บริษัท วินเทจ วิศวกรรม จำกัด(มหาชน) หรือหุ้น VTE ประกาศเพิ่มทุนอีกครั้งหลังจากเพิ่งเพิ่มทุนเมื่อประมาณ 3 เดือนก่อน แต่สูบเงินจากผู้ถือหุ้นรายย่อยไม่ได้ตามเป้า จึงต้องระดมทุนรอบใหม่ แต่ผู้ถือหุ้นรายย่อยที่ไหนจะจองซื้อหุ้นอีก
การเพิ่มทุนครั้งก่อน เป็นไปมติคณะกรรมกรรมบริษัท วินเทจ เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2560 โดยให้เพิ่มทุนจำนวน 332,232,018 หุ้น นำหุ้นใหม่จำนวน 249,174,014 หุ้น จัดสรรให้ผู้ถือหุ้นเดิม ในสัดส่วน10 หุ้นเดิมต่อ 3 หุ้นใหม่ ในราคาหุ้นละ 2.19 บาท (พาร์ 1 บาท) กำหนดจองซื้อระหว่างวันที่19-23 มิถุนายน 2560
ส่วนหุ้นใหม่อีกจำนวน 83,058,004 หุ้น เสนอขายบุคคลในวงจำกัด
ผลการเสนอขายหุ้นใหม่ในส่วนของผู้ถือหุ้นเดิม ปรากฏว่า มีผู้ถือหุ้นเดิมจองซื้อมาทั้งสิ้น54,446,751 ล้านหุ้น หรือจองซื้อประมาณ 22%เศษของหุ้นใหม่ที่เสนอขาย สูบเงินจากผู้ถือหุ้นได้เพียง 119 ล้านบาท จึงเหลือหุ้นเพิ่มทุนอีก 194,727,263 หุ้น
สำหรับหุ้นใหม่อีกจำนวน 83,058,04 หุ้น ที่คณะกรรมการวินเทจฯระบุว่า จะนำขายบุคคลในวงจำกัดนั้น ไม่เคยปรากฏในรายงานที่แจ้งตลาดหลักทรัพย์ถึงความคืบหน้าในการจัดสรรแต่อย่างใด
วินเทจฯ มีผู้ถือหุ้นรายย่อย 3,194 ราย ถือหุ้นรวมกันในสัดส่วน 76%ของทุนจดทะเบียน โดย PLANET ENERGY HOLDINGS PTE .LTD ถือหุ้นใหญ่ 10.31% และนายโสรัจ โรจนเบญจกุล ประธานกรรมการบริษัทฯ ถือหุ้นใหญ่รองลงมาในสัดส่วน 5.62%ของทุนจดทะเบียน
คำถามคือ การเพิ่มทุนก่อนที่เรียกชำระระหว่างวันที่ 19-23 มิถุนายนที่ผ่านมา ผู้ถือหุ้นใหญ่ทั้ง 2 ราย ใส่เงินเพิ่มทุนลงมาด้วยหรือไม่
และถ้าไม่ใส่เงินจองซื้อหุ้น ประกาศเพิ่มทุนทำไม หรือมีเป้าหมายเพื่อสูบเงินผู้ถือหุ้นรายย่อยโดยตรงใช่หรือไม่
วินเทจฯเป็นอีกบริษัทจดทะเบียนที่เพิ่มทุนถี่ ขยันขยายการลงทุน ชอบซื้อทรัพย์สิน ซึ่งเป็นสูตรสำเร็จของหุ้นที่มีพฤติกรรมไม่น่าไว้วางใจ โดยปี 2557เพิ่มทุน 1 ครั้ง ปี 2558 เพิ่มทุน 4 ครั้ง ปี 2560 เพิ่มทุนไปแล้ว 1 ครั้ง แต่นักลงทุนรายย่อยรู้ทัน ส่วนใหญ่ไม่ใส่เงินเข้ามาใหม่
เพราะถ้าใส่เงินซื้อหุ้นเพิ่มทุน จะต้องเจ็บตัวและเจ็บใจ เนื่องจากราคาหุ้นในกระดานทรุดลงมาต่ำกว่าราคาหุ้นเพิ่มทุน และหุ้นเพิ่มทุนใหม่ เสนอขายในราคาเพียงหุ้นละ 2 บาท ต่ำกว่าราคาหุ้นเพิ่มทุนที่เสนอขายผู้ถือหุ้นเดิมเมื่อประมาณ 3 เดือนในราคา 2.19 บาท
สำหรับการเพิ่มทุนครั้งใหม่ คณะกรรมการวินเทจมีมติเมื่อวันที่ 23 สิงหาคมที่ผ่านมา โดยจะนำหุ้นใหม่ที่เหลือขายจากครั้งก่อนจำนวน 194,727,263 หุ้น จัดสรรให้ MACQUARIE BANK LIMITED นักลงทุนสถาบันของออสเตรเลีย จำนวน 50,000,000 หุ้น
และหุ้นใหม่อีกจำนวน 144,727,263 หุ้น เสนอขายผู้ถือหุ้นเดิม ในสัดส่วน 25 หุ้นเพิ่มต่อ 4 หุ้นใหม่ ในราคาหุ้นละ 2 บาท (พาร์ 1 บาท) กำหนดจองซื้อระหว่างวันที่ 27-29 กันยายน และระหว่างวันที่ 2-3 ตุลาคม 2560
ราคาหุ้นวินเทจปิดเมื่อวันศุกร์ที่ 25 สิงหาคมที่ราคา 2.10 บาท สูงกว่าราคาหุ้นใหม่ที่เสนอขายผู้ถือหุ้นเดิมเพียง 5% โดยผู้ถือหุ้นเดิมมี “กันชน”ระหว่างราคาหุ้นเพิ่มทุนกับราคาหุ้นบนกระดานเพียง 10สตางค์
ผู้ถือหุ้นที่จองซื้อหุ้นเพิ่มทุนเมื่อ 3 เดือนก่อนเจ็บมาแล้ว เพราะหลังจากชำระค่าหุ้นเพิ่มทุน ราคาหุ้นบนกระดานก็ซึมลงมาต่อเนื่อง ดังนั้น ผู้ถือหุ้นเดิมที่จะจองซื้อหุ้นเพิ่มทุนรอบล่าสุด จึงมีโอกาสเจ็บเหมือนกัน
การเพิ่มทุนรอบใหม่ของวินเทจฯ มีโจทย์ที่ผู้ถือหุ้นรายย่อยควรจะต้องถามคณะกรรมการบริษัทฯในหลายประเด็น โดยประเด็นแรกคือ หุ้นเพิ่มทุนจำนวน 50 ล้านหุ้นที่จัดสรรให้บุคคลในวงจำกัดนั้น จะขายได้จริงหรือไม่
ประเด็นต่อมาคือ ผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัทฯ จะควักเงินซื้อหุ้นเพิ่มทุนหรือไม่ เพราะถ้าผู้ถือหุ้นใหญ่เองยังสละสิทธิ์ ทิ้งหุ้นเพิ่มทุน ผู้ถือหุ้นรายย่อยจะยอมซื้อหุ้นเพิ่มทุนไปเพื่ออะไร
เพราะผลประกอบการขาดทุนหลายปี โดยปี 2557 ขาดทุน 358.93 ล้านบาท ปี 2558 ขาดทุน106.14 ล้านบาท ปี 2559 กำไร 49.78 ล้านบาท แต่ 6 เดือนแรกปีนี้ขาดทุนสุทธิ 87.74 ล้านบาท
ไม่จำเป็นต้องมีคำขี้แนะใดๆ เพราะผู้ถือหุ้นรายย่อยวินเทจฯ น่าจะตัดสินใจได้ว่า จะควักเงินซื้อหุ้นเพิ่มทุนวินเทจหรือไม่
ช่วงนี้มีบริษัทจดทะเบียนอีกหลายแห่งที่กำลังเพิ่มทุน ผู้ถือหุ้นรายย่อยที่ลังเลว่า จะซื้อหุ้นเพิ่มทุนดีหรือไม่ น่าจะนำพฤติกรรมเพิ่มทุนของวินเทจฯใช้เป็นกรณีศึกษา
เพื่อจะไม่ตกเป็นเหยื่อของแก๊งสูบเงินในตลาดหุ้น