราว ขึ้นอยู่กับ Dot Plot ของเฟดในรอบนี้ และท่าทีของ กนง. ในระยะถัดไป