xs
xsm
sm
md
lg

คลัง แจงกำหนดนิยาม รสก. ไม่เกี่ยวกับการแปลงสภาพ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

คลัง ย้ำการกำหนดนิยามรัฐวิสาหกิจในร่าง พ.ร.บ. วินัยการเงินการคลังของรัฐ ร่าง พ.ร.บ. วิธีการงบประมาณ เพื่อให้มีความสอดคล้องตามวัตถุประสงค์ของกฎหมาย มิใช่เพื่อแปลงสภาพกิจการ หรือทำให้รัฐวิสาหกิจตกอยู่ในมือเอกชน

นางสาวกุลยา ตันติเตมิท โฆษกกระทรวงการคลัง ได้กล่าวชี้แจงข้อเท็จจริงในการกำหนดคำนิยามของ “รัฐวิสาหกิจ” ตามร่างกฎหมาย 2 ฉบับ คือ พ.ร.บ. วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. ..., ร่าง พ.ร.บ. วิธีการงบประมาณ พ.ศ. ... , และข้อสังเกตถึงการให้อำนาจคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) พิจารณาเปลี่ยนแปลงสัดส่วนหุ้นในรัฐวิสาหกิจตามร่าง พ.ร.บ. การพัฒนาและกำดูและรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. ...

โฆษกระทรวงการคลัง ระบุว่า ในสื่อสังคมออนไลน์ยังมีความกังวลว่า การกำหนดนิยามตามร่างกฎหมายวินัยการเงินการคลังของรัฐ และร่างกฎหมายวิธีการงบประมาณ อาจทำให้บริษัทลูกของรัฐวิสาหกิจที่จะถูกจัดตั้งขึ้นมาใหม่นั้น จะหมดความเป็นรัฐวิสาหกิจหรือไม่ รวมทั้งยังมีความกังวลว่าจะมีการแปลงสภาพรัฐวิสาหกิจที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงต่าง ๆ และโอนไปอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจแห่งชาติ และข้อกังวลถึงเรื่องคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) จะมีอำนาจลดสัดส่วนการถือหุ้นของรัฐวิสาหกิจภายใต้การกำกับดูแลของคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจแห่งชาติด้วยหรือไม่

อย่างไรก็ตาม กระทรวงการคลังต้องขอชี้แจงความชัดเจนว่า การกำหนดนิยามรัฐวิสาหกิจในส่วนที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายของกระทรวงการคลังตามร่างกฎหมาย 2 ฉบับนั้น จะเป็นการดำเนินการเพื่อให้มีสอดคล้อง และเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของการบังคับใช้กฎหมาย โดยไม่ได้มุ่งหมายให้เกิดการแปรสภาพกิจการรัฐวิสาหกิจแต่อย่างใด โดยร่าง พ.ร.บ. วินัยการเงินการคลังของรัฐนั้น จะมีวัตถุประสงค์เพื่อที่จะกำกับการใช้จ่ายงบประมาณ รวมถึงการบริหารทรัพย์สินและหนี้สินของรัฐ เพื่อทำให้สถานะทางการเงินการคลังภาครัฐมีเสถียรภาพ มีความเหมาะสม และมีความมั่นคงอย่างยั่งยืน ซึ่งจะเน้นการดูแลรัฐวิสาหกิจชั้นแม่ เนื่องจากทำหน้าที่ในการกำกับดูแลการดำเนินการ และฐานะการเงินของกิจการรัฐวิสาหกิจที่มีรัฐบาลเป็นผู้ถือหุ้น ให้มีความสอดคล้องกับหน้าที่ตามกฎหมาย

สำหรับร่าง พ.ร.บ. วิธีการงบประมาณนั้น จะมีการกำหนดนิยามรัฐวิสาหกิจให้มีชั้นแม่ และชั้นลูก ที่เป็นส่วนราชการ หรือรัฐวิสาหกิจ ที่มีกฎหมายจัดตั้ง โดยมีเงินทุนรวมจากการถือหุ้นของรัฐที่เกินกว่า 50% ทั้งนี้ เนื่องจากกระทรวงการคลังต้องการให้รัฐวิสาหกิจอีกต่อไป เนื่องจากรัฐวิสาหกิจชั้นลูก จะไม่สามารถขอรับงบประมาณได้ ดังนั้น การจัดตั้งบริษัทในเครือของรัฐวิสาหกิจในชั้นแม่ ซึ่งมีฐานะเป็นผู้ถือหุ้น จึงจำเป็นต้องพิจารณาเหตุผล และความจำเป็นในการจัดตั้งกิจการดังกล่าว โดยต้องดำเนินการให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์การจัดตั้ง การร่วมทุนและการกำกับดูแลบริษัทในเครือรัฐวิสาหกิจ

ขณะที่ร่าง พ.ร.บ. พัฒนาและกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจนั้น ซึ่งได้กำหนดนิยามให้ครอบคลุมแต่เฉพาะรัฐวิสาหกิจในชั้นแม่ ที่กระทรวงการคลังเป็นเจ้าของนั้น โฆษกระทรวงการคลังได้ชี้แจงถึงส่วนข้อสังเกตที่พูดกันเกี่ยวกับว่ารัฐวิสาหกิจที่อยู่ภายใต้กำกับของบรรษัทรัฐวิสาหกิจทั้งหมด โดยอำนาจหน้าที่ของ คนร. ตามร่างกฎหมายฉบับนี้จะทำหน้าที่กำกับดูแลให้การดำเนินงานของรัฐวิสาหกิจมีประสิทธิภาพ และในร่างกฎหมายก็ไม่มีบทบัญญัติใดที่มีความเกี่ยวข้องกับเรื่องของการแปรรูปรัฐวิสาหกิจด้วย

นอกจากนี้ การกำหนดสัดส่วนหรือการเปลี่ยนแปลงสัดส่วนการถือหุ้นในรัฐวิสาหกิจที่มีสถานะเป็นบริษัทที่ผ่านมา จะเป็นอำนาจของคณะรัฐมนตรีเป็นผู้พิจารณากำหนดเพียงขั้นตอนเดียวเท่านั้น ดังนั้น การทำหน้าที่ของ คนร. ตามร่าง พ.ร.บ. พัฒนาฯ รัฐวิสาหกิจใหม่ จึงมีหน้าที่เป็นผู้กลั่นกรอง และให้ความเห็นต่อคณะรัฐมนตรี ซึ่งถือเป็นการสร้างขั้นตอนวิธีในการพิจารณาในเรื่องที่เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสัดส่วนการถือหุ้นในรัฐวิสาหกิจ ให้เป็นไปอย่างรอบคอบ และเปิดกว้างยิ่งขึ้นกว่าในปัจจุบัน

เมื่อพิจารณาการกำหนดนิยามรัฐวิสาหกิจตามร่างกฎหมายทั้ง 2 ฉบับดังกล่าวที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงการคลังแล้ว ก็ถือได้ว่าเป็นการกำหนดนิยามให้มีความสอดคล้องตามวัตถุประสงค์ของการบังคับใช้กฎหมายในแต่ละฉบับ โดยไม่ได้มุ่งหมายเพื่อให้เกิดารแปลงสภาพ หรือทำให้รัฐวิสาหกิจไปอยู่ในมือเอกชนแต่อย่างใด

โฆษกกระทรวงการคลัง ยังกล่าวถึงร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการบริหารหนี้สาธารณะ ได้กำหนดนิยามรัฐวิสาหกิจไว้ 3 ประเภท โดยมีขอบเขตที่กว้างกว่า เนื่องจากมีการเพิ่มเติมรัฐวิสาหกิจชั้นรองลงมาอีก 1 ชั้น ซึ่งจะให้หนี้รัฐวิสาหกิจทั้งหมดถูกนับรวมเป็นหนี้สาธารณะ โดยจะมีการพิจารณากลั่นกรองการก่อหนี้ตลอดจนการกำกับดูแลให้อยู่ภายใต้กรอบความยั่งยืนทางการเงินการคลัง ซึ่งจะทำให้กระทรวงการคลังสามารถเข้าค้ำประกันเงินกู้ ปรับโครงสร้างหนี้ ชำระหนี้แทน รวมถึงการให้กู้ต่อรัฐวิสาหกิจ และตั้งบประมาณเพื่อชำระหนี้รัฐวิสาหกิจได้

ทั้งนี้ วัตถุประสงค์ตามร่างกฎหมายดังกล่าวที่กำหนดขอบเขตนิยามของรัฐวิสาหกิจในแบบที่กว้างขวางกว่านั้น ก็เพื่อจำกัดความรับผิด หรือภาระของรัฐ โดยคำนึงถึงความเกี่ยวพันกันกับรัฐเมื่อเทียบกับสัดส่วนของทุนเท่านั้น รวมถึงกำกับดูแลการก่อหนี้ของรัฐวิสาหกิจให้แลอยู่ในระดับที่เหมาะสม โดยไม่ส่งผลต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ และฐานะการคลังของประเทศ
กำลังโหลดความคิดเห็น