xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

“หม่อมอุ๋ย คอนเนกชัน” ดีลลับล้มบรรษัทพลังงานแห่งชาติ??

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล อดีตรองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายเศรษฐกิจ ในรัฐบาล คสช.
ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ผลงานการล้มบรรษัทพลังงานแห่งชาติ ที่มี “หม่อมอุ๋ย” ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล ออกหน้า จะว่าไปไม่ได้อยู่นอกเหนือความคาดหมาย หรือสร้างความแปลกประหลาดใจอะไรนัก หากต่อจิ๊กซอว์ “หม่อมอุ๋ย คอนเนกชัน” กับทุนพลังงาน บวกกับ “ซ.ค.คอนเนกชัน” ที่มีพี่ใหญ่บูรพาพยัคฆ์เป็นศูนย์รวมน้ำใจของน้องพี่ในห้วงเวลานี้

ไม่เช่นนั้น หลังสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) อภิปรายกันจนร้อนฉ่าในวาระร่างกฎหมายปิโตรเลียมฯ คงไม่จบลงด้วยการที่สภาผู้ทรงเกียรติผ่านร่างกฎหมายดังกล่าวชนิดถล่มทลาย และเขี่ยทิ้งมาตรา 10/1 ว่าด้วยบรรษัทพลังงานแห่งชาติ ยังกะนัดกันมาก่อนยังงัยยังงั้น

ด้วยความที่มี “ภาพดี” มีต้นทุนสูงนี่แหละที่โดนใจกลุ่มทุนพลังงาน เมื่อหม่อมอุ๋ยเข้ามามีบทบาทสำคัญในโค้งสุดท้ายของการพิจารณาร่างกฎหมายปิโตรเลียม และบทสรุปสุดท้าย ก็ไม่ทำให้ทุนพลังงานและรัฐบาลผิดหวัง ที่ดันกฎหมายจนผ่าน สนช. และล้มบรรษัทพลังงานแห่งชาติ ได้สมใจนึก นั่นก็เพราะว่า กฎหมายปิโตรเลียมใหม่ ดูเหมือนจะมีการกำหนดกติกาใหม่ เป็นผลงานที่รัฐบาลตีปี๊บได้ว่ามีการปฏิรูปพลังงานแล้ว แต่เนื้อในคือเอื้อประโยชน์ให้กลุ่มทุนหน้าเดิมได้มีเฮกันต่อไป

เช่นเดียวกันกับหน่วยงานรัฐที่คุมกิจการด้านพลังงานของประเทศ อย่างกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กระทรวงพลังงาน ที่ยังคงกุมอำนาจอยู่เช่นเดิม

ใช่หรือไม่?

ไม่ต้องรอว่าจะมีจัดตั้งคณะศึกษาบรรษัทพลังงานแห่งชาติ หรือไม่ อย่างไร เพราะกรอบเวลาหนึ่งปีสองเดือน ที่ สนช. กำหนดไว้ใน “ข้อสังเกต” ไม่มีความหมายอะไรในทางปฏิบัติอยู่แล้ว

แต่ของจริงที่เตรียมพร้อมไว้แล้วและเดินหน้าได้เลย คือ การเปิดสำรวจและผลิตปิโตรเลียมใน แหล่งบงกชและเอราวัณ ที่จะหมดอายุลงในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า กับการเปิดสำรวจและผลิตปิโตรเลียม รอบใหม่ ที่มีความชัดเจนว่าจะดำเนินการอย่างรวดเร็ว โดยกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ เตรียมเปิดประมูลสองแหล่งนั้นในเดือนกรกฎคมนี้ และมั่นใจว่าจะได้รายชื่อผู้ชนะประมูลทันสิ้นปี 2560 นี้แน่

มาดูกันว่า หม่อมอุ๋ย ซึ่งสร้างเกียรติประวัติ สร้างผลงานด้านการเงินการคลังมาชั่วชีวิต เหตุไฉนถึงโผล่มาในซีนสุดท้ายในเรื่องนี้ ทั้งที่จะว่าไปแล้วหม่อมอุ๋ยไม่เคยมีชื่อชั้นอยู่ในแวดวงพลังงานในทางสายตรงมาก่อน แต่ถ้าหากคุ้ยแคะแกะเกาลึกเข้าไปจะเห็น “หม่อมอุ๋ย คอนเนกชัน” ที่เชื่อมโยงถึงกลุ่มทุนพลังงานขาใหญ่ และโยงใยไปถึง “ซ.ค.คอนเนกชัน” ในรัฐบาล คสช. สร้างความฉงนจนอดสงสัยไม่ได้ว่านี่เป็นดีลลับที่รู้กัน ใครเสิร์ฟ ใครตบ ใครปิดเกม การเดินแต้มของหมากทุกตาล้วนเตรียมการไว้ล่วงหน้าหมดแล้ว อย่างนั้นใช่หรือไม่ ??

ค่อยๆ ตามมา “อุ๋ย คอนเนกชัน” ที่เป็นข้อต่อถึงกลุ่มทุนพลังงานขาใหญ่ ผ่านมาทางสายไหน งานนี้คงต้องจับตาไปยัง “เจ้าพ่อคอม-ลิงค์” ผู้ซึ่งพยายามสยายปีกจากธุรกิจโทรคมนาคมและธุรกิจอื่นมายังธุรกิจพลังงานในช่วงสิบกว่าปีมานี้ และว่ากันว่ามีคอนเนกชันแน่นปึ๊กกับกลุ่มทุนพลังงานชนิดที่ไม่ธรรมดา

แล้ว “หม่อมอุ๋ย” - เจ้าพ่อคอมลิงค์ - ทุนพลังงานขาใหญ่รายนั้น เกาะเกี่ยวกันเช่นไร ว่ากันในข้อต่อแรก “หม่อมอุ๋ย - เจ้าพ่อคอม-ลิงค์” กันเสียก่อน

อย่างที่รู้ๆ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล กับ “ศิริธัช โรจนพฤกษ์ - เจ้าพ่อคอม-ลิงค์” ทั้งคู่เป็นเพื่อนร่วมรุ่นน้ำเงิน-ขาว ที่ผูกพันกันมาตั้งแต่ใส่กางเกงขาสั้นจากเซนต์คาเบรียล หรือ "ซ.ค.คอนเนกชั่น" และสานสัมพันธ์จากเพื่อนร่วมสถาบัน ซ.ค. พัฒนามาเป็นพาร์ทเนอร์ธุรกิจทั้งโทรคมนาคมและพลังงาน สืบเนื่องต่อกันเรื่อยมาจนถึงเวลานี้

ว่ากันตั้งแต่เมื่อคราวที่ ศิริธัช นำพาคอม-ลิงค์ ชนะประมูลสัมปทานวางระบบเคเบิลใยแก้วนำแสง จาก ทศท. เมื่อปี พ.ศ. 2531 ในเวลานั้น ธนาคารกสิกรไทย ยุคที่มีผู้บริหารชื่อ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล เป็นสถาบันการเงินที่ให้การสนับสนุน และกาลต่อมาหนึ่งในผู้ถือหุ้นของคอม-ลิงค์ ก็มีชื่อ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล ร่วมอยู่ด้วย

ชื่อชั้นของคอม-ลิงค์ ก็ต้องบอกว่าไม่ธรรมดา นิตยสารผู้จัดการรายเดือน ฉบับเดือนมีนาคม 2542 ถึงกับจั่วหัว “คอม-ลิงค์ บุฟเฟ่ต์คาบิเนท” ตั้งแต่เริ่มก่อเกิดคว้าสัมปทาน จาก ทศท. จนมาถึงการขยายธุรกิจหันมารับติดตั้งระบบเน็ตเวิร์ค โดยตั้งบริษัทไฮเทค เน็ทเวิร์ค ให้บริการคำปรึกษาและรับติดตั้งระบบด้านโทรคมนาคม เพื่อรับงานประมูลติดตั้งระบบเครือข่ายให้กับหน่วยงานรัฐวิสาหกิจต่างๆ ซึ่งได้มาหลายโครงการ

ขีดเส้นใต้ไว้เลย หนึ่งในรัฐวิสาหกิจที่เป็นลูกค้าชั้นดีของบริษัทไฮเทค เน็ทเวิร์ค ในเครือคอม-ลิงค์ ในเวลานั้น ก็คือ “การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย (ปตท.) ที่ว่ากันว่าคอมลิงค์ ก็มีสายสัมพันธ์ดี จนสามารถคว้าโครงการ มูลค่า 300 ล้านบาท มาแล้ว และขยายต่อเนื่องอีก 300 ล้านบาท ซึ่งมีแนวโน้มว่าจะคว้างานประมูลนี้ได้อีก”

พูดภาษาง่ายๆ ให้ชาวบ้านทั่วไปเข้าใจก็คือ เครือคอม-ลิงค์ กับกลุ่มทุนพลังงานขาใหญ่ รู้จักกันมานมนานแล้ว และเมื่อคอม-ลิงค์ สยายปีกเข้าสู่ธุรกิจพลังงาน แน่นอนย่อมหมายตาบิ๊กบราเธอร์เป็นพาร์ทเนอร์ธุรกิจอันดับต้นๆ และไม่เป็นที่ผิดหวังของ ศิริธัช - เจ้าพ่อคอม-ลิงค์ อดีตนักการทูตที่ผันตัวเองมาเป็นนักธุรกิจและว่ากันว่าเป็นนักล็อบบี้ยิสต์ที่มีเพื่อนพ้องน้องพี่อยู่ในหลายวงการและถนัดเล่นบทอยู่หลังฉากอย่างเงียบๆ ตามสไตล์

ในช่วงที่ ศิริธัช เบนหัวเรือหันมาสนใจธุรกิจพลังงาน เป็นเวลาเดียวกันกับที่กลุ่มปตท. เริ่มการถักทอเครือข่ายผลประโยชน์ในธุรกิจพลังงานชีวภาพ ซึ่งไบโอดีเซลเป็นแนวโน้มแห่งอนาคตที่ กลุ่ม ปตท. ปูทางไว้แน่นหนา โดยจัดตั้งบริษัทไทยโอลีโอเคมี (TOL) บริษัทลูกของ บมจ. ปตท. เคมิคอล เพื่อผลิตน้ำมันไบโอดีเซล หรือน้ำมันตระกูล B ออกสู่ท้องตลาด ตามมาด้วย E20 หรือ E85 หรือ “น้ำมันแก๊สโซฮอล์” ในเวลาต่อมา

ทั้งนี้ ธุรกิจ “พลังงานทดแทน” ทั้งเอทานอล และไบโอดีเซลเป็นเป้าหมายหนึ่งของ ปตท. ในการสร้างรายได้ในอนาคต แล้วยังได้กำไรอีกทอดจากการถือหุ้น บ.บางจาก 29.75% ที่ร่วมหัวจมท้ายเคลื่อนไหวเรื่อง “น้ำมันเบนซินผสมเอทานอล” โดยน้ำมันตระกูล E จัดว่าเจาะตลาดกลางและบน เพราะใช้กับรถยนต์นั่งเท่านั้น เป็นตลาดศักยภาพสูงที่ ปตท. ต้องการมาช้านาน

โฉมหน้าเครือข่ายธุรกิจพลังงานแห่งอนาคตที่จับมือกับ ปตท. เพื่อป้อนวัตถุดิบให้นอกจากเจ้าของยักษ์ใหญ่อุตสาหกรรมการเกษตร น้ำเมา และโรงงานน้ำตาล อย่างที่นิตยสาร

positioning ฉบับเดือน July 2008 เขียนไว้ในเรื่อง "E85 - ขุมทรัพย์ใหม่กลุ่มทุนเจ้าสัว-การเมือง" ฉายภาพให้เห็น เครือข่ายธุรกิจใหม่มหึมาที่จับมือกับ ปตท.แล้วยังส่องสปอตไลต์ไปยังบริษัทน้องใหม่มาแรง นั่นคือ บจ. บุญอเนก ซึ่งมี ศิริธัช ถือหุ้นใหญ่ รวมถึง “หม่อมอุ๋ย” อีกด้วย

“..... โรงงานน้องใหม่มาแรง “บุญอเนก” กำลังจะมาเขย่าบัลลังก์ เพราะได้รับอนุมัติกำลังการผลิตมากกว่าเท่าตัว หรือ 1 ล้าน 5 หมื่นลิตรต่อวัน ซึ่งก็ถือหุ้นโดยกลุ่มทุนสุดซับซ้อน เช่น “ศิริรัช โรจนพฤกษ์” คนสนิทของหม่อมอุ๋ยถือหุ้นสูงสุด (26.9%) รองลงมาเป็น “คอม-ลิงค์” (20%) บริษัทที่เคยวางระบบเคเบิลใยแก้วให้องค์การโทรศัพท์ ถือหุ้นโดยสันติบุรีบริษัทในเครือภิรมย์ภักดี เจ้าของ “เบียร์สิงห์” รวม 17.5% แล้วยังมี “หม่อมอุ๋ย” ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล และที่น่าสนใจอย่างยิ่งคือมี ปัฐวาท สุขศรีวงศ์ อดีตผู้บริหารองค์การโทรศัพท์ คนสนิทของไพบูลย์ ลิมปพยอม ที่กลายเป็นผู้บริหารใน “ชินคอร์ป” หลังเกษียณอีกด้วย

“บางบริษัทก็ลึกลับซ่อนปม เช่น “ไบโอเอทานอล” จ.อุดรธานี มีข่าวตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2549 ว่าร่วมทุนกับ ”ซิโนโก พาวเวอร์” บริษัทด้านพลังงานในเครือ “เทมาเส็ก” (Temasek) กลุ่มทุนยักษ์ใหญ่จากสิงคโปร์ที่อดีตนายกฯ “ทักษิณ” สนิทสนมเป็นพิเศษจนตกลงขายหุ้น “ชินคอร์ป””

นั่นคือโฉมหน้าบริษัทนายทุนที่จะได้รับอภิสิทธิ์ในการป้อนวัตถุดิบให้กับ ปตท. และบางจาก

ต้องไม่ลืมว่า ในช่วงที่กลุ่มทุนพลังงานขาใหญ่ถักทอเครือข่ายผลประโยชน์พลังงานชีวภาพแห่งอนาคตนั้น ในส่วนของภาครัฐก็ผลักดันนโยบายพลังงานทดแทนอย่างแข็งขันเพื่อแก้ไขวิกฤตปัญหาราคาน้ำมันแพงและสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้ใช้รถยนต์ โดยห้วงเวลานั้น รัฐมนตรีกระทรวงพลังงาน มีชื่อว่า นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ผู้ซึ่งนั่งในตำแหน่งประธานบอร์ด ปตท. ในเวลานี้นั่นเอง
นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธานในพิธีเปิดจำหน่าย บางจากแก๊สโซฮอล์ E20 นายวีระศักดิ์ พึ่งรัศมี อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กระทรวงพลังงาน
สำหรับธุรกิจพลังงานของ ศิริธัช กับ หม่อมอุ๋ย ที่เปิดหน้าจาก บจ.บุญอเนก นั้น ในเวลาต่อมาได้เปลี่ยนรูปแปลงร่าง โดยบริษัทซีออร์ส จำกัด (มหาชน) ได้เข้ามาซื้อหุ้น บจ.บุญอเนก จากนั้น ซีฮอร์ส ซึ่งทำธุรกิจส่งออกอาหารทะเลแช่แข็งและอาหารทะเลกระป๋อง ได้ยุติธุรกิจอาหารทะเล หันมาทำธุรกิจพลังงานทดแทนเต็มตัว และเปลี่ยนชื่อบริษัทเป็นบริษัท อีเทอเนิล เอนเนอยี จำกัด (มหาชน) (EE - Ethanol Energy)โดยทั้งสามบริษัทนี้ ผู้ถือหุ้นตัวจริงเสียงจริงคือ บิ๊กคอม-ลิงค์

เว็บไซต์สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ รายงาน ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ EE ณ วันที่ 15 มีนาคม 2560 ใน 3 อันดับแรก ประกอบด้วย 1.บริษัท คอม-ลิงค์ จำกัด 636,099,800 หุ้น สัดส่วน 22.88% 2. นาย วรเจตน์ อินทามระ 600,000,000 หุ้น สัดส่วน 21.58% 3.นายศิริธัช โรจนพฤกษ์ 418,688,100 หุ้น สัดส่วน 15.06% มีนาย บวรศักดิ์ อุวรรณโณ เป็นประธานกรรมการ/กรรมการอิสระ และ นาย ศิริธัช โรจนพฤกษ์ ดำรงตำแหน่งประธานกรรมการบริหารและกรรมการผู้จัดการ (รักษาการ) / กรรมการ

สำหรับ คอม-ลิงค์ ที่เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ใน EE มีใครอยู่บ้าง แน่นอน ย่อมมี ศิริธัช - หม่อมอุ๋ย อยู่ด้วย โดยข้อมูล ณ วันที่ 28 มกราคม 2559 กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ปรากฏรายชื่อผู้ถือหุ้น 5 อันดับแรก ดังนี้ 1.นายสันติ ภิรมย์ภักดี 1,750,000 หุ้น สัดส่วน 17.50% 2.น.ส. จุติพร สุขศรีวงศ์ 1,444,900 หุ้น สัดส่วน 14.45% 3. นายศิริธัช โรจนพฤกษ์ 1,017,500 หุ้น สัดส่วน10.18% 4. นางสุพิน โรจนพฤกษ์ 931,250% สัดส่วน 9.31% และ 5. ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล 833,750 หุ้น สัดส่วน 8.34%

สำนักข่าวค่ายบางนา เคยเขียนถึง ศิริธัช ไว้ในเรื่อง “สูตรรวยเจ้าพ่อ คอม-ลิงค์ ศิริธัช โรจนพฤกษ์” ในช่วงก่อร่างสร้าง EE ว่า ในปี 2557 อีเทอเนิล เอนเนอยี จะเริ่มมีกำไรสุทธิเป็นปีแรกประมาณ 300 ล้านบาท บนประมาณการรายได้ก้าวกระโดด เป็น 4,435 ล้านบาท บนสมมติฐานระยะเวลาในการคืนทุน 8.35 ปี อัตราผลตอบแทนเฉลี่ยต่อปี (IRR) ที่ 17.25% บนประมาณการราคาขายเอทานอลเฉลี่ยอยู่ที่ลิตรละ 28.52 บาท

ขณะที่ ศิริธัช โรจนพฤกษ์ ประธาน เจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.อีเทอเนิล เอนเนอยี เชื่อว่าอนาคตบริษัทจะสดใส เผลอๆ จะทำได้ดีกว่าที่บริษัท แคปปิตอล พลัส แอดไวซอรี่ ประมาณการไว้ด้วย เพราะที่ปรึกษาทางการเงินอิสระเขาประเมินผลประกอบการเพียงแค่ 70% ส่วนตัวคิดว่า 100% เราทำได้มันไม่ใช่เรื่องยากอะไร ตลาดในประเทศเราก็มีลูกค้าอยู่แล้ว ล่าสุดก็เซ็นสัญญาขายเอทานอลให้กับ ปตท. ขณะที่ตลาดต่างประเทศอย่างจีน ก็เล็งจะส่งไปขายด้วย

“เราใช้เวลาหลายปีในการศึกษาโครงการนี้ ผมจึงมั่นใจว่าดีแน่นอน ถามว่าที่ผ่านมาเหนื่อยมั้ย! ผมว่ามันกำลังจะเริ่มเหนื่อยมากกว่า ธุรกิจที่ทำมันมีความเสี่ยงก็จริงแต่มันเสี่ยงน้อยที่สุด และคุ้มค่ามากด้วย” ศิริธัช มั่นใจสุดๆ”

แต่คนคำนวณมิสู้ฟ้าลิขิต เมื่อราคาน้ำมันดำดิ่งปักหัวลง โครงการของ EE จำเป็นต้องชะลอแผน และ EE หันไปร่วมลงทุนในธุรกิจผลิตไฟฟ้าและไอน้ำ โดยมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้า กับ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ซึ่งในแวดวงนักลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ต่างรับรู้กันดีว่า หุ้น EE ร้อนแรงสวนทางพื้นฐาน เคยถูกลากขึ้นยอดดอยในช่วงปลายเดือนเมษายน 2559 ก่อนเข้าข่ายมาตรกำกับการซื้อขายหุ้นชั่วคราว

เห็นแล้วใช่ไหมว่าข้อต่อเชื่อมทุนพลังงานของ "หม่อมอุ๋ย คอนเนกชัน" นั้น ไม่ธรรมดา

ไม่ธรรมดาระดับไหน “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พี่ใหญ่ของ “บูรพาพยัคฆ์” ซึ่งจัดได้ว่าเป็นผู้ทีมีคอนเนกชันทั้งลึกและกว้างและทั้งในแวดวงทหารธุรกิจและแวดวงตำรวจด้วย และเป็นแกนกลางของ “เซนต์คาเบรียลเน็ตเวิร์ก” ทั้ง ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล และ ศิริธัช โรจนพฤกษ์ บิ๊กคอม-ลิงค์ ก็อยู่ในกลุ่มนี้ อาจจะเป็นอีกคนหนึ่งที่ให้คำตอบได้

ไม่แต่ บิ๊กป้อม เท่านั้น แม้กระทั่งนักกฎหมายมือหนึ่งของประเทศไทย ทั้ง ดร.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ และนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ที่ปรึกษด้านกฎหมายของ คสช. อาจจะพอบรรยายสรรพคุณของ “ข้อต่อทุนพลังงาน” เพื่อนเลิฟหม่อมอุ๋ย คนสำคัญนี้ได้ เพราะ ดร.บวรศักดิ์ เวลานี้นั่งอยู่ในตำแหน่งประธานกรรมการ/กรรมการอิสระของคอม-ลิงค์

ส่วนนายวิษณุ เครืองาม นั้น สำนักข่าวอิศรา ได้เจาะคอนเนกชันของมือกฎหมายใหม่ ก่อนนั่งเป็นที่ปรึกษาพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ร่างรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวฯ ผู้ตรวจคุณสมบัติของ สนช. ว่า นายวิษณุ นั่งเป็นกรรมการในธุรกิจ 11 แห่ง โดยหนึ่งในนั้นคือ บริษัท เงินทุนกรุงเทพธนาทร จำกัด (มหาชน) ทุน 1,500 ล้านบาท ธุรกิจเงินลงทุนของ นาย ศิริธัช โรจนพฤกษ์

และที่ขาดไม่ได้ก็คือการเข้าสู่ “เบ้าหลอมความคิด” ผ่าน “สถาบันวิทยาการพลังงาน (วพน.)” ที่กระทรวงพลังงาน จัดตั้ง โดยมีกลุ่มทุนพลังงาน เป็นสปอนเซอร์ใหญ่ เพื่อให้ผู้บริหารระดับสูงของประเทศนี้จากแทบทุกวงการ มีความเข้าอกเข้าใจเรื่องพลังงานอย่างรอบด้านไปในทิศทางเดียวกัน

และแน่นอน วพน. ก็เป็นอีกสถาบันหนึ่งที่เชื่อมต่อคอนเนกชัน เช่นเดียวกันกับการเข้าเรียนหลักสูตรวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร (วปอ.) หรือ สถาบันพระปกเกล้า ฯลฯโดยรุ่นที่ฮือฮาที่สุดของ วพน. ก็คือ วพน.รุ่น 5 ที่พรักพร้อมไปด้วยบิ๊กธุรกิจ ข้าราชการ สื่อ และพีอาร์ โดยหนึ่งในรายชื่อของ วพน.รุ่น 5 ที่มีทั้งสิ้น 75 คน ก็คือรายชื่อลำดับที่ 53. นายศิริธัช โรจนพฤกษ์ ประธาน บริษัท อีเทอเนิล เอนเนอยี จำกัด (มหาชน) (ผลิตเอทานอล)

ปฏิบัติการล้มบรรษัทพลังงานแห่งชาติ ของ “หม่อมอุ๋ย คอนเนกชัน” จึงก่อให้เกิดประโยชน์อันมากมายมหาศาลต่อกลุ่มทุนพลังงานหน้าเดิม คำตอบในเรื่องนี้ มีความชัดเจนมากจากบิ๊กกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ที่เตรียมเปิดประมูลแหล่งก๊าซฯเอราวัณ กับ บงกช ในเดือนกรกฎาคม 2560 นี้

“.... เงื่อนไขสำคัญคือจะต้องเป็นผู้ที่มีความเชี่ยวชาญการผลิตปิโตรเลียม รวมถึงการรักษาความต่อเนื่องอัตราการผลิตก๊าซฯ จาก 2 แหล่ง ..... เอกชนรายใหม่สามารถเข้าร่วมประมูลได้อยู่แล้ว แต่ก็ยอมรับว่าหากผลประมูลออกมาได้รายเก่า การผลิตก๊าซฯ ก็จะต่อเนื่องและสามารถเพิ่มระดับการผลิตให้สู่ปกติ 2,500 ล้าน ลบ.ฟุตต่อวันในปี 2567-2568 แต่ถ้ารายใหม่ก็จะเป็นปัญหาการผลิตอาจไม่ต่อเนื่องได้โดยกว่าจะทำได้ระดับปกติจะอยู่ที่ปี 2570-2571” นายวีระศักดิ์ พึ่งรัศมี อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ บอกข้อสอบล่วงหน้า รายใหม่อย่าเสียเวลาให้ยาก เจ้าเก่า เชฟรอน กับ ปตท.สผ. สิงสถิตอยู่ในดวงใจบิ๊กกรมเชื้อเพลิงฯ ไม่แปรเปลี่ยน

ถัดจากนั้น อีก 3-4 เดือน บิ๊กกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ คาดว่าจะเปิดสำรวจและผลิตแหล่งปิโตรเลียม 29 แปลง เป็นลำดับถัดไป แต่ไม่ว่าจะเปิดภายใต้ระบบไหน สัมปทาน แบ่งปันผลผลิต (PSC) หรือสัญญาจ้างบริการ (SC) การบริหารจัดการปิโตรเลียมที่ได้ก็ยังอยู่ในมือของกลุ่มทุนพลังงานขาใหญ่เช่นเดิม

นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ก็วิเคราะห์ว่าจะเป็นเช่นนั้น ดังข้อความจากเฟซบุ๊กแฟนเพจ Thirachai Phuvanatnaranubala ที่โพสต์ข้อความเมื่อวันที่ 4 เมษายน 2560ว่า " ..... ประเด็นสุดท้าย ในระบบแบ่งปันผลผลิต กระทรวงพลังงานจะตัดสินคัดเลือกผู้ชนะ จากการเปรียบเทียบสัดส่วนที่บริษัทเอกชนเสนอจะแบ่งให้รัฐบาล หรือลำเอียงช่วยเหลือเอกชนบางแห่งหรือไม่

       “คำตอบสำหรับข้างต้นสำคัญมาก แม้อธิบดีกรมเชื้อเพลิง ระบุว่า การประมูลจะเปิดกว้างให้นักลงทุนในประเทศ และต่างประเทศ เช่น ตะวันออกกลาง และจีน แต่กล่าวด้วยว่า “ผู้ที่จะเข้าร่วมประมูลไม่ใช่ใครก็ได้ แต่ต้องเป็นผู้มีประสบการณ์มาก่อน โดยเอกชนรายใหม่อาจจะเข้าร่วมเป็นพาร์ตเนอร์กับผู้รับสัมปทานเดิม หรือเอกชนรายใหม่จะต้องเคยร่วมเป็นพาร์ตเนอร์กับผู้รับสัมปทานในแหล่งอื่นมาก่อน”

เงื่อนไขที่บังคับให้เอกชนรายใหม่ต้องเข้าร่วมเป็นพาร์ตเนอร์กับผู้สัมปทานรายเดิม เป็นการสร้างเงื่อนไขเอื้อประโยชน์ให้กับรายเดิม

ดีลลับล้มบรรษัทพลังงานแห่งชาติ คราวนี้ เท่ากับการยิงปืนนัดเดียวได้นกทั้งฝูง


กำลังโหลดความคิดเห็น