ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สำนักงานภาคใต้ แถลงภาวะเศรษฐกิจภาคใต้ทั้งปี 2559 และปี 2560 ที่ยังขยายตัวอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมในพื้นที่ภาคใต้
วันนี้ (2 ก.พ.) ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคใต้ นางสุรีรัตน์ ลัคนานิตย์ ผู้อำนวยการอาวุโส ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคใต้ แถลงถึงภาวะเศรษฐกิจ และการเงินภาคใต้ปี 2559 รวมทั้งแนวโน้มในปี 2560 และแนวทางการช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุน้ำท่วมในพื้นที่ภาคใต้
โดยในส่วนของภาวะเศรษฐกิจภาคใต้ในปี 2559 ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง มีแรงขับเคลื่อนสำคัญยังคงเป็นการใช้จ่ายภาครัฐที่ขยายตัวทั้งรายจ่ายประจำ และการลงทุน ส่วนการท่องเที่ยวก็ยังคงขยายตัวดี แม้จะได้รับผลกระทบจากการปราบปรามทัวร์ผิดกฎหมาย และเงินริงกิตอ่อนค่า ประกอบกับรายได้เกษตรกรที่กลับมาขยายตัว โดยเฉพาะครึ่งปีหลัง ทำให้การอุปโภคบริโภคภาคเอกชนขยายตัวต่อเนื่อง และการผลิตภาคอุตสาหกรรมที่ฟื้นตัวจากอุปสงค์ต่างประเทศ ส่งผลให้การส่งออกปรับตัวดีขึ้น จากภาวะเศรษฐกิจที่ขยายตัวทำให้การลงทุนภาคเอกชนมีแนวโน้มที่ดีขึ้น ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นจากปีก่อน ตามราคาอาหารที่ปรับสูงขึ้น ส่วนอัตราการว่างงานยังอยู่ในระดับต่ำ
ขณะที่แนวโน้มเศรษฐกิจภาคใต้ในปี 2560 จะขยายตัวต่อเนื่องจากปี 2559 ถึงแม้จะได้รับผลกระทบจากปัญหาน้ำท่วมก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นด้านการท่องเที่ยว เกษตร อุตสาหกรรม อย่างไรก็ตาม ปัจจัยเสี่ยงที่จะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจภาคใต้ คือ ความไม่แน่นอนจากการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกา รวมทั้งราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และความไม่แน่นอนของการปรับโครงสร้างของเศรษฐกิจจีน
ส่วนแนวทางการช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมในภาคใต้ ทางสถาบันการเงินเฉพาะกิจหลายแห่งได้มีการออกมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบแล้ว และทางธนาคารแห่งประเทศไทย ได้ออกหนังสือเพื่อขอความร่วมมือให้สถาบันการเงินเฉพาะกิจทุกแห่ง พิจารณาให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ตามความจำเป็น และเหมาะสม เช่น ดูแลและพิจารณาให้ความช่วยเหลือด้านเงินทุน และสภาพคล่องแก่ลูกหนี้เพื่อซ่อมแซมที่อยู่อาศัย หรือให้สามารถประกอบอาชีพ หรือดำเนินธุรกิจต่อไปได้ เช่น ให้เงินทุนหมุนเวียนเพิ่มเติม ลดหรือยกเว้นดอกเบี้ยหรือค่าธรรมเนียม ผ่อนปรนเงื่อนไขการชำระหนี้ หรือปรับปรุงโครงสร้างหนี้ พิจารณาปรับลดอัตราการผ่อนชำระหนี้บัตรเครดิตขั้นต่ำ สำหรับลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบให้ต่ำลงได้ โดยให้ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของสถาบันการเงินเฉพาะตามความจำเป็นของลูกหนี้