ทรีนีตี้ ชี้ตลาดหุ้นที่ปรับตัวลงเป็นเพียงการปรับฐานของตลาดที่อยู่ในภาวะกระทิง (Bull market) เชื่อหลังจากนี้ตลาดจะผันผวนน้อยลง ชี้ หากมีแรงขายแพนิกออกมากดดัชนีให้ปรับตัวลงแรง ๆ อีก เป็นโอกาสดีในการเลือกซื้อหุ้น พร้อมเปิดโพยหุ้นหลุมหลบภัยระยะสั้น ได้แก่ กลุ่มหุ้นปันผลสูง
นายณัฐชาต เมฆมาสิน ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล. ทรีนีตี้ เปิดเผยว่า ตลาดหุ้นไทยที่แกว่งตัวผันผวน และปรับตัวลงในช่วงที่ผ่านมานั้น เป็นการปรับตัวสอดคล้องกับตลาดหุ้นทั่วโลก โดยมีปัจจัยกดดันที่สำคัญ คือ ความกังวลของนักลงทุนต่อการขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ในปีนี้จากเดิมมองว่า 1 ครั้งกว่า ๆ เพิ่มมาเป็น 3 ครั้ง
ประกอบกับตัวเลขเศรษฐกิจและเงินเฟ้อคาดการณ์ของสหรัฐฯ ที่ปรับตัวสูงขึ้น ทำให้นักลงทุนแห่ขายพันธบัตร จนทำให้ Bond yield หรืออัตราผลตอบแทนพันธบัตรของสหรัฐฯ ปรับตัวสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ จึงเป็นแรงจูงใจให้นักลงทุนที่รอจังหวะอยู่ ทยอยโยกเงินออกจากสินทรัพย์เสี่ยงทั่วโลกเข้าสู่ตราสารหนี้สหรัฐฯ ซึ่งถือเป็นการปรับพอร์ตโฟลิโอรอบใหญ่ จึงทำให้เกิดความผันผวนสูง และกระตุ้นให้เกิดแรงขายเชิงโมเมนตัมจากกองทุนประเภท Hedge fund และ Volatility fund ยิ่งเป็นแรงกดดันซ้ำเติม
อย่างไรก็ตาม นายณัฐชาต กล่าวว่า ประเมินว่าตลาดหุ้นทั่วโลกหลังจากนี้จะเผชิญกับความผันผวนที่น้อยลง ยกเว้นเสียว่า Bond yield สหรัฐฯ จะปรับตัวกระโดดขึ้นมาอีก แต่ไม่คิดว่าจะเกิดขึ้น เนื่องจากที่ระดับปัจจุบัน ได้สะท้อน หรือ Price in การขึ้นดอกเบี้ยของ Fed 3 ครั้งในปีนี้ไปแล้ว และไม่คิดว่า Fed จะมีการขึ้นดอกเบี้ยมากกว่านี้อีก
“มองว่าการปรับลงของตลาดเป็นเพียงการปรับฐานในตลาด Bull market หรือตลาดที่อยู่ในภาวะกระทิง หากมีแรงขายด้วยความตื่นตระหนก (Panic sell) ขึ้นมาอีก จนทำให้ดัชนีหุ้นไทยปรับตัวลงรุนแรงเป็นโอกาสที่ดีในการเข้าลงทุน โดยเฉพาะนักลงทุนระยะยาวที่ถือเงินสดมากกว่าระดับปกติในช่วงที่ผ่านมา เนื่องจากราคาหุ้นได้ตอบรับข่าวร้ายไปมากแล้ว สะท้อนจาก VIX Index ซึ่งเป็นดัชนีสะท้อนความผันผวนของตลาดที่ปรับตัวสูงขึ้นสู่ระดับสูงสุดนับตั้งแต่ปี 2554 ซึ่งเป็นช่วงที่เกิดปัญหาวิกฤตหนี้สาธารณะยุโรป แต่ขณะนี้ไม่ได้มีวิกฤตเศรษฐกิจใด ๆ เกิดขึ้น”
นายณัฐชาต ยังระบุว่า มองว่าการปรับลงของตลาดมีระดับแนวรับสำคัญอยู่ 2 ระดับ ได้แก่ แนวรับแรกที่ระดับ 1,750-1,760 จุด เนื่องจากเป็นระดับต้นทุนดัชนีของนักลงทุนสถาบันในประเทศ ที่เข้ามาซื้อหุ้นอย่างหนักในช่วงต้นเดือนธันวาคม และมีแนวรับที่สองที่ 1,700 จุด เนื่องจากเป็นระดับที่น่าสนใจในแง่ของ Valuation เพราะซื้อขายด้วย Forward PE ปี 2562 ที่ 14 เท่า ซึ่งเป็นระดับที่ค่อนข้างมีเสถียรภาพในเชิงของ Valuation
ขณะที่ปัจจัยบวกที่จะหนุนให้ตลาดไปต่อได้ คือ ทิศทางค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ที่ไม่น่าแข็งค่าขึ้นไปกว่านี้มากแล้ว ทำให้สกุลเงินประเทศเกิดใหม่ทรงตัวแข็งค่าได้ต่อไป ขณะที่ Bond yield ของไทยที่ยังทรงตัวอยู่ได้ โดยล่าสุด พันธบัตรรัฐบาลรุ่นอายุ 10 ปี อยู่ที่ระดับ 2.4% ซึ่งเป็นระดับที่ยังไม่จูงใจให้นักลงทุนในประเทศโยกเงินออกจากตลาดหุ้นไปยังตลาดตราสารหนี้มากนัก รวมถึงสภาพคล่องในประเทศที่ยังคงอยู่ในระดับสูง โดยล่าสุด เดือนธันวาคม ปริมาณเงินในประเทศ (M2) ขยายตัวถึง 5.2% ถือเป็นระดับสูงสุดในรอบ 26 เดือน เป็นอานิสงส์ต่อราคาสินทรัพย์ต่าง ๆ
ในส่วนของปัจจัยเสี่ยงที่เป็นตัวจำกัดดัชนีไม่ให้ขึ้นไปทดสอบจุดสูงสุด หรือ High เดิมที่ระดับ 1,840-1,850 จุด ได้แก่ Bond yield สหรัฐฯ ที่ยังคงอยู่ในระดับสูง (ล่าสุด รุ่นอายุ 10 ปี อยู่ที่ระดับ 2.8%) เมื่อมาประกอบกับประมาณการ EPS (อัตราส่วนกำไรสุทธิต่อหุ้น) ของตลาดหุ้นไทยที่ยังคงไม่ถูกปรับขึ้นทั้งในส่วนของปี 2561 และ 2562 จึงทำให้ Valuation ของดัชนหุ้นไทยในมิติ Earning yield gap ยังไม่น่าสนใจนัก คาดว่าจะยังไม่เห็น Fund flow ไหลเข้ามาอย่างมีนัยสำคัญ
นอกจากนี้ ติดตามประเด็นความเสี่ยงภูมิศาสตร์การเมืองในระยะสั้นที่อาจเกิดขึ้นได้จากการจัดการเลือกตั้งที่ประเทศอิตาลี ในวันที่ 4 มีนาคม ซึ่งล่าสุด คะแนนนิยมของพรรคฝ่ายขวาจัด เริ่มสูงขึ้นตามลำดับ ซึ่งพรรคเหล่านี้มีแนวคิดต่อต้าน และกีดกันผู้อพยพอย่างรุนแรง หากมีความวุ่นวายมากขึ้น มองอาจทำให้ตลาดทุนทั่วโลกโดยเฉพาะตลาดหุ้นยุโรปปรับตัวผันผวนได้
ในสภาวะที่ตลาดยังต้องเผชิญกับความท้าทายมากมาย นายณัฐชาต แนะนำ Theme การลงทุนที่เหมาะจะเป็นหลุมหลบภัย ได้แก่ กลุ่มหุ้นปันผลสูง ซึ่งน่าจะเป็นกลุ่มที่มี Downside จำกัดกว่าตลาด ได้แก่ กลุ่มที่อยู่อาศัย (AP, LH) กลุ่มโรงกลั่น (IRPC, SPRC, TOP) และกลุ่มธนาคารเช่าซื้อ (KKP, TISCO)