xs
xsm
sm
md
lg

ก.ล.ต...เสือกระดาษตัวจริง / สุนันท์ ศรีจันทรา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


คำสั่งพักการให้ความเห็นชอบการเป็นบุคลากรในธุรกิจตลาดทุน ซึ่งเป็นบทลงโทษผู้บริหารบริษัทหลักทรัพย์หรือโบรกเกอร์ที่กระทำความผิด จะต้องตีความกันใหม่เสียแล้วว่า มีผลบังคับใช้ในทางปฏิบัติครอบคลุมเพียงใด



เพราะผู้บริหารบริษัทโบรกเกอร์หลายรายที่กระทำความผิด ถูกสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ลงโทษ สั่งพักการให้ความเป็นชอบเป็นบุคลากรในธุรกิจตลาดทุน แต่กลับไม่ได้รับผลกระทบจากแต่อย่างใด โดยยังทำงานอยู่ภายใต้สังกัดโบรกเกอร์เดิม ไม่ต้องร่อนเร่ พเนจรหาอาชีพใหม่ทำ

ประชาชนทั่วไปเชื่อกันมาตลอดว่า ผู้บริหารโบรกเกอร์รายใด เมื่อถูก ก.ล.ต. ลงโทษ ถูกสั่งพักการให้ความเห็นชอบการเป็นบุคลากรในธุรกิจตลาดทุน

ต้องพ้นออกจากธุรกิจตลาดทุนโดยปริยาย


เช่นเดียวกับข้าราชการที่มีมลทิน และถูกลงโทษ ถูกสั่งพักราชการหรือให้ออกจากราชการไว้ก่อน ต้องพ้นจากหน้าที่ จนกว่าการสอบสวนความผิดจะสิ้นสุด

ดังนั้น ผู้บริหารโบรกเกอร์ เมื่อถูกสั่งพักการให้ความเห็นชอบ ไม่ว่าจะเป็นเวลา 1 ปีหรือ 2 ปีก็ตาม ถ้ายังไม่พ้นช่วงเวลาที่ถูกลงโทษ จะกลับเข้ามาเป็นบุคลากรในธุรกิจตลาดทุนไม่ได้

แต่ในทางปฏิบัติ ผู้บริหารที่ถูก ก.ล.ต. ขึ้นบัญชีดำ กลับบริหารงานตามปกติ สังกัดโบรกเกอร์เดิมเสียด้วย เพียงแต่ย้ายตำแหน่งหน้าที่ใหม่ โดยปรับบทบาทจากการเป็นผู้บริหารที่อยู่หน้าฉาก  
 

เปลี่ยนมาเป็นผู้บริหารที่หลบอยู่หลังฉากเท่านั้น


นายประสิทธิ์ ศรีสุวรรณ อดีตประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์ แอพเพิล เวลธ์ จำกัด ถูก ก.ล.ต. สั่งพักการให้ความเห็นชอบการเป็นบุคคลในธุรกิจตลาดทุนเป็นเวลา 2 ปี ในความผิดด้านการดูแลลูกค้า ปัจจุบันยังทำงานใน บล. แอพเพิล เวลธ์ ตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่าย CSR

ส่วนนายชยันต์ อัคราทิตย์ และนางสาวชญานี โปขันเงิน อดีตกรรมการบริหาร บริษัทหลักทรัพย์ เอเชีย เวลท์ จำกัด ซึ่งถูกพักการให้ความเห็นชอบ ฯ เป็นเวลา 1 ปี ในความผิด พยายามปกปิดข้อมูลเพื่อช่วยผู้กระทำผิดคดีอินไซด์ ก็ยังทำงานใน บล.เอเชีย เวลท์ จำกัด ตำแหน่งผู้บริหารที่ดูแลด้านธุรการและการพนักงาน

ประชาชนหลงเข้าใจผิดมานาน คิดว่าผู้บริหารโบรกเกอร์ที่ถูก ก.ล.ต. สั่งลงโทษ ต้องหมดสิทธิทำงานในบริษัทหลักทรัพย์ ต้องเว้นวรรคการเป็นบุคลากรในธุรกิจตลาดทุน จนกว่าจะพ้นโทษ
 

แต่ข้อเท็จจริง ผู้บริหารโบรกเกอร์ที่ถูกลงโทษยังทำงานอยู่ในธุรกิจตลาดทุนนั่นแหละ

และโบรกเกอร์ต้นสังกัดเดิมไม่ได้รังเกลียดพฤติกรรมเสียด้วย ไม่ได้หวั่นไหวต่อผลกระทบในภาพลักษณ์ขององค์กร


ไม่ได้เกรงใจ ก.ล.ต. เพราะยินดีหาตำแหน่งให้ลง

เจ้าหน้าที่ฝ่ายการตลาดหรือมาร์เก็ตติ้งของโบรกเกอร์ และผู้ให้คำแนะนำการลงทุน แต่ละปีถูก ก.ล.ต. พักใบอนุญาต จำนวนไม่น้อย แต่ไม่เคยมีการตรวจสอบว่า เจ้าหน้าที่โบรกเกอร์ที่ถูกบทลงโทษ มีจำนวนเท่าใด ที่ได้รับการช่วยเหลือจากบริษัทโบรกเกอร์ต้นสังกัด โดยอ้าแขนรับ เปิดตำแหน่งใหม่ให้ทำงานต่อไป

การพักให้ความเห็นชอบการเป็นบุคลากรในธุรกิจตลาดทุน ความหมายน่าจะครอบคลุมถึงการห้ามทำงานตำแหน่งต่างๆในบริษัทหลักทรัพย์

อาจมีข้อยกเว้นได้ กรณีที่ย้ายไปเป็นพนักงานส่งเอกสาร พนักงานทำความสะอาด หรือพนักงานรักษาความปลอดภัย ซึ่งไม่มีบทบาทเกี่ยวข้องกับการดูแลเงินลงทุนของลูกค้าโดยตรง

คำสั่งลงโทษของ ก.ล.ต. ควรมีความเด็ดขาด และบริษัทหลักทรัพย์ทุกแห่งต้องปฏิบัติอย่างเคร่งครัด โดยไม่รับผู้บริหาร ที่ถูกขึ้นบัญชีดำเข้าทำงาน ไม่ว่าจะตำแหน่งหน้าที่ใดก็ตาม แต่โบรกเกอร์หลายแห่ง กลับช่วยอุ้มผู้บริหารที่กระทำความผิด เปิดโอกาสให้ทำงานต่อการที่โบรกเกอร์ให้ที่พักพิงผู้กระทำผิด  ส่งผลให้มาตรการลงโทษผู้บริหารโบรกเกอร์ไม่สามารถบังคับใช้ได้อย่างจริงจัง  


และทำให้ผู้กระทำผิดไม่เกิดความเกรงกลัว


บทลงโทษที่ไม่สามารถบังคับใช้ได้ กำลังจะทำให้ ก.ล.ต. ต้องกลายเป็นเสือกระดาษ เพราะไม่อาจกำกับดูแลบริษัทหลักทรัพย์ให้ปฏิบัติงานตามกฎระเบียบอย่างเคร่งครัด

คำสั่งพักการเห็นชอบการเป็นบุคลากรในธุรกิจตลาดทุน ต้องทบทวนกันใหม่แล้ว เพราะไม่อาจลงโทษผู้บริหารโบรกเกอร์ที่กระทำความผิดได้โดยจะต้องขยายผลครอบคลุมบริษัทโบรกเกอร์ด้วย



โบรกเกอร์รายใดรับผู้บริหารบริษัทหลักทรัพย์ที่ต้องมลทิน ก.ล.ต.เข้าทำงาน ควรอยู่ในข่ายความผิดฐานให้ที่พักพิง และต้องถูกมาตรการลงโทษด้วย

การรับบุคลากรที่ถูกห้ามทำหน้าที่ในธุรกิจตลาดทุนเข้าทำงาน  ถือว่าเป็นการจงใจหยามหน้ากัน ไม่รู้ว่า ก.ล.ต. ทนได้อย่างไร

กำลังโหลดความคิดเห็น