xs
xsm
sm
md
lg

เคล็ดลับเฉดหัว “หุ้นเน่า” / สุนันท์ ศรีจันทรา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


การเป็นนักลงทุนที่ดี ไม่เพียงแต่การเลือกเฟ้น เสาะแสวงหาหุ้นดีๆ ไว้ลงทุนเท่านั้น แต่ยังต้องระมัดระวัง ให้ความสำคัญกับ “ความเสี่ยง” และหาวิธีหลีกเลี่ยงลงทุนหุ้นเน่าๆ ด้วย
               มีนักลงทุนจำนวนนับแสนคน ได้รับความเสียหายอย่างหนัก เพราะเข้าไป “ติดกับ”หุ้นเน่าๆ นับสิบบริษัท และไม่อาจถอนตัวออกมาได้ เนื่องจากราคาหุ้นเน่าๆ เหล่านั้นเหลือเพียงไม่กี่สตางค์
              หุ้นเน่าในปัจจุบันใช้กลยุทธ์หลอกล่อนักลงทุนรายย่อยในรูปแบบที่คล้ายกัน และแทบเป็นสูตรสำเร็จในการสูบเงินจากตลาดหุ้น
           
              หุ้นเก็งกำไรยอดนิยมที่นักลงทุนแห่กันเข้าไปเก็งกำไรกันมืดฟ้ามัวดิน เคาะซื้อเคาะขายกันสนั่นหวั่นไหว ราคาเคลื่อนไหวอย่างหวือหวา แต่สุดท้ายกลายเป็นหุ้นตายซาก และหุ้นบางตัวอาจเลวร้ายถึงขั้นต้องฟื้นฟูกิจการ จะมีพฤติกรรมเหมือนๆ กัน
              หุ้นเน่าเน่ามักเพิ่มทุนถี่ หลังจากสูบเงินจากกระเป๋าผู้ถือหุ้นรายย่อยได้ จะโยกเงินไปซื้อทรัพย์สิน หรือขยายการลงทุนทั้งในและต่างประเทศ
              แต่เงินที่นำไปลงทุนเกิดความเสียหาย ทรัพย์สินซื้อมาในราคาแพงเกินจริง และสร้างผลตอบแทนไม่คุ้มค่า ฉุดให้ผลดำเนินงานบริษัทขาดทุนต่อเนื่องหลายปี ยอดรายได้แต่ละปีต่ำมาก เมื่อเทียบกับทุนจดทะเบียน
              หุ้นเน่าหลายตัว มีทุนจดทะเบียนหลายแสนล้านหุ้น แต่ผลประกอบการต่อปีทำได้แค่ระดับร้อยล้านบาท ขณะที่ต้นทุนการขายและค่าใช้จ่ายการดำเนินงานสูงกว่ารายได้
           
               หุ้นเน่าเหล่านี้ ถ้าเพิ่มทุนแล้ว นำเงินไปฝากแบงก์ โดยไม่ต้องดำเนินธุรกิจ ไม่ต้องมีคณะกรรมการมานั่งกินเงินเดือน และวางแผนผ่องถ่ายเงินออก ผู้ถือหุ้นรายย่อยคงไม่ได้รับความเสียหายมากนัก
               กลยุทธ์สำคัญที่หุ้นเน่านำมาใช้ล่อเหยื่อคือ การออกใบสำคัญแสดงสิทธิจองซื้อหุ้นสามัญหรือวอแรนท์ โดยจะออกวอแรนท์ถี่ ปั๊มกันออกมาไม่รู้กี่รุ่นต่อกี่รุน ซึ่งส่วนใหญ่ไม่มีการแปลงสภาพ
              เพราะเมื่อหมดอายุ ราคาหุ้นบนกระดานมักต่ำกว่าราคาแปลงสภาพวอแรนท์ นักลงทุนต้องทิ้งสิทธิ์ ปล่อยให้วอร์แรนต์กลายเป็นศูนย์
              วิชามารในการใช้วอแรนท์มาปั่นราคาหุ้น นักลงทุนส่วนใหญ่รู้ทันแล้ว ไม่เข้าไปเล่นวอแรนท์ ทำให้วอแรนท์หุ้นเน่าๆ เฉาตายไปเป็นแถว


หุ้นเน่าเก่งในการโฆษณาชวนเชื่อ โดยผู้บริหารบริษัทขยันให้ข่าว แถลงโครงการลงทุนใหม่แทบทั้งปี มีข่าวดีมากระตุ้นราคาหุ้นไม่ขาดสาย โดยเฉพาะกลุ่มพลังงานทางเลือก จะมีผู้บริหารขาประจำเปิดแถลงข่าวตลอดทั้งปี
               หุ้นเน่านับสิบตัวที่อยู่ในสภาพตายซาก ราคาทรุดเหลือไม่กี่สตางค์ ตรวจสอบพฤติกรรมย้อนหลังได้ แทบทั้งหมดเข้าองค์ประกอบหุ้นตัวอันตรายที่สร้างความเสียหายอย่างหนักให้นักลงทุนทั้งสิ้น
              ทั้งการเพิ่มทุน ผ่องถ่ายเงินออก โดยการซื้อทรัพย์สินหรือนำเงินไปลงทุน แต่ผลดำเนินงานขาดทุน ออกวอแรนท์ไม่รู้กี่รุ่นต่อกี่รุน และผู้บริหารบริษัทเป็นจอมขี้โม้
              นักลงทุนที่ไม่ต้องการตกเป็นเหยื่อหุ้นเน่า ไม่อยากเสี่ยงที่จะพลัดหลงเข้าไปเป็นเหยื่อ ต้องพิจารณาหุ้นแต่ละตัวอย่างรอบคอบ ต้องตรวจสอบพฤติกรรมย้อนหลัง
           
               บริษัทจดทะเบียนใดเพิ่มทุนถี่ มีบริษัทลูกเยอะ ผู้บริหารชอบขนเงินไปซื้อทรัพย์สิน หรือโยกเงินไปขยายลงทุน ปั๊มวอแรนท์มาปั่นราคาหุ้นบ่อยๆ แต่ผลดำเนินงานขาดทุนตลอด ขณะที่ผู้บริหารบริษัทขี้โม้
              นักลงทุนรายย่อยต้องตั้งสมมุติฐานไว้ก่อนว่า หุ้นประเภทนี้เข้าข่ายเป็น “หุ้นเน่า” ต้องหลีกเลี่ยงการลงทุน อย่าคิดลองดีเด็ดขาด เพราะถ้าพลาดถึงตายได้
              นักลงทุนนับแสนคนที่เข้าไป ”ติดกับ” หุ้นเน่านับสิบๆ ตัว บางทีรู้ทั้งรู้ว่า หุ้นที่เข้าไปเล่นนั้น เป็นหุ้นอันตราย และอนาคตอาจกลายเป็นหุ้นเน่า
              แต่เพราะอยากลองดี จึงเสียทีหุ้นเน่า ถูกกินแทบหมดตัวตามๆ กัน

กำลังโหลดความคิดเห็น