xs
xsm
sm
md
lg

เศรษฐกิจไทยเดือน พ.ค. โตต่อเนื่อง จากแรงหนุนส่งออก ท่องเที่ยว และการบริโภค

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


สศค. เผยเศรษฐกิจไทยเดือน พ.ค. โตต่อเนื่อง จากแรงหนุนภาคส่งออก และท่องเที่ยว ขณะที่การบริโภคภาคเอกชนดีขึ้น สะท้อนจากการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มที่ขยายตัวเป็นบวก และรายได้ที่แท้จริงของเกษตรกรที่ยังคงขยายตัว

นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยรายงานภาวะเศรษฐกิจการคลังประจำเดือนพฤษภาคม 2560 โดยระบุว่า เศรษฐกิจไทยในเดือนพฤษภาคม 2560 มีสัญญาณการขยายตัวต่อเนื่อง โดยได้รับแรงขับเคลื่อนสำคัญจากการส่งออกที่ขยายตัวได้ในระดับสูงถึง 13.2% นอกจากนี้ การบริโภคภาคเอกชนมีสัญญาณปรับตัวดีสะท้อนจากการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มที่ขยายตัวเป็นบวก และรายได้ที่แท้จริงของเกษตรกรที่ยังคงขยายตัว และการท่องเที่ยวจากต่างประเทศที่ยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง

เครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคภาคเอกชนปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง สะท้อนจากภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ในเดือนพฤษภาคม 2560 ขยายตัว 7.6% ต่อปี และเมื่อปรับผลทางฤดูกาลขยายตัว 6.2% ต่อเดือน สอดคล้องกับปริมาณรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ในเดือนพฤษภาคม 2560 ขยายตัวต่อเนื่องที่ 15.4% ต่อปี และเมื่อปรับผลทางฤดูกาลขยายตัว 6.5% ต่อเดือน โดยเป็นผลจากยอดจดทะเบียนในเขต กทม. และในเขตภูมิภาค ตามลำดับ โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากรายได้เกษตรกรที่แท้จริงในเดือนพฤษภาคม 2560 ที่ขยายตัวต่อเนื่องที่ 5.1% ต่อปี ขณะที่ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์นั่งในเดือนพฤษภาคม 2560 ยังคงขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 ติดต่อกันที่ 4.4% ต่อปี สำหรับปริมาณนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคในเดือนพฤษภาคม 2560 กลับมาขยายตัวสูงถึง 10.2% ต่อปี และเมื่อปรับผลทางฤดูกาลขยายตัว 14.8% ต่อเดือน

สำหรับการลงทุนภาคเอกชนมีสัญญาณฟื้นตัวจากการลงทุนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักร สะท้อนจากปริมาณนำเข้าสินค้าทุนในเดือนพฤษภาคม 2560 ขยายตัวต่อเนื่องที่ 13.7% ต่อปี และเมื่อปรับผลทางฤดูกาลออกขยายตัว 5.9% ต่อเดือน ซึ่งสะท้อนแนวโน้มการลงทุนภาคเอกชนที่ดีขึ้น อย่างไรก็ตาม ปริมาณจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ในเดือนพฤษภาคม 2560 หดตัวเล็กน้อยที่ -1.7% ต่อปี ในขณะที่การลงทุนในหมวดก่อสร้าง สะท้อนจากภาษีการทำธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์ในเดือนพฤษภาคม 2560 กลับมาขยายตัวที่ 40.4% ต่อปี จากปัจจัยฐานต่ำหลังจากได้มีการเร่งโอนจากมาตรการลดค่าธรรมเนียมการโอน และการจดจำนองในช่วงต้นปี 2559

ด้านมูลค่าการส่งออกสินค้าขยายตัวได้ดีต่อเนื่อง โดยการส่งออกสินค้าในเดือนพฤษภาคม 2560 มีมูลค่า 19.9 พันล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวต่อเนื่องที่ 12.7% ต่อปี ทั้งนี้ หมวดสินค้าสำคัญที่สนับสนุนการส่งออกได้ดี ได้แก่ อิเล็กทรอนิกส์, เกษตรกรรม, ยานพาหนะอุปกรณ์และส่วนประกอบ, ผลิตภัณฑ์ยาง, เครื่องใช้ไฟฟ้า, เชื้อเพลิง, เม็ดพลาสติก, เคมีภัณฑ์, สินค้าอุตสาหกรรมเกษตรเป็นสำคัญ สำหรับประเทศที่ขยายตัวได้ดี ได้แก่ อาเซียน-9 จีน ญี่ปุ่น, สหภาพยุโรป, ฮ่องกง, สหรัฐอเมริกา เป็นสำคัญ สำหรับมูลค่าการนำเข้าในเดือนพฤษภาคม 2560 มีมูลค่า 19.0 พันล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวต่อเนื่องที่ 18.3% ต่อปี โดยกลุ่มสินค้าที่สนับสนุนการขยายตัวของการนำเข้า ได้แก่ วัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป, สินค้าทุน, สินค้าทุนหักรายการพิเศษ (เครื่องบิน เรือ รถไฟ), เชื้อเพลิง และสินค้าอุปโภคบริโภค เป็นสำคัญ ทั้งนี้ มูลค่าการส่งออกที่ขยายตัว และการนำเข้าที่ฟื้นตัวได้ดี ส่งผลให้ดุลการค้าในเดือนพฤษภาคม 2560 เกินดุลที่ 0.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ช่วง 5 เดือนแรก ปี 2560 ดุลการค้าเกินดุลที่ 5.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ)

เครื่องชี้เศรษฐกิจไทยด้านการผลิตได้รับปัจจัยสนับสนุนจากจำนวนนักท่องเที่ยว ชาวต่างประเทศที่เดินทางเข้าประเทศไทย โดยพบว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่เดินทางเข้าประเทศไทยในเดือนพฤษภาคม 2560 จำนวน 2.59 ล้านคน (ช่วง 5 เดือนแรก ปี 2560 จำนวน 14.61 ล้านคน) ขยายตัวต่อเนื่องที่ 4.6% ต่อปี โดยเป็นนักท่องเที่ยวจากจีน ซึ่งกลับมาขยายตัวครั้งแรกในรอบ 3 เดือน กลุ่มอินโดจีน (CLMV) เกาหลีใต้ และอินเดีย เป็นหลัก สำหรับดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรในเดือนพฤษภาคม 2560 ขยายตัว 6.9% ต่อปี โดยเป็นการขยายตัวในทุกหมวดสินค้า ได้แก่ หมวดพืชผลสำคัญ หมวดปศุสัตว์ และหมวดประมง และดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม (TISI) ในเดือนพฤษภาคม 2560 อยู่ที่ระดับ 85.5

ขณะที่เสถียรภาพเศรษฐกิจภายในประเทศยังอยู่ในเกณฑ์ดี และเสถียรภาพภายนอกอยู่ในระดับที่มั่นคง สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไป และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานในเดือนพฤษภาคม 2560 อยู่ที่ -0.04% และ 0.5% ต่อปี ตามลำดับ สำหรับอัตราการว่างงานอยู่ที่ 1.3% ของกำลังแรงงานรวม ขณะที่สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ณ สิ้นเดือนเมษายน 2560 อยู่ที่ระดับ 42.6% ซึ่งอยู่ภายใต้กรอบความยั่งยืนทางการคลังที่ตั้งไว้ไม่เกิน 60% สำหรับเสถียรภาพภายนอกยังอยู่ในระดับมั่นคง และสามารถรองรับความเสี่ยงจากความผันผวนของเศรษฐกิจโลกได้ สะท้อนจากทุนสำรองระหว่างประเทศ ณ สิ้นเดือนพฤษภาคม 2560 อยู่ที่ระดับ 184.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนที่สูงถึง 3.5 เท่า เมื่อเทียบกับหนี้ต่างประเทศระยะสั้น
กำลังโหลดความคิดเห็น