ย้ำ! งบกลาง ปี 61 “ไม่ใช่ประชานิยม” ที่หวังแจกเงินกระตุ้นเศรษฐกิจ ชี้ ขั้นตอนวงเงิน 150,000 ล้าน ตรวจสอบได้ เหตุ แยกเป็นค่าใช้จ่ายตามนโยบายรัฐบาล 100,358 ล้าน เป็นเงินคืนคงคลัง อีก 49,642 ล้าน เผยปฏิทินงบกลางปี ระหว่าง ก.พ.- มี.ค. 61 สำนักงบฯ เปิดรับฟังความเห็นจากประชาชน ในการจัดทำร่าง ตาม รธน. มาตรา 77 วรรค 2
วันนี้ (19 ม.ค.) แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่า ภายหลังคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบแนวทางการจัดทำงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมและปฏิทินงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม ประจำปีงบประมาณ พ. ศ. 2561 วงเงินรายจ่ายกลางปี 150,000 ล้านบาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายการดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาล จำนวน 100,358 ล้านบาท รายจ่ายเพื่อชดใช้เงินคงคลัง จำนวน 49,642 ล้านบาท
โดยค่าใช้จ่ายตามนโยบายรัฐบาล แบ่งเป็น 3 เรื่อง ได้แก่ การพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากยกระดับสวัสดิการส่งเสริมพัฒนาศักยภาพในการสร้างโอกาสและอาชีพการจ้างงาน กลุ่มประชาชนผู้มีรายได้น้อย งบประมาณ 35,000 ล้านบาท, โครงการพัฒนาเชิงพื้นที่ผ่านกระบวนการเชิงประชาคมวิสาหกิจชุมชนที่สร้างเครือข่ายและการท่องเที่ยวที่เหมาะสมกับพื้นที่ วงเงิน 35,358 ล้านบาท, โครงการพัฒนาและปฏิรูปการผลิตภาคการเกษตรทั้งระบบ วงเงิน 30,000 ล้านบาท ซึ่งคาดว่าจะเสนอต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ได้ภายในวันที่ 22 มีนาคม 2561
“งบดังกล่าวไม่ใช่การแจกเงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่เป็นการจัดทำ ตามนโยบายในการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศลดความเหลื่อมล้ำ การก้าวไปสู่เศรษฐกิจดิจิทัล การพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก จึงไม่ใช่นโยบายประชานิยม” แหล่งข่าวระบุ
ทั้งนี้ ในการประชุม ครม. เมื่อวันที่ 16 ม.ค. สำนักงบประมาณ (สงป.) ได้ชี้แจงว่า งบ 150,000 ล้านบาท ไม่ใช้งบที่ออกมาเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่มุ่งเป้าที่เรื่องการปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ ประกอบด้วย 2 ส่วน ได้แก่
ส่วนที่ 1 งบประมาณรายจ่ายเพื่อชดใช้เงินคงคลัง 49,642 ล้านบาท ซึ่งดำเนินการตาม พ.ร.บ. เงินคงคลัง พ.ศ. 2491 ที่กำหนดไว้ว่าเมื่อได้จ่ายเงินคงคลังไปจะต้องตั้งชดใช้ใน พ.ร.บ .รายจ่ายประจำปี หรือ พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม จึงเห็นว่าในส่วนนี้ได้ดำเนินการเพื่อเป็นการรักษาวินัยการเงินการคลังมิให้ยอดสะสมของเงินคงคลังลดลง
ส่วนที่ 2 คือ ค่าใช้จ่ายในการดำเนินการตามนโยบายรัฐบาลอีก 100,358 ล้านบาท โดยให้หน่วยงานที่ เกี่ยวข้องเสนอคำของบประมาณเฉพาะโครงการ/รายการที่มีความพร้อมสามารถดำเนินการภายในปีงบประมาณปี 2561 ตามแนวทางสำคัญ 3 แนวทาง ได้แก่ การพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก การพัฒนา เชิงพื้นที่ รวมถึงการเข้าถึงแหล่งทุน วิสาหกิจชุมชน การท่องเที่ยวชุมชน และการปฏิรูปโครงสร้างการผลิตภาคเกษตรทั้งระบบ
“การจัดทำงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบ 2561 มีการกำหนดแนวทางและกรอบหน่วยงาน ผู้ปฏิบัติชัดเจน โดยหน่วยงานจะเป็น ผู้จัดทำคำขออย่างละเอียดชัดเจนตรวจสอบได้ตั้งแต่ขั้นตอนของสำนักงบประมาณและฝ่ายนิติบัญญัติ มิใช่อยู่ในรูปของงบกลางรายการเงินสำรองจ่ายเพื่อการฉุกเฉินซึ่งเป็นเงินที่ตั้งไว้เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายกรณีฉุกเฉินสำหรับเหตุการณ์ที่อาจเกิดขึ้นโดยมิได้คาดหมาย เช่น ภัยพิบัติ เป็นต้น โดยจะเน้นโครงการที่ดำเนินการแล้วเสร็จในปีนี้ ไม่ใช่รายการผูกพัน ข้ามปีงบประมาณ” แหล่งข่าวกล่าว
รายงานข่าวระบุว่า สำหรบปฏิทินงบประมาณ รายจ่ายเพิ่มเติม ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2561 วงเงินรายจ่ายกลางปี 150,000 ล้านบาท ดังนี้ วันที่ 16 ม.ค.61 คณะรัฐมนตรี พิจารณาให้ความเห็นชอบแนวทางการจัดทำงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมและปฏิทินงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2561 ,วันที่ 17 - 31 ม.ค. 61 หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำรายละเอียดคำของบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2561 เสนอรองนายกรัฐมนตรีที่ รับผิดชอบหรือรัฐมนตรีเจ้าสังกัดพิจารณาให้ความเห็นชอบ และส่งสำนักงบประมาณ และกระทรวงการคลัง แจ้งประมาณการรายได้สำหรับการจัดทำงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2561 ให้สำนักงบประมาณทราบ
วันที่ 1 - 14 ก.พ. 61 สำนักงบประมาณ พิจารณารายละเอียดคำของบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2561 และจัดทำร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2561 พ.ศ.. , วันที่ 8 ก.พ. - 5 มี.ค. 61 สำนักงบประมาณ ดำเนินการรับฟังความคิดเห็นการจัดทำร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2561 พ.ศ.. ตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธดักราช 2560 มาตรา 77วรรค 2
วันที่ 6 - 7 มี.ค. 61 สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ตรวจพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2561 พ.ศ..และส่งผลการพิจารณาตรวจร่างพระราชบัญญัติงบประมาณๆ ให้สำนักงบประมาณ, วันที่ 13 มี.ค. 61 คณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2561 พ.ศ.. และเอกสารประกอบงบประมาณ เพื่อนำเสนอต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติต่อไป
วันที่ 22 มี.ค. 61 สภานิติบัญญัติแห่งชาติ พิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2561 พ.ศ.. วาระที่ 1 2 และ 3, วันที่ 30 ม.ค. 61 สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี นำร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2561 พ.ศ.. ขึ้นทูลเกล้าฯถวาย เพื่อประกาศบังคับใช้เป็นกฎหมายต่อไป