xs
xsm
sm
md
lg

In Clips : ยูเอ็นชี้แรงงาน “อุตสาหกรรมประมงไทย” ดีขึ้น แต่ยังมีค่าจ้างไม่เป็นธรรม-สัญญาเอาเปรียบ ไม่พูดถึงแรงงานเรือประมงไกลฝั่งเจ้าปัญหา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ภาพจากฮิวแมนไรท์วอชรายงานปัญหาสิทธิมนุษยชนในแรงงานต่างด้าวอุตสาหกรรมประมงและอาหารทะเลไทย
เอพี/เอเจนซีส์/MGR ออนไลน์ - เมื่อวานนี้ (7 มี.ค.) องค์การแรงงานระหว่างประเทศ ILO ภายใต้องค์การสหประชาชาติออกรายงานผลการสำรวจถึงสถานการณ์ด้านแรงงานในอุตสาหกรรมการประมงและอาหารทะเลของไทยว่ามีการปรับปรุงที่รวมไปถึงความรุนแรงน้อยลง แต่รายงานชี้ยังคงมีปัญหาที่ต้องแก้ไข เป็นต้นว่า การจ่ายค่าแรงไม่เป็นธรรม และสัญญาว่าจ้างเอาเปรียบ เอพีและสื่อกัมพูชาเปิดประเด็น “ILO สัมภาษณ์แค่แรงงานประมงใกล้ฝั่งเท่านั้น”

เอพีรายงานเมื่อวานนี้ (7 มี.ค.) ว่า ในปี 2015 ทางสหภาพยุโรปได้ออกใบเหลืองในการส่งออกสัตว์น้ำของไทย ที่อาจนำมาสู่การแบนการส่งออกอาหารทะเลไทยไปยุโรปหากทางรัฐบาลไทยไม่เร่งปรับปรุง ส่งผลทำให้รัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชาได้ออกกฎหมายและจัดตั้งศูนย์ปราบปรามการทำประมงเถื่อน

ในรายงานที่ออกมาในวันพุธ (7) ขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ ILO ภายใต้องค์การสหประชาชาติชื่อ “สิทธิเรือสู่ฝั่ง” (Ship to Shore Rights) ได้ให้คำแนะนำรัฐบาลไทยขยายกรอบการทำงานทางกฎหมาย เพื่อเป็นหลักประกันการบังคับใช้อย่างได้ผล และเป็นการตั้งมาตรฐานระดับสูงของภาคอุตสาหกรรม และส่งเสริมความรู้ ฝีมือ และความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นให้กับบรรดาแรงงาน

“เราต้องการให้มีการแข่งขันในธุรกิจอาหารทะเลระดับโลกที่เป็นมากไปกว่า ราคาถูกและคุณภาพสูง” แกรห์ม บัคลีย์ ผู้อำนวยการสำนักงานแรงงานระหว่างประเทศประจำประเทศไทย กัมพูชา และสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (Graeme Buckley) กล่าวให้ความเห็นผ่านการแถลงข่าว และเสริมต่อว่า “ทางเราต้องการให้เกิดงานดีอย่างมีคุนค่ากับแรงงานทุกคนในภาคอุตสาหกรรม ตั้งแต่เรือประมงไปจนถึงผู้จำหน่าย”

ในรายงานองค์การแรงงานระหว่างประเทศของยูเอ็นได้กล่าวชื่นชมถึงรัฐบาลไทยต่อกรอบข้อกำหนดทางกฎหมายที่ได้ออกมานั้น“ส่งผลในด้านบวก” นับตั้งแต่การสำรวจของ ILO ต่อปัญหาแรงงานในปี 2013

ทางองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ILO กล่าวผ่านรายงานว่า มีแรงงานเรือประมงเพียง 6% ในปี 2013 เท่านั้นที่ได้ลงนาม หรือทำสัญญาจ้างงานอย่างเป็นทางการกับนายจ้าง แต่ทว่าในการศึกษาในปี 2017 พบว่า 43% ของแรงงานเรือประมงมีการทำสัญญาว่าจ้างอย่างถูกต้อง

นอกจากนี้ ในรายงานยังชี้ว่า มีการพัฒนาที่ดีขึ้นต่อรายงานการกดขี่ ถึงแม้ว่า 12% ของแรงงานทุกคนที่ร่วมมือในการสำรวจในปีนี้จะรายงานถึงปัญหาการคุกคาม หรือการใช้วาจาที่ไม่เหมาะสม และอีก 7% เผชิญต่อภัยคุกคามของความรุนแรงในที่ทำงาน

ทั้งนี้ ILO ชี้ว่า มีรายงานการทำร้ายร่างกายน้อยมากที่ 2% จากจำนวนแรงงานที่เปิดเผย ซึ่งในปี 2015 เอพีเคยทำการสอบสวนพบเคสการทำร้ายร่างกายแรงงานเรือประมงจำนวนหลายกรณี

ขณะที่ในรายงานที่ออกมาในวันพุธ (7) องค์การแรงงานโลกชี้ไปถึงปัญหาค่าแรงที่ต่ำกว่ากฎหมายกำหนดในแรงงานเรือประมงที่ยังคงเกิดขึ้น โดยชี้ว่า “1 ใน 3 ของแรงงานสำรวจยอมรับว่า ได้รับค่าจ้างต่ำกว่าอัตราค่าแรงขั้นต่ำตามกฎหมายไทยกำหนด ซึ่งเป็นค่าแรงก่อนการหัก” ซึ่งมีมากถึง 53% ของแรงงานร่วมการสำรวจยอมรับว่า มีการหักเกิดขึ้นในค่าแรงรายเดือนของพวกเขา

นอกจากนี้ ILO ยังระบุถึงการพบถึงหลักฐานการบังคับใช้แรงงาน รวมไปถึง การเอาเปรียบในการว่าจ้างหรือการทำสัญญาว่าจ้าง การยืดค่าจ้าง และการยึดเอกสารประจำตัวของบรรดาแรงงานไว้ ซึ่งเป็นสิ่งที่ทางองค์การแรงงานระหว่างประเทศแสดงความกังวลถึงปัญหาแรงงานเรือประมงในอุตาหกรรมประมงไทย

MGR ออนไลน์พบว่า เว็บไซต์ของ ILO ประจำประเทศไทย ได้กล่าวสรุปถึงประเด็นสำคัญของหลักฐานความก้าวหน้าในอุตสาหกรรมประมงและอาหารทะเลไทย ดังนี้

ผลการวิจัยที่สำคัญ

*** กรณีการทำร้ายร่างกายน้อยลง
*** การจ้างแรงงานอายุน้อยกว่า 18 มีน้อยมาก (น้อยกว่าร้อยละ 1)
*** แรงงานข้ามชาติกว่าร้อยละ 43 มีสัญญาว่าจ้างที่เป็นลายลักษณ์อักษรเพิ่มขึ้นกว่า 4 ปีที่ผ่านมา
*** แรงงานประมงบางคนได้รับค่าจ้างแต่ละเดือนสูงขึ้น

การละเมิดแรงงานที่ยังพบอยู่อย่างต่อเนื่อง

*** ร้อยละ 34 ของแรงงานประมงและอาหารทะเลไม่ได้รับค่าจ้างขั้นต่ำ
*** ยังมีความไม่เท่าเทียมเรื่องค่าจ้างระหว่างหญิงชาย โดยร้อยละ 52 ของแรงงานหญิงได้รับค่าจ้างต่ำกว่าค่าจ้างขั้นต่ำ
*** ร้อยละ 24 ในภาคประมงแจ้งว่าถูกนายจ้างยึดค่าจ้าง บางคนถูกยึดค่าจ้างเป็นเวลา 12 เดือนหรือมากกว่านั้น
*** ร้อยละ 34 แจ้งว่าถูกยึดเอกสาร

โดยทางองค์การแรงงานระหว่างประเทศระบุว่า การวิจัยเรื่อง สิทธิเรือสู่ชายฝั่ง นี้ได้รับเงินทุนสนับสนุนจาก “สหภาพยุโรป” เพื่อเป้าหมาย ***ตรวจสอบสภาพการทำงานในอุตสาหกรรมประมงและอาหารทะเลของไทย*** ที่ตกเป็นเป้าการตรวจสอบจากนานาชาติในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา

แต่ทว่าในความเป็นจริง ซึ่งเอพีและสื่อพนมเปญโพสต์ชี้ตรงกัน “ถึงข้อบกพร่องของรายงาน ILO” ว่าอยู่ในวงจำกัด และไม่สะท้อนถึงภาพที่แท้จริงของอุตสาหกรรมประมงและอาหารทะเลของไทย ที่การกดขี่แรงงานนั้นเกิดขึ้นจำนวนมากในกลุ่มแรงงานบนเรือประมงไกลฝั่ง เพราะทางองค์การแรงงานระหว่างประเทศทำการศึกษาในเฉพาะกลุ่มแรงงานประมงเฉพาะกลุ่มบนเรือประมงใกล้ฝั่ง อยู่กลางทะเลไม่เกิน 30 วันเท่านั้น

ทั้งนี้ ในปี 2015 เอพีเคยติดตามเรือซิลเวอร์ ซี 2 (Silver Sea 2) ที่มีคนไทยเป็นกัปตันเรือ และทางสำนักข่าวได้ร่วมมือกับทางการอินโดนีเซีย เข้ายึดเรือดังกล่าวเมื่อวันที่ 12 ต.ค.ในปีนั้น จากข้อหาลักลอบทำประมงเถื่อนในน่านน้ำอินโดนีเซีย และสามารถทะลายช่วยเหลือแรงงานประมงทาสต่างด้าวบนเรือ และที่ถูกขังบนเกาะเบนจินา (BENJINA) ของอินโดนีเซียได้สำเร็จ และ กลายเป็นข่าวดังไปทั่วโลก

อย่างไรก็ตาม IAO กล่าวว่า การจัดทำการศึกษาวิจัยข้อมูลพื้นฐานเรื่องแรงงานอุตสาหกรรมประมงและอาหารทะเลไทย ถือ “เป็นงานวิจัยฉบับแรกที่ทำขึ้นในประเทศไทย” ที่ครอบคลุมทั้งภาคประมง ภาคอาหารทะเลและการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ

การสำรวจครั้งล่าสุดนี้ ทางองค์การแรงงานระหว่างประเทศได้สัมภาษณ์แรงงานในภาคประมงและอาหารทะเล จำนวน 434 คน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นแรงงานข้ามชาติที่ทำงานให้ผู้ประกอบการรายใหญ่และรายเล็กใน 11 จังหวัด คือ ได้แก่ ชลบุรี ชุมพร ปัตตานี พังงา ภูเก็ต ระยอง สมุทรสาคร สงขลา สุราษฎร์ธานี ตรัง และระนอง อ้างอิงจากบีบีซีภาคภาษาไทย เกิดขึ้นในช่วงระหว่างมีนาคม-เมษายน ปี 2017

เอพีชี้ว่า ในรายงานฉบับเต็มระบุว่า แรงงานเรือประมงและอุตสาหกรรมอาหารทะเลไทยที่ได้เข้าร่วมในการสำรวจรวมไปถึง แรงงานกัมพูชา 125 คน แรงงานพม่า 287 คน และแรงงานไทย 22 คน ซึ่งคนเหล่านี้ทำงานบนเรือประมง หรือในบริษัทอาหารทะเล

โดยทาง ILO ได้ทำการสำรวจสอบถามเกี่ยวกับการจัดหางาน ค่าจ้าง ชั่วโมงการทำงาน ความปลอดภัยและสุขภาพ บริการ กลไกร้องเรียน และสภาพความเป็นอยู่ ตลอดจนตัวชี้วัดของการบังคับใช้แรงงานและการดำเนินการตามกฎหมาย

แต่อย่างไรก็ตาม ในรายงานกล่าวยอมรับว่าผลการสำรวจที่ออกมาไม่ได้สะท้อนถึงอุตสาหกรรมประมงไทยและอาหารทะเลไทยทั้งหมด โดยได้กล่าวในหมายเหตุว่า

“หมายเหตุ ผลของการวิจัยไม่สามารถเป็นข้อสรุปเกี่ยวกับอุตสาหกรรมประมงและอาหารทะเลในประเทศไทยได้ทั้งหมดเนื่องจากเป็นการสุ่มตัวอย่างโดยไม่ใช้หลักการความน่าจะเป็นของการสุ่มตัวอย่าง (Nonprobability sampling)”

เอพีชี้ไปถึงข้อบกพร่องของการสำรวจในรายงานของ ILO ว่า เป็นที่น่าเสียดายว่า ไม่ได้รวมไปถึงแรงงานบนเรือประมงประเภทไกลฝั่ง (long-haul boat) ที่ทำการประมงในเขตน่านน้ำสากล ซึ่งเป็นสถานที่เกิดการเอาเปรียบทางแรงงานมากที่สุด และเรือประมงประเภทนี้มักจะไม่ค่อยกลับเข้าฝั่ง

จากรายงาน ILO กล่าวยอมรับเองด้วยว่าเป็นปัญหาเพราะเป็นการยากที่จะสามารถทำการสัมภาษณ์ได้

พบว่าทางผู้สำรวจของ ILO ระบุว่า การสัมภาษณ์เกิดขึ้นเฉพาะกับแรงงานประมงประเภทใกล้ฝั่ง (short-haul fishing boat) เท่านั้น ซึ่งแรงงานเหล่านี้อยู่กลางทะเลน้อยกว่า 30 วันในแต่ละครั้ง แต่ในรายงาน ทาง ILO อ้างว่า มีเรือประมงติดธงชาติไทยน้อยลำมากที่จะทำ การประมงไกลฝั่งในปัจจุบัน

ด้านสื่อพนมเปญโพสต์รายงานถึงผลการวิจัยของ ILO โดยแสดงไปถึงประเด็นปัญหาการไม่สำรวจในกลุ่มแรงงานบนเรือประมงไกลฝั่งของไทย และได้ไปสัมภาษณ์อดีตแรงงานประมงชาวกัมพูชา เชา ชาน คองเคีย (Chou Chan Kongkea) วัย 29 ปี ที่เคยทำงานบนเรือประมงของไทยมานานร่วม 10 ปี และเพิ่งเดินทางกลับเข้ากัมพูชาในปี 2015 ซึ่งเขาได้กล่าวถึงแรงงานบนเรือประมงไกลฝั่งว่า “เพื่อนแรงงานประมงได้บอกกับผมว่า พวกเขาไม่มีน้ำสะอาด หรืออาหารเพียงพอ และมักจะได้รับการทำร้ายร่างกายในการลงโทษ หรือแม้แต่ถูกทรมาน” และเขากล่าวต่อว่า “เป็นชีวิตที่ยากลำบากบนเรือประมงประเภทนี้ มากกว่าพวกทำงานบนเรือใกล้ฝั่ง”

ในการเปิดเผยของอดีตแรงงานประมงชาวกัมพูชา ยังได้ชี้ต่อไปว่า ในตลอดช่วงเวลา 10ปีของการทำงาน ***เขาไม่พบเจ้าหน้าที่ทางการไทยขึ้นมาสำรวจสภาพการทำงานของแรงงานประมงต่างด้าวแม้แต่สักครั้ง*** แต่เจ้าหน้าที่ไทยจะตรวจใบอนุญาตการทำงานเท่านั้นว่ามีอย่างถูกต้องหรือไม่ ซึ่งจะเกิดขึ้นเมื่อเรือประมงกลับขึ้นสู่ฝั่ง และเจ้าหน้าที่ไทยจะทำการล้อมจับกุมแรงงานประมงต่างด้าวที่ไม่มีใบอนุญาต โดยคองเคียเปิดเผยว่า แรงงานต่างด้าวไม่เคยได้รับเงินเดือน และมีบางส่วนซึ่งถึงแม้จะได้รับค่าตอบแทน แต่จะถูกหักเป็นจำนวนมากเมื่อถึงฝั่งแล้ว

อ้างอิงจากว็บไซต์ ILO ประจำประเทศไทย จรินทร์ จักกะพาก ปลัดกระทรวงแรงงาน ได้กล่าวชื่นชมถึงงานวิจัยชิ้นนี้ว่า

“งานวิจัยข้อมูลพื้นฐานเกี่ยวกับแรงงานประมงและอาหารทะเลได้แสดงถึงความมุ่งมั่นร่วมกันของทุกหุ้นส่วนภาคีในสังคม ที่จะขับเคลื่อนและประเมินความก้าวหน้าในการดำเนินงานยกระดับคุณภาพชีวิตและมาตรฐานแรงงานในภาคประมงและอาหารทะเลให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล

และรวมไปถึงการบรรลุเป้าหมายที่ 8 การจ้างงานที่มีคุณค่าและการเติบโตทางเศรษฐกิจ ตามกรอบการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ (Sustainable Development) โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง (No one left behind) รวมถึงการให้ความสำคัญต่อการเป็นห่วงโซ่อุปทานของโลก (Global Supply Chain) ที่ดำเนินงานอย่างมีจริยธรรม มีความยุติธรรม และมีการจ้างงานที่มีคุณค่า อันเป็นหัวใจสำคัญของความยั่งยืน และเป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาลไทย”

ด้าน ลุยซา แร็กเฮอร์ อุปทูตของคณะผู้แทนสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย กล่าวว่า สหภาพยุโรปยึดมั่นในการส่งเสริมงานที่มีคุณค่าที่ครอบคลุมทั้งการสร้างงาน การประกันสิทธิประโยชน์ของผู้ใช้แรงงาน สิทธิการประกันสังคมและการเสวนาทางสังคมที่มีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน

สหภาพยุโรปยินดีและชื่นชมกับรัฐบาลไทยสำหรับความก้าวหน้าในความสำเร็จที่รวดเร็วเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะการสร้างกรอบกฎหมายและระเบียบเพื่อพัฒนาคุณภาพการทำงานในภาคประมงและอาหารทะเลทั้งของแรงงานข้ามชาติและแรงงานไทย ทั้งนี้ สหภาพยุโรปตระหนักดีถึงข้อท้าทายและปัญหาอื่นๆ ที่ยังมีอยู่ ซึ่งทางสหภาพยุโรปพร้อมที่จะสนับสนุนและช่วยเหลือรัฐบาลไทยเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ที่ต้องการ



ภาพจากองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ILO ประจำประเทศไทย
ภาพจากฮิวแมนไรท์วอช
ภาพจากฮิวแมนไรท์วอช
ภาพจากฮิวแมนไรท์วอช
ภาพจากฮิวแมนไรท์วอช
ภาพเอพี เรือซิลเวอร์ ซี 2 (Silver Sea 2) ที่มีคนไทยเป็นกัปตันเรือ


กำลังโหลดความคิดเห็น