xs
xsm
sm
md
lg

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เดินหน้าพัฒนาเกษตรไทยก้าวสู่สากล

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ศูนย์ข่าวภูเก็ต - กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ร่วมกับสภาเกษตรกร 7 จังหวัดภาคใต้ จัดสัมมนา “เกษตรกรและภาคเกษตรกรรมไทย ก้าวไกลสู่สากลด้วยนวัตกรรม” ที่จังหวัดภูเก็ต

วันนี้ (8 มี.ค.) นายถาวรวัฒน์ คงแก้ว ปลัดจังหวัดภูเก็ต เป็นประธานเปิดงานการสัมมนา เรื่อง “เกษตรและภาคเกษตรกรรมไทย ก้าวไกลสู่สากลด้วยนวัตกรรม” ซึ่งกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ร่วมกับสภาเกษตรกรภาคใต้ 7 จังหวัด ร่วมกันจัดขึ้น มีประธานสภาเกษตรกรภาคใต้ 7 จังหวัด วิทยากร ผู้ทรงคุณวุฒิ แขกผู้มีเกียรติ และผู้ร่วมสัมมนาเข้าร่วมในพิธีเปิด ณ โรงแรมรอยัลภูเก็ตซิตี้ อ.เมือง จ.ภูเก็ต

นายถาวรวัฒน์ คงแก้ว ปลัดจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า ในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา เศรษฐกิจภาคการเกษตรของประเทศไทย ผูกพันกับตลาดการค้าระหว่างประเทศค่อนข้างมาก พืชผลเศรษฐกิจที่สำคัญ เช่น ข้าว ยางพารา มันสำปะหลัง อ้อย ล้วนพึ่งพาการส่งออกเป็นหลัก และด้วยศักยภาพการผลิต คุณภาพ และมาตรฐานของผลิตผล และผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรที่ดี ได้ส่งผลให้ประเทศไทยเป็นผู้ส่งออกสินค้าเกษตร และอาหารรายใหญ่ของโลก สามารถส่งออกสินค้าเกษตร และอาหารหลายชนิดสูงเป็นอันดับต้นๆ ของโลก แต่จากการที่ประเทศคู่แข่งส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารของประเทศไทย มีการปรับปรุงพัฒนาตนเองดีขึ้นเป็นลำดับ และมีการได้เปรียบด้านต้นทุนการผลิต จึงมีแนวโน้มที่เกษตรกร และภาคเกษตรกรรมของประเทศไทยจะเผชิญการแข่งขันที่ทวีความรุนแรงมากขึ้นในอนาคต

การนำเทคโนโลยี ความคิดสร้างสรรค์ และนวัตกรรมมาเป็นกลไกในการขับเคลื่อนภาคเกษตรกรรม เป็น “เกษตรกรรม 4.0” จึงอาจเป็นหนทางเดียวที่จะช่วยให้เกษตรกรและภาคเกษตรกรรมของไทยสามารถคงความได้เปรียบ หรือมีความได้เปรียบในการแข่งขันเหนือประเทศคู่แข่งอื่นๆ ได้ต่อไป ถือเป็นความท้าทายที่สำคัญ โดยความสำเร็จในการขับเคลื่อนยกระดับเกษตรกรและภาคเกษตรกรรมของประเทศไทย เป็น “เกษตรกรรม 4.0” จะขึ้นกับเงื่อนไขที่สำคัญอย่างน้อย 3 ประการ ได้แก่ ประการแรก เกษตรกรจะต้องกล้าที่จะปรับเปลี่ยนตนเอง โดยปรับเปลี่ยนวิธีคิด และเปิดกว้างมุมมองไปสู่การคิดริเริ่มในสิ่งใหม่ๆ และกล้าที่จะเริ่มดำเนินการตามความคิดใหม่ๆ ของตนดังกล่าว โดยไม่ต้องรอคอยการช่วยเหลือจากภายนอก ประการที่สอง เกษตรกรจะต้องขับเคลื่อนการทำงานด้วยนวัตกรรม นำความคิดสร้างสรรค์ และเทคโนโลยี มาสร้างสรรค์เป็นผลผลิตและผลิตภัณฑ์ที่มีนวัตกรรม และมูลค่าเพิ่มสูง มีความแตกต่างจากผลผลิต และผลิตภัณฑ์ของคู่แข่งขัน และประการสุดท้าย เกษตรกรจะต้องยกระดับการผลิตของตนให้มีคุณภาพ และความปลอดภัยให้ได้มาตรฐานสากล สอดคล้องต่อความต้องการของผู้บริโภคในประเทศต่างๆ

ด้าน นายวัฒนพงศ์ ภูมิถาวร นักวิชาการพาณิชย์ชำนาญการพิเศษ กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า การจัดสัมมนาดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับทิศทางการพัฒนาภาคเกษตรกรรมที่จำเป็นต้องยกระดับสู่การเป็นเกษตรอุตสาหกรรม เกษตรนวัตกรรมเพื่อสามารถก้าวสู่ความเจริญก้าวหน้าอย่างเข้มแข็ง มั่นคงยั่งยืนในระยะยาว เพิ่มขีดความสามารถ และการแข่งขันของประเทศในปัจจุบันและอนาคต

ภายในงานยังมีเวทีเสวนาย่อยเรื่อง “แนวทางการปรับตัวเสริมสร้างความพร้อมของเกษตรและผู้เกี่ยวข้องสู่เกษตรกรรม 4.0” และ “การปรับปรุงรูปแบบการดำเนินธุรกิจ กระบวนการบริหารจัดการและการเพิ่มมูลค่าเพิ่มในกลุ่มเกษตร” โดยมีผู้เข้าร่วมสัมมนาประกอบด้วยผู้แทนสภาเกษตรกร 7 จังหวัดภาคใต้ จำนวน 150 คน
กำลังโหลดความคิดเห็น