ไม่ต้องสงสัยแล้วว่า เพราะเหตุใด บริษัท อินเตอร์แนชั่นเนิล เอนจีเนียริง จำกัด (มหาชน) หรือหุ้น IEC จึงมีสภาพตายซาก
เมื่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(ก.ล.ต.) ประกาศกล่าวโทษนายภูษณ ปรีย์มาโนช พร้อมพวกรวม 25 คน ในความผิดทุจริต ยักยอกเงิน IEC การกล่าวโทษนายภูษณและพวก ฐานยักยอกเงิน IEC เป็นการตอกย้ำถึงเบื้องหลังความเน่าเฟะของบริษัทจดทะเบียนแห่งนี้
ความผิดเกิดขึ้นระหว่างปี 2557-2559 โดยกระทำเป็นขบวนการใหญ่ ภายใต้การบงการของ นายภูษณ ร่วมมือกันทั้งคนในและคนนอก รวมทั้งนิติบุคคล มีความผิดต่างกรรมต่างวาระถึง 9 คดี ทั้งการซื้อทรัพย์สินในราคาที่สูงเกินจริง การทำธุรกรรมอำพราง การซื้อกิจการที่ล้มละลายและถูกสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด และการแต่งบัญชี
ธุรกรรมอำพรางทั้งหมด เพื่อผ่องถ่ายเงินออก ทำให้ IEC ได้รับความเสียหายเป็นเงินประมาณ 200 ล้านบาท โดย นายภูษณ เป็นผู้ได้รับประโยชน์สูงสุด
การผ่องถ่ายเงินออกจาก IEC มีผู้ต้องหาร่วมกระทำผิดมากที่สุดเป็นประวัติการ และโกงกันในทุกรูปแบบ โดยไม่เกรงกลัวกฎหมาย ไม่คำนึงถึงความเสียหายของผู้ถือหุ้นรายย่อย IEC แม้แต่น้อย
ผู้ถือหุ้นรายย่อย IEC มีจำนวนทั้งสิ้น 24,998 ราย ทั้งหมดต้องสูญเสียอย่างหนักกับหุ้นตัวนี้ เพราะแบกหุ้นต้นทุนสูงไว้ ไม่อาจตัดขายขาดทุนได้ เนื่องจากราคาหุ้นเหลือเพียง 2 สตางค์ จำใจต้องถือไว้ โดยหวังว่า สักวันหนึ่งจะฟื้น
แต่ไม่นึกว่า ฐานะของกิจการที่ร่อแร่อยู่แล้ว จะถูกกรรมการและผู้บริหารบริษัทที่มีความอำมหิต ผ่องถ่ายเงิน โกงผู้ถือหุ้นรายย่อยซ้ำเสียอีก
นายภูษณเคยยิ่งใหญ่ในสมัยที่เป็นผู้บริหารบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด(มหาชน) หรือ DTAC ในยุคที่นายบุญชัย เบญจรงคกุล เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ และถูกยกให้เป็น “ลูกจ้าง” ที่รวยกว่า “เจ้านาย”
หลังวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 นายบุญชัย กับ นายภูษณเกิด “วงแตก” มีความขัดแย้งจนต้องแยกทางกัน โดยมีข่าวว่า นายภูษณอาจมีคดีที่ต้องสะสาง จนต้องปลีกวิเวก หันเหวิถีชีวิตเข้าสู่โลกแห่งธรรมะอยู่พักหนึ่ง ก่อนจะกลับมาโผล่เป็นตัวเป็นตนอีกครั้งที่ IEC ในฐานะผู้บริหารสูงสุดและผู้ถือหุ้นใหญ่
ในช่วงเวลาที่รุ่งเรื่อง นายภูษณมีชื่อเสียงโด่งดัง เป็นนักบริหารที่มีฐานะดีอันดับต้นๆของประเทศ และแม้จะเผชิญกับวิกฤตปี 2540 แต่ในฐานะลูกจ้าง จึงไม่ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจมากนัก และอยู่ในระดับเศรษฐีคนหนึ่ง ไม่น่าเชื่อว่า คนที่เคยเดินบนเส้นทางสายธรรมะ และฐานะทางการเงินไม่ได้ขาดแคลน จะเปิดปฏิบัติการ สูบเงินจากผู้ถือหุ้นรายย่อยจำนวน 24,998 คน โดยไม่รู้สึกผิดทั้งทางโลกและทางธรรม
และไม่น่าเชื่อว่า เงินเพียงประมาณ 200 ล้านบาท นายภูษณ จะสร้างธุรกรรมอำพราง ต่างกรรม ต่างวาระถึง 9 คดี
เบื้องหลังการรวมนายภูษณและพวกรวม 25 คนที่ร่วมกันทุจริตครั้งนี้ ได้รับเบาะแสจากภายใน IEC เพราะมีกลุ่มคนที่ไม่พอใจในพฤติกรรมแก๊งนายภูษณ จนนำไปสู่การตรวจสอบข้อมูลหลักฐาน นำไปสู่การกล่าวโทษในที่สุดคดีนายภูษณทำให้เห็นว่า ช่องทางในการสร้างธุรกรรมอำพราง เพื่อผ่องถ่ายเงินจากบริษัทจดทะเบียนมีมากมายจริงๆ มากมายจนน่ากลัว
และคงไม่มีแต่ IEC เท่านั้นที่กรรมการและผู้บริหารโกง ไม่มีแต่ IEC เท่านั้นที่มีการก่อธุรกรรมอำพราง เพื่อผ่องถ่ายเงินออกจากบริษัทจดทะเบียน ปล้นผู้ถือหุ้นรายย่อย
คดี IEC จบลงแล้ว โดยแก๊งนายภูษณถูกกล่าวโทษยกชุด แต่บริษัทจดทะเบียนอื่นที่มีการผ่องถ่ายเงิน มีการก่อธุร กรรมอำพราง แต่แก๊งอาชญากรรมในตลาดหุ้นยังลอยนวลอยู่ และรอเปิดปฏิบัติการปล้นผู้ถือหุ้นครั้งใหม่
การตรวจสอบ ปราบปราม รวบรวมหลักฐาน เพื่อดำเนินคดีกับกรรมการและผู้บริหารบริษัทจดทะเบียนที่ยักยอกเงินของผู้ถือหุ้นรายย่อย เป็นหน้าที่ของ ก.ล.ต. และ ตลาดหลักทรัพย์ที่จะต้องปกป้องนักลงทุน
และต้องกวาดล้างอาชญากรในตลาดหุ้น ไม่ว่าจะมีเครือข่ายและเส้นสายใหญ่โตขนาดไหน
แต่นักลงทุนก็มีหน้าที่ดูแลตัวเองด้วยเหมือนกัน ต้องระวังอย่าได้หลงไปแตะหุ้นที่มีพฤติกรรมไม่แตกต่างจาก IEC
หุ้นตัวไหนอยู่ในข่ายไซฟ่อนเงิน ดูไม่ยากไม่ใช่หรือ
หุ้นที่เพิ่มทุนบ่อย ซื้อทรัพย์สินเป็นว่าเล่น ลงทุนในโครงการต่างๆอย่างวุ่นวาย ตั้งบริษัทลูกจนนับไม่ถ้วน อยู่ในข่ายหุ้นอันตรายแทบทั้งสิ้น
และหุ้นที่ราคาทรุดลงมาเหลือไม่กี่สตางค์ ตั้งสมมุติฐานไว้ก่อน อาจเป็น IEC สองก็ได้ ถ้าไม่อยากตาย อย่าริเข้าไปแหยมเด็ดขาด