แบงก์ชาติ เผยเศรษฐกิจไทยประจำเดือน พ.ค. 60 ขยายตัวต่อเนื่อง สืบเนื่องจากการส่งออก ท่องเที่ยวขายตัว บวกกับภาคอุตสาหกรรมปรับตัวดีขึ้น สวนทางการใช้จ่ายภาครัฐชะลอตัวลง และการลงทุนภาคเอกชนยังทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ
นายดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยถึงภาวะเศรษฐกิจไทยในเดือน พ.ค. 60 ขยายตัวต่อเนื่อง โดยการส่งออกขยายตัวดีในหลายหมวดสินค้า เช่นเดียวกับภาคการท่องเที่ยวที่เติบโตดี สอดคล้องกับอุปสงค์ต่างประเทศที่ดีขึ้นต่อเนื่อง ส่งผลให้การผลิตภาคอุตสาหกรรมปรับดีขึ้น ด้านการบริโภคภาคเอกชนขยายตัวจากหมวดบริการเป็นสำคัญ ขณะที่การใช้จ่ายภาครัฐชะลอลงต่อเนื่องตามรายจ่ายลงทุน ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนยังทรงตัวในระดับต่ำ
สำหรับด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปชะลอลงต่อเนื่องตามราคาอาหารสด สำหรับอัตราการว่างงานที่ปรับฤดูกาลทรงตัวจากเดือนก่อน ขณะที่ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลต่อเนื่องตามรายรับจากภาคการส่งออก
ทั้งนี้ ในเดือน พ.ค. 60 มูลค่าการส่งออกสินค้าขยายตัวต่อเนื่องที่ 10.6% จากระยะเดียวกันปีก่อน และหากหักทองคำขยายตัว 14.1% ตามการขยายตัวในหลายหมวด ได้แก่
1. สินค้าอิเล็กทรอนิกส์และทัศนูปกรณ์ โดยเฉพาะหมวดโทรศัพท์มือถือที่ขยายตัวต่อเนื่อง จากการย้ายฐานการผลิตจากญี่ปุ่นมายังประเทศไทย และการออกสมาร์ทโฟนรุ่นใหม่ และแผงวงจรรวม เพื่อใช้เป็นชิ้นส่วนในการผลิตอุปกรณ์ที่รองรับ Internet of Things (IoT)
2. สินค้าที่มูลค่าการส่งออกเคลื่อนไหวตามราคาน้ำมันดิบ ขยายตัวจากด้านปริมาณเป็นสำคัญตามการส่งออกผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม และปิโตรเคมีจากอุปสงค์จีน และอาเซียนที่เพิ่มขึ้น
3. สินค้าเกษตรแปรรูป ขยายตัวต่อเนื่องตามการส่งออกผลิตภัณฑ์ยางไปจีน และการส่งออกน้ำตาลไปอินโดนีเซีย
4. เครื่องจักรและอุปกรณ์ ขยายตัวดีในหลายหมวดสินค้า อาทิ คอมเพรสเซอร์ เครื่องปรับอากาศ และอุปกรณ์ไฟฟ้า จากอุปสงค์ที่เพิ่มขึ้นในหลายตลาดส่งออก
และ 5. สินค้าหมวดยานยนต์ ขยายตัวตามการส่งออกรถยนต์เชิงพาณิชย์รถจักรยานยนต์ และชิ้นส่วนยานยนต์ ขณะที่การส่งออกรถยนต์นั่งส่วนบุคคลยังหดตัวต่อเนื่อง
ทั้งนี้ การส่งออกสินค้าที่ปรับดีขึ้น ส่วนหนึ่งยังเป็นการระบายสินค้าคงคลัง และผลของฐานต่ำในบางหมวดสินค้า กอปรกับการผลิตเพื่อตอบสนองความต้องการในประเทศยังหดตัว ส่งผลให้โดยรวมการผลิตภาคอุตสาหกรรมปรับดีขึ้นไม่มากนัก
ด้านภาคการท่องเที่ยวขยายตัว 4.6% จากระยะเดียวกันปีก่อน และเมื่อปรับฤดูกาลเพิ่มขึ้น 1.5% จากเดือนก่อน โดยเป็นการขยายตัวของนักท่องเที่ยวในเกือบทุกกลุ่มสัญชาติ โดยเฉพาะจำนวนนักท่องเที่ยวจีนที่กลับมาอยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกับช่วงก่อนมีการปราบปรามทัวร์ผิดกฎหมาย เครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนขยายตัวต่อเนื่อง จากการใช้จ่ายหมวดบริการตามจำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้น
ส่วนการใช้จ่ายในหมวดสินค้าคงทนที่ขยายตัวตามการซื้อรถจักรยานยนต์เป็นสำคัญ สอดคล้องกับรายได้ และความเชื่อมั่นผู้บริโภคในภาคเกษตรกรรมที่อยู่ในเกณฑ์ดี ขณะที่รายได้นอกภาคเกษตรกรรมค่อนข้างทรงตัว
การใช้จ่ายภาครัฐที่ไม่รวมเงินโอนหดตัวเล็กน้อยจากระยะเดียวกันปีก่อน ตามรายจ่ายลงทุนที่มีการเร่งเบิกจ่ายไปมากช่วงก่อนหน้า โดยเฉพาะการลงทุนของกรมทางหลวง ในโครงการก่อสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง
อย่างไรก็ตาม รายจ่ายประจำขยายตัวได้ตามรายจ่ายค่าตอบแทนบุคลากร เครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชนทรงตัวในระดับต่ำ โดยการลงทุนในภาคก่อสร้างยังคงลดลงต่อเนื่องตามพื้นที่ได้รับอนุญาตก่อสร้าง และยอดจำหน่ายวัสดุก่อสร้างสอดคล้องกับการเปิดขายโครงการใหม่ที่ลดลงจากที่อยู่อาศัยแนวราบ อย่างไรก็ตาม การลงทุนในหมวดเครื่องจักรและอุปกรณ์ ปรับดีขึ้นตามการนำเข้าสินค้าทุน โดยเฉพาะหมวดโทรคมนาคม และหมวดพลังงาน หลังชะลอตัวมาตั้งแต่ต้นปี
มูลค่าการนำเข้าสินค้าขยายตัว 18.2% จากระยะเดียวกันปีก่อน และหากหักทองคำขยายตัว 17.9% ตามการขยายตัวในหลายหมวด ได้แก่ 1) หมวดวัตถุดิบ และสินค้าขั้นกลาง จากการนำเข้าชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์เพื่อใช้ผลิตสมาร์ทโฟน และชิ้นส่วนเพื่อผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้า รวมทั้งการนำเข้าเชื้อเพลิงที่ขยายตัว ทั้งด้านราคาจากราคาที่สูงขึ้นตามราคาน้ำมันดิบ และด้านปริมาณตามภาวะเศรษฐกิจที่ฟื้นตัว และ 2) หมวดสินค้าทุนที่ไม่รวมเครื่องบิน และแท่นขุดเจาะ ตามการนำเข้าเครื่องจักรและอุปกรณ์ในหมวดโทรคมนาคม สอดคล้องกับการลงทุนในหมวดดังกล่าว
ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปติดลบ 0.04% ชะลอต่อเนื่องจาก 0.38% ในเดือนก่อนตามราคาอาหารสดที่ลดลง โดยเฉพาะราคาผัก และผลไม้จากปริมาณผลผลิตที่ออกสู่ตลาดมากในปีนี้ และผลของฐานสูง เพราะภัยแล้งในปีก่อน ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานชะลอลงเล็กน้อย สำหรับอัตราการว่างงานที่ปรับฤดูกาลทรงตัวจากเดือนก่อน
ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลตามดุลการค้าที่เกินดุลจากมูลค่าการส่งออกสุทธิที่เพิ่มขึ้นเป็นสำคัญ ขณะที่ดุลบัญชีเงินทุนเคลื่อนย้ายขาดดุลสุทธิจาก 1) การออกไปลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศของนักลงทุนไทย ทั้งในตราสารหนี้ และตราสารทุน 2) การนำเงินออกไปฝากในต่างประเทศของสถาบันรับฝากเงิน เพื่อปรับฐานะเงินตราต่างประเทศ และการลงทุนของกองทุนรวม (Foreign Investment Fund : FIF) และ 3) การออกไปลงทุนโดยตรงในต่างประเทศของภาคธุรกิจไทย