xs
xsm
sm
md
lg

แบงก์ชาติ คาดจีดีพีปี 61 โต 4% เตรียมทบทวนประมาณการใหม่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


แบงก์ชาติ ระบุตัวการขยายตัวของเศรษฐกิจในปี 61 เติบโต 4.0% ผลจากปัจจัยการบริโภคภาคเอกชนจะเป็นตัวหนุน เตรียมทบทวนประมาณการเศรษฐกิจปี 61 ใหม่ ด้านเศรษฐกิจเดือนธันวาคม เติบโตต่อเนื่อง ผลมาจากการส่งออก และการท่องเที่ยว ขยายตัวเพิ่มขึ้นตามต่างประเทศ

นายดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบายเศรษฐกิจการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ธปท. ได้ติดตามตัวเลขเศรษฐกิจอย่างใกล้ชิต ที่ผ่านมา การส่งออกและการท่องเที่ยวของไทยเติบโตต่อเนื่อง รวมถึงแรงหนุนจากภาครัฐที่จะมีการลงทุนโครงการขนาดใหญ่ และการเบิกจ่ายงบประมาณในปีนี้จะเป็นแรงผลักดันให้ตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจอาจจะขยายถึง 4.0% ตามที่กระทรงการคลังได้ประเมินไว้ ในส่วนของ ธปท. นั้นขอดูตัวเลขอื่น ๆ ในเดือนมกราคม และกุมภาพันธ์ ให้ชัดเจนกว่านี้ก่อน แล้วจะมีการทบทวนประมาณการณ์ตัวเลขเศรษฐกิจอีกครั้งหนึ่ง

สำหรับเศรษฐกิจไทยในเดือนธันวาคม 2560 ขยายตัวต่อเนื่อง จากการส่งออกสินค้า และภาคการท่องเที่ยว ที่ขยายตัวดีตามอุปสงค์ต่างประเทศที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้การผลิตภาคอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับการส่งออกสินค้าขยายตัว การบริโภคภาคเอกชนขยายตัวต่อเนื่อง ด้านการลงทุนภาคเอกชนทรงตัวใกล้เคียงกับเดือนก่อน ขณะที่การใช้จ่ายภาครัฐหดตัวจากรายจ่ายลงทุนเป็นสำคัญ

ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปชะลอลงตามราคาพลังงาน และอาหารสด อัตราการว่างงานที่ปรับฤดูกาลทรงตัวจากเดือนก่อน ขณะที่ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลตามรายรับจากภาคการส่งออก และการท่องเที่ยว รายละเอียดของภาวะเศรษฐกิจไทยมีดังนี้ มูลค่าการส่งออกสินค้าขยายตัวดีต่อเนื่องที่ 9.3% จากระยะเดียวกันปีก่อน โดยเป็นการขยายตัวต่อเนื่องในทุกตลาดส่งออกสำคัญ และเกือบทุกหมวดสินค้า เนื่องจากอุปสงค์ต่างประเทศที่ดีขึ้นต่อเนื่อง อาทิ การส่งออกข้าว ผลิตภัณฑ์ยางพารา อุปกรณ์สื่อสารและโทรคมนาคม ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์ และชิ้นส่วนยานยนต์ ราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ปรับเพิ่มขึ้น ส่งผลให้การส่งออกสินค้าที่ราคาเคลื่อนไหวตามน้ำมันดิบขยายตัว โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม และผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมี และการขยายกำลังการผลิตในบางอุตสาหกรรมในช่วงก่อนหน้า อาทิ ฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ส่งผลให้การผลิตภาคอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับการส่งออกสินค้าขยายตัวสอดคล้องกันทั้งการผลิตหมวดยานยนต์ ผลิตภัณฑ์ยาง และปิโตรเคมี จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศ ขยายตัว 15.5% จากระยะเดียวกันปีก่อน โดยจำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นในเกือบทุกสัญชาติโดยเฉพาะจากจีน ซึ่งยังคงมีผลจากฐานต่ำในระยะเดียวกันปีก่อนที่มีการปราบปรามทัวร์ผิดกฎหมาย ขณะที่จำนวนนักท่องเที่ยวรัสเซีย เพิ่มขึ้นตามแนวโน้มเศรษฐกิจที่ฟื้นตัว เมื่อปรับฤดูกาลแล้ว จำนวนนักท่องเที่ยวขยายตัวร้อยละ 3.2 จากเดือนก่อน ตามจำนวนนักท่องเที่ยวจีน และมาเลเซีย เป็นสำคัญ เครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนขยายตัวชะลอลงตามการใช้จ่ายในหมวดบริการ ขณะที่หมวดสินค้าไม่คงทน และหมวดสินค้ากึ่งคงทนหดตัว ส่วนหนึ่งจากผลของฐานสูงในปีก่อนที่มีมาตรการกระตุ้นการใช้จ่าย และการท่องเที่ยวในช่วงปลายปี

สำหรับปัจจัยสนับสนุนกำลังซื้อโดยรวมยังไม่เข้มแข็ง และทั่วถึงนัก สะท้อนจากรายได้ครัวเรือนในภาคเกษตรกรรมที่หดตัวจากระยะเดียวกันปีก่อน และรายได้นอกภาคเกษตรกรรมที่มีทิศทางลดลงจากเดือนก่อน

ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ 0.78% ชะลอลงจาก 0.99% ในเดือนก่อนตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ขยายตัวชะลอลงจากผลของฐานราคาน้ำมันดิบที่เริ่มสูงขึ้นในปลายปีก่อน ประกอบกับราคาอาหารสดโดยเฉพาะราคาผัก ผลไม้ และเนื้อสัตว์ ยังคงหดตัวหลังจากปริมาณผลผลิตออกสู่ตลาดมาก อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ 0.62% ทรงตัวใกล้เคียงกับเดือนก่อนตามอุปสงค์ในประเทศที่ขยายตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป

สำหรับอัตราการว่างงานที่ปรับฤดูกาลทรงตัวจากเดือนก่อน ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลต่อเนื่องตามรายรับจากภาคการส่งออก และภาคการท่องเที่ยว ที่ขยายตัวดี ดุลบัญชีเงินทุนเคลื่อนย้ายขาดดุลสุทธิจากด้านสินทรัพย์เป็นสำคัญ จาก 1) การออกไปลงทุนโดยตรงในต่างประเทศโดยเฉพาะของธุรกิจการผลิตอาหารและเครื่องดื่ม 2) การเพิ่มเงินฝากในต่างประเทศของสถาบันการเงินที่รับฝากเงินเพื่อปรับฐานะเงินตราต่างประเทศ และ 3) การให้สินเชื่อทางการค้าของผู้ส่งออกไทยกับคู่ค้าในต่างประเทศตามมูลค่าการส่งออกที่ขยายตัวดีเศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 4 มีแนวโน้มขยายตัวดีต่อเนื่องจากไตรมาสที่ 3 โดยมีแรงขับเคลื่อนหลักจากการส่งออกสินค้าที่ขยายตัวดีในทุกตลาดส่งออกสำคัญ และเกือบทุกหมวดสินค้า และภาคการท่องเที่ยว ที่ขยายตัวดี

สำหรับการบริโภคภาคเอกชนขยายตัวต่อเนื่อง โดยเฉพาะการใช้จ่ายในหมวดสินค้าคงทน และหมวดบริการ ทั้งนี้ การส่งออกสินค้าและการบริโภคภาคเอกชนที่ขยายตัว ส่งผลให้การผลิตภาคอุตสาหกรรมขยายตัวตาม ด้านการลงทุนภาคเอกชนปรับดีขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป อย่างไรก็ตาม การใช้จ่ายภาครัฐหดตัวจากรายจ่ายลงทุนเป็นสำคัญ


กำลังโหลดความคิดเห็น