สรรพสามิตยันภาษีใหม่ ไม่ส่งผลต่อการดำเนินธุรกิจของโรงงานยาสูบ มีเพียงแผนธุรกิจที่สู้ไม่ได้ พบโรงงานยาสูบตุนแสตมป์ก่อน กม.ใหม่ใช้
รายงานข่าวแจ้งว่า หลังจากที่ นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.การคลัง ได้สั่งการให้กรมสรรพสามิตหามาตรการช่วยเหลือโรงงานยาสูบที่ได้รับผลกระทบจากอัตราภาษีบุหรี่ใหม่ ซึ่งคาดว่าจะทำให้ผลกำไรลดลงกว่า 7,000 ล้านบาท
แหล่งข่าวจากกรมสรรพสามิต เปิดเผยว่า การดำเนินผลกระทบของโรงงานยาสูบ เป็นปัญหาภายในจากการดำเนินงานของโรงงานยาสูบมากกว่าโครงสร้างภาษีบุหรี่ใหม่ โรงงานยาสูบจะได้เปรียบคู่แข่งรายอื่น เพราะมีการเก็บภาษี 2 ส่วน แบบมวนละ 1.20 บาท และตามราคาหากไม่เกินซองละ 60 บาท เสียภาษี 20% แต่ถ้าราคาเกินซองละ 60 บาท เสียภาษี 40% ซึ่งเป็นการกำหนดอัตราภาษีเพื่อช่วยโรงงานยาสูบได้มีเวลาปรับตัวเป็นเวลา 2 ปี
“อัตราภาษีตอนนี้โรงงานยาสูบได้เปรียบอยู่แล้วยังสู้ไม่ได้ สิ่งที่ทำได้ก็ไม่ยอมทำ และอีก 2 ปี การเก็บภาษีด้านราคาจะใช้อัตราเดียวกัน 40% โรงงานยาสูบจะสู้อย่างไร เพราะส่วนแบ่งการตลาดก็ไม่ยอมรักษาไว้ และราคาก็สู้ยี่ห้ออื่นไม่ได้” แหล่งข่าว กล่าว
แหล่งข่าวกล่าวเสริมอีกว่า โครงสร้างภาษีบุหรี่ใหม่ถือเป็นมาตรฐานสากล ทำให้เกิดความเป็นธรรมกับผู้ประกอบการ ภายใต้การตลาดที่แข่งขันกันยังเสรี ซึ่งในความเป็นจริงภาษีต้องเป็นอัตราเดียวถึงจะเป็นมาตรการสากลจริง แต่ของสรรพสามิตยังทำเป็น 2 อัตรา เป็นเวลา 2 ปี เพื่อให้โรงงานยาสูบปรับตัว และไม่ต้องการให้คนรายได้น้อยมีภาระการสูบบุหรี่ราคาถูกแพงขึ้นมาก
อย่างไรก็ตาม พบจุดผิดสังเกตบางอย่างในเรื่องการซื้อแสตมป์ โดยสำหรับในเดือน ต.ค. ที่ผ่านมา โรงงานยาสูบซื้อแสตมป์เสียภาษีเพียง 400 ล้านบาท เนื่องจากในเดือน ก.ย. 2560 ก่อนที่กฎหมายใหม่จะบังคับใช้ โรงงานยาสูบซื้อแสตมป์จากกรมสรรพสามิตไปถึง 18 ล้านดวง แต่เรื่องการซื้อแสตมป์กรมไม่สามารถบังคับให้โรงงานยาสูบมาซื้อ เพื่อจะได้เงินภาษีได้ การซื้อแสตมป์เป็นเรื่องของผู้ประกอบการต้องวางแผนตามปริมาณการขายสินค้า
แหล่งข่าวกล่าวว่า อัตราภาษีบุหรี่ใหม่ไม่กระทบกับการจัดเก็บภาษีโดยรวม แม้ว่าโรงงานยาสูบจะเสียภาษีน้อยลง เพราะขายสินค้าได้น้อย แต่กรมก็เก็บภาษีจากบุหรี่ต่างประเทศเพิ่มขึ้น เพราะมีคนสูบมากขึ้น