xs
xsm
sm
md
lg

สนช.ผ่านฉลุยวาระ 3 กม.วินัยการเงินการคลัง วางกรอบทำงบฯ ใหม่ “คำนูณ” ห่วงตรากฎหมายพิเศษกู้เงิน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ผ่านวาระ 3 กฎหมายวินัยการเงินและการคลัง วางกรอบการจัดทำงบประมาณใหม่ “คำนูณ” ห่วงเปิดช่องให้รัฐบาลตรากฎหมายพิเศษเพื่อกู้เงินได้ โดยไร้หลักเกณฑ์และกรอบเพดาน ด้าน กมธ. ปัดให้อำนาจพิเศษมีรองรับใน รธน. อยู่แล้ว หวังปรับจุดอ่อนในอดีต และทำได้เฉพาะช่วงวิกฤตเท่านั้น

วันนี้ (18 ม.ค.) ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่ได้พิจารณาร่าง พ.ร.บ. วินัยการเงินและการคลังของรัฐ พ.ศ.... ซึ่งคณะกรรมาธิการวิสามัญ ที่มี พล.อ.อ.ชนะ อยู่ถาวร เป็นประธานพิจารณาเสร็จแล้ว โดยมีสาระสำคัญ คือ การกำหนดนิยามคำว่า “หน่วยงานของรัฐ” ให้ชัดเจน เพื่อให้ครอบคลุมถึงหน่วยงานของรัฐทุกประเภทที่ต้องปฏิบัติตามวินัยการเงินการคลัง รวมทั้งความหมายของคำว่า “เงินนอกงบประมาณ” ที่ให้หมายถึงเงินทั้งปวงที่หน่วยงานของรัฐจัดเก็บหรือได้รับไว้เป็นกรรมสิทธิ์ตามกฎหมาย ระเบียบข้อบังคับ หรือนิติกรรมหรือนิติเหตุหรือกรณีอื่นใด ที่ต้องนำส่งคลัง แต่มีกฎหมายอนุญาตให้สามารถเก็บไว้ใช้จ่ายได้โดยไม่ต้องนำส่งคลัง และ “หนี้สาธารณะ” ที่ให้หมายถึงหนี้สาธารณะตามกฎหมายว่าด้วยการบริหารหนี้สาธารณะ กำหนดแนวทางวิธีการสำหรับการดำเนินนโยบายการคลัง

นอกจากนี้ ยังให้มีคณะกรรมการนโยบายการเงินและการคลังของรัฐ มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน มีหน้าที่กำหนดวินัยการเงินการคลัง จัดทำและทบทวนแผนการคลังระยะปานกลาง เสนอแนะแนวทางแก้ไขปัญหาที่เกี่ยวข้องกับการทำงบประมาณ การจัดเก็บรายได้ การบริหารหนี้สาธารณะ การบริหารทรัพย์สิน ประกาศกำหนดสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ

อีกทั้งยังกำหนดวิธีการหลักเกณฑ์การจัดสรรงบประมาณและตั้งงบประมาณรายจ่าย กำหนดหลักเกณฑ์การเสนอกฎหมายที่ให้หน่วยงานของรัฐไม่ต้องนำเงินรายได้หรือเงินอื่นใดส่งคลัง กำหนดการจัดเก็บรายได้แผ่นดินที่เป็นภาษีอากร ขณะที่่รายจ่ายนั้นได้มีการกำหนดหลักเกณฑ์ในการก่อหนี้ผูกพันการใช้จ่ายเงินงบประมาณหรือเงินอื่นของหน่วยงานของรัฐที่ต้องทำอย่างโปร่งใส คุ้มค่าและประหยัด การบริหารจัดการทรัพย์สิน การจัดซื้อจัดจ้าง ส่วนการก่อหนี้และการบริหารหนี้นั้นต้องเป็นไปตามกฎหมายและอยู่ภายใต้ขอบเขตวัตถุประสงค์และอำนาจหน้าที่ของหน่วยงานของรัฐ และต้องทำอย่างรอบคอบคุ้มค่า

ผู้สื่อข่าวรายงาน ร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้กรรมาธิการไม่ได้มีการแก้ไขมีเพียงแต่การปรับถ้อยคำในบางมาตรา มี เพียงนายคำนูณ สิทธิสมาน ในฐานะกรรมาธิการเสียงข้างน้อยได้สงวนความเห็นในมาตรา 53 ที่กำหนดให้การรัฐบาลออก กม. เป็นการเฉพาะเพื่อกู้เงินได้ และในกรณีที่มีความจำเป็นที่จะต้องดำเนินการโดยเร่งด่วนและอย่างต่อเนื่องเพื่อแก้ไขปัญหาวิกฤติของประเทศ โดยไม่อาจตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีได้ทัน และมาตรา 54 ที่กำหนดให้การเบิกจ่ายเงินกู้ที่ตราขึ้นเป็นการเฉพาะตามมาตรา 53 ให้หน่วยงานของรัฐที่ใช้จ่ายเงินกู้ดำเนินการเบิกจ่ายเงินกู้ให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของการกู้เงินและระเบียบการเบิกจ่ายเงินกู้อย่างเคร่งครัด และใช้จ่ายเงินกู้ให้เป็นไปอย่างโปร่งใส คุ้มค่าและประหยัด ซึ่งขอให้ตัดออกทั้ง 2 มาตรา โดยให้เห็นว่า 2 มาตรา เป็นการเปิดช่องให้รัฐบาลสามารถตรากฎหมายพิเศษเพื่อกู้เงินได้นอกเหนือจากพระราชบัญญัติการบริหารหนี้สาธารณะ พ.ศ. 2548 และที่แก้ไขเพิ่มเติม โดยไม่มีหลักเกณฑ์และกรอบเพดานในการกู้เงิน ตนไม่ได้คัดค้านการกู้เงินแต่เป็นห่วงเรื่องของการจ่ายเงินไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการงบประมาณ นอกจากนี้ เงินที่กู้มาก็ไม่ได้มีการนำส่งคลังแต่มีการจ่ายออกไปตามโครงการ

ตัวแทน กมธ. เสียงข้างมาก ชี้แจงว่า หลักการตามมาตรา 53 ไม่ใช่เรื่องของการบัญญัติเพิ่มอำนาจให้ฝ่ายบริหารสามารถออกกฎหมายพิเศษเพื่อกู้เงินได้ เนื่องจากอำนาจตรากฎหมายกู้เงิน มีการบัญญัติรองรับไว้ในรัฐธรรมนูญอยู่แล้วทุกฉบับ รวมถึงรัฐธรรมนูญ 2560 ทั้งในการตราพระราชกำหนดตาม มาตรา 172 การออก พ.ร.บ. ตามมาตรา 134 เจตนารมณ์ และมาตรา 53 เป็นการกำหนดกรอบวินัยหรือกติกาในการออกกฎหมายพิเศษ ให้มีความเข้มงวดมากยิ่งขึ้น ควบคุมการใช้อำนาจและการใช้ดุลยพินิจของฝ่ายบริหารในการนำเสนอกฎหมาย โดยพยายามแก้ไขปัญหาจุดอ่อนของการออกกฎหมายกู้เงินในอดีต ทั้งในส่วนของเงื่อนไขและเนื้อหาสาระของร่างกฎหมาย ซึ่งการตรากฎหมายพิเศษเพื่อกู้เงินจะทำได้เมื่อมีความจำเป็นที่จะต้องดำเนินการโดยเร่งด่วนและต่อเนื่อง เพื่อแก้ไขปัญหาที่เป็นวิกฤตของประเทศเท่านั้น และเป็นกรณีที่ไม่สามารถใช้จ่ายจากงบประมาณตามกระบวนการปกติได้ และยังได้กำหนดเงื่อนไขชัดเจนขึ้นว่าจะต้องมีการระบุวัตถุประสงค์ ระยะเวลา แผนงาน โครงการ วงเงินกู้ และหน่วยงานรับผิดชอบบริหารงานให้ชัดเจน สรุปตัวร่างมาตรา 53 ถือเป็นการกำหนดกรอบวินัยในการดำเนินการกู้เงินของรัฐบาล ในส่วนนอกเหนือไปจากกฎหมายปกติให้รัดกุมมากขึ้น สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ 2560

ทั้งนี้ ที่ประชุมได้ลงมติในมาตรา 53 เห็นด้วยกับเสียงข้างมากให้คงไว้ตามร่างเดิมด้วยคะแนน 128 ต่อ 24 เสียง จากนั้นนายคำนูณได้ขอถอนการสงวนความเห็นไว้ในมาตราอื่นออกทั้งหมด ซึ่งภายหลังพิจารณาครบทุกมาตราแล้ว ที่ประชุมได้ลงมติเห็นชอบในวาระ 3 ร่าง พ.ร.บ. วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. ด้วยคะแนน 158 เสียง งดออกเสียง 9 เสียง ประกาศใช้เป็นกฎหมายต่อไป










กำลังโหลดความคิดเห็น