ตลอดระยะเวลา 28 ปีของการพัฒนาอาคารชุดพักอาศัย บริษัท แอล.พี.เอ็น.ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) (LPN) ไม่เพียงแต่มุ่งพัฒนาคุณค่าผลิตภัณฑ์และบริการ เพื่อให้ “ลุมพินี” เป็นแบรนด์ที่ตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้อย่างตรงใจ สร้าง “ชุมชนน่าอยู่” (Livable Community) และความสุขที่แท้จริงของการอยู่อาศัยเท่านั้น แต่ยังมุ่งเน้นให้พนักงานมีคุณภาพชีวิตที่ดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มสตรีด้อยโอกาส ซึ่งจากข้อมูลของสำนักกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) สรุปจำนวนเหตุการณ์ความรุนแรงในครอบครัวประจำปี 2551-2556 พบว่าปี 2554 เป็นปีที่มีเหตุการณ์ความรุนแรงในครอบครัวสูงที่สุด คือ จำนวน 1,096 และหลังจากนั้น ตัวเลขได้สูงขึ้นถึงประมาณ 1,200 เหตุการณ์ ส่งผลให้สตรีที่โดนกระทำความรุนแรงทางด้านร่างกาย และจิตใจ รวมถึงการเอารัดเอาเปรียบจากสังคมเหล่านั้น เป็นผู้ด้อยโอกาสในสังคมไทย
ด้วยเหตุนี้ จึงได้จุดประกายให้ LPN จัดตั้งบริษัทเพื่อสังคมในนามบริษัท ลุมพินี พร็อพเพอร์ตี้ เซอร์วิส แอนด์ แคร์ จำกัด (LPC) ตามนโยบาย “Social Enterprise” ซึ่งนับว่าเป็นมิติใหม่ในการจ้างงานด้านบริการทำความสะอาด ที่มุ่งเน้นความยั่งยืนและเปิดโอกาสให้กับกลุ่มสตรีด้อยโอกาสในสังคมไทย เป็นหลัก การบริหารดำเนินการในรูปแบบที่ LPN ลงทุน โดยไม่ปันผลกลับมาที่ตนเอง แต่จะปันผลกำไรกลับคืนสู่พนักงาน LPC ในรูปแบบค่าตอบแทน และสวัสดิการต่าง ๆ ที่มากกว่าบริษัททั่วไป หนึ่งในนั้น คือ เงินเดือนที่สูงกว่ามาตรฐานค่าแรงขั้นต่ำถึง 10% โดยจุดเริ่มต้นของธุรกิจนี้ เกิดจากปัญหาการจัดจ้างแม่บ้านลงพื้นที่คอนโดมิเนียม ซึ่งในตอนแรกจำเป็นต้องอาศัยรูปแบบบริษัททำความสะอาดต่าง ๆ แต่พบว่ามีกติกาที่ไม่เป็นธรรม ส่งผลให้ผู้ที่เข้ามาทำงานไม่สามารถรับงานต่อเนื่องในระยะยาวได้ จึงเป็นแนวคิดในการก่อตั้ง LPC เมื่อปี 2554
รูปแบบการว่าจ้างของ LPC ยังแตกต่างออกไป โดยในตลาดบริการทำความสะอาดทั่วไปจะคิดค่าจ้างเป็นรายคน แต่ LPC เปลี่ยนวิธีรับงานเป็นระบบเหมาบริหารจัดการคนให้เหมาะสมกับพื้นที่ในการทำความสะอาดแต่ละครั้ง ทำให้สามารถลดจำนวนคนลง และเพิ่มรายได้ให้กับพนักงานในการว่าจ้างครั้งนั้น ๆ ได้ นอกเหนือไปจากการสร้างงาน สร้างอาชีพเพื่อให้พนักงาน LPC มีรายได้และเลี้ยงดูครอบครัวได้แล้ว ยังมุ่งเน้นให้การศึกษาขั้นพื้นฐานเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต ด้วยการจัดให้มีระบบ “การศึกษานอกโรงเรียน” จัดครูสอนหนังสือด้านการอ่านและการเขียนให้กับพนักงาน ที่ยังไม่สามารถอ่านออกเขียนได้ อีกส่วนหนึ่ง คือ การมอบอาชีพเสริม เช่น การนวดแผนไทย ด้วยการส่งพนักงานไปเรียนกับครูผู้เชี่ยวชาญเป็นการติดอาวุธให้ ด้วยหวังว่า แม้ออกจากงานไป พวกเขาจะมีวิชาความรู้ติดตัวและนำไปประกอบอาชีพเลี้ยงตนเองได้ในอนาคต
จากการที่ LPC ได้สร้างโอกาสและคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับพนักงานกลุ่มนี้ เมื่อมีโอกาสและว่างจากงานประจำ พวกเขาจึงได้รวมตัวกันทำความดีตอบแทนสังคม ด้วยการทำความสะอาดบริเวณรอบ ๆ โครงการที่ทำงานอยู่ เช่น ป้ายรถเมล์ สะพานลอย วัด เพื่อสร้างทัศนียภาพให้น่าอยู่ยิ่งขึ้น
ปัจจุบัน LPC มีพนักงานรวม 1,200 คน เป้าหมายต่อไปของบริษัท คือ การดำเนินการให้ได้มาตรฐานการบริการสากล ISO 9001:2015 เพื่อขยายงานบริการออกไปสู่ภายนอกมากยิ่งขึ้น อันจะเป็นหนทางหนึ่งที่สร้างโอกาส สร้างศักดิ์ศรี และสร้างความสุข ให้กับสตรีเหล่านี้อย่างยั่งยืนต่อไป