สมาคมธนาคารไทย เผยการตั้งแบงกิ้งเอเยนต์ต้องพิจารณารอบคอบ สอดคล้องกับพฤติกรรมของลูกค้า ชี้แนวโน้มคนมาสาขาแบงก์น้อยลง มาเพื่อแสดงตัวตนในการเปิดบัญชี เผยจำนวนธุรกรรมผ่านเคาน์เตอร์ธนาคาร และตู้ ATM ลดลง เหลือเพียงร้อยละ 17
นายปรีดี ดาวฉาย กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) และประธานสมาคมธนาคารไทย กล่าวถึงกรณีที่ธนาคารแห่งประเทศไทย อนุญาตให้ธนาคารพาณิชย์แต่งตั้งร้านสะดวกซื้อ เป็นตัวแทนธนาคาร หรือแบงกิ้งเอเยนต์ว่า ขณะนี้แต่ละธนาคารอยู่ในขั้นตอนการศึกษา เนื่องจากมีหลายปัจจัยที่ต้องพิจารณาให้รอบคอบ โดยเฉพาะการบริหารความเสี่ยง ซึ่งหากแบงกิ้งเอเยนต์ทำความเสียหาย ธนาคารก็ต้องเป็นผู้รับผิดชอบ อีกทั้งต้องประเมินถึงต้นทุน และพฤติกรรมของลูกค้า เนื่องจากปัจจุบันก็มีช่องทางการชำระเงินผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งเป็นที่นิยมในปัจจุบัน แต่แบงกิ้งเอเยนต์ก็เป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่มีความจำเป็นต่อลูกค้าบางกลุ่ม บางพื้นที่
ด้านนายอนุชิต อนุชิตานุกูล ประธานสายพัฒนาระบบงาน ช่องทางขายและผลิตภัณฑ์ ธนาคารเกียรตินาคิน จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การมีแบงกิ้งเอเยนต์เป็นสิ่งที่ดี ที่จะทำให้การบริการครอบคลุมทุกพื้นที่มากขึ้น ซึ่งขณะนี้รูปแบบสาขาของธนาคารพาณิชย์มีการเปลี่ยนแปลงไป ลดจำนวนสาขา และลดจำนวนพนักงาน และหันมาใช้บริการทางการเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ โมบายล์แบงกิ้งแทน ดังนั้น จากนี้ สาขาธนาคารต้องตอบโจทย์ลูกค้าเฉพาะกลุ่ม เช่น ลูกค้าเอสเอ็มอี ลูกค้ากลุ่มเวลท์ หรือประชาชนอาจจะมาสาขาเพื่อทำการเปิดบัญชีเท่านั้น เพราะต้องมีการแสดงตัวตน
ขณะที่ข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศไทย พบว่าจำนวนธุรกรรมที่ประชาชนทำผ่านเคาน์เตอร์ธนาคาร และตู้ ATM ลดลงจากประมาณ ร้อยละ 41 ของธุรกรรมทั้งหมดในปี 2553 เหลือเพียงร้อยละ 17 ในปัจจุบัน ขณะที่ธุรกรรมผ่านโทรศัพท์มือถือ และอินเทอร์เน็ต เพิ่มขึ้นจากประมาณร้อยละ 15 เป็นร้อยละ 66 ในช่วงเวลาเดียวกัน โดยสาเหตุที่ประชาชนหันมาทำธุรกรรมออนไลน์มากขึ้นมี 2 ประการ ได้แก่ หนึ่ง กระแสเทคโนโลยียุค 4.0 ที่ทำให้การใช้โทรศัพท์มือถือ มีมากขึ้น และการนำเสนอบริการพร้อมเพย์ หรือการโอนเงินและรับโอนเงินที่ผูกบัญชีเงินฝากธนาคารเข้ากับหมายเลขบัตรประชาชน หรือโทรศัพท์มือถือ ตามโครงการ National e-Payment ของภาครัฐ ซึ่งช่วยลดค่าธรรมเนียมในการโอนเงิน ได้รับการตอบรับจากประชาชนเป็นจำนวนมาก โดยมูลค่าสะสมการทำธุรกรรมโอนเงินผ่านบริการพร้อมเพย์ล่าสุด อยู่ที่ 400,000 ล้านบาท และมีผู้ลงทะเบียนพร้อมเพย์ของบุคคลธรรมดาแล้ว 37 ล้านบัญชี และของนิติบุคคลอีก 45,000 บัญชี