xs
xsm
sm
md
lg

ซีไอเอ็มบี ไทยขยับเป้าเศรษฐกิจปีนี้ จากโตร้อยละ 3.2 เป็นร้อยละ 3.7

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ซีไอเอ็มบี ไทย ขยับเป้าเศรษฐกิจปีนี้จากโตร้อยละ 3.2 เป็นร้อยละ 3.7 และในปีหน้าขยับจากร้อยละ 3.5 เป็นร้อยละ 3.8 ยอมรับการเติบโตยังมีการกระจุกตัว

นายอมรเทพ จาวะลา ผู้อำนวยการอาวุโส สำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย เปิดเผยว่า ธนาคารได้ปรับประมาณการการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ของไทยปี 2560 จากร้อยละ 3.2 เป็น ร้อยละ 3.7 และจาก ร้อยละ 3.5 เป็น ร้อยละ 3.8 ในปี 2561 เนื่องจากรายงานล่าสุดของสภาพัฒน์ฯ เศรษฐกิจไทยไตรมาส 2 ออกมาดีเกินคาด โดยขยายตัวร้อยละ 3.7

อย่างไรก็ตาม แม้ตัวเลขเศรษฐกิจดี แต่ทำไมคนถึงไม่รู้สึกว่า เศรษฐกิจดี ยอดขายไม่ดี กำไรหดตัว การที่คนรู้สึกสวนทางกับรายงานเศรษฐกิจนั้น เพราะการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจรอบนี้กระจุกตัวในคนบางกลุ่ม เศรษฐกิจรอบนี้ฟื้นตัวที่ภาคท่องเที่ยว และส่งออก แต่ไม่ใช่ส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม เป็นสินค้าโภคภัณฑ์ที่ราคาขึ้นตามราคาน้ำมัน ผู้ได้ประโยชน์ คือ คนที่มีรายได้จากภาคเกษตร ทั้งราคาพืชผลดีและผลผลิตมากขึ้นกว่าปีก่อนที่มีภัยแล้ง ยกเว้นกลุ่มชาวนา เพราะราคายังต่ำ ส่วนคนที่มีรายได้นอกภาคเกษตร รายได้กลับไม่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะคนทำงานภาคการผลิต ก่อสร้าง สอดรับกับการลงทุนที่กลับมาขยายตัว แต่ยังขยายตัวต่ำ จำกัดเพียงบางอุตสาหกรรม และหลายอุตสาหกรรมมีอุปทานส่วนเกิน ด้านภาคบริการเองก็ขยายตัวต่ำเช่นกัน ยกเว้นร้านอาหาร โรงแรม และขนส่งที่ได้ประโยชน์จากท่องเที่ยว

ขณะเดียวกัน การเชื่อมโยงของคนมีรายได้ดีไปสู่คนที่รายได้ไม่ดีนั้นมีน้อยลง คาดว่า คนมีรายได้น้อยในภาคเกษตรนำเงินไปใช้หนี้ก่อน และเก็บเงินไว้ใช้ช่วงฉุกเฉินยามเกิดภัยแล้ง น้ำท่วม หรือราคาพืชผลตกต่ำ เมื่อคนกลุ่มนี้ชะลอการใช้จ่าย ส่งผลให้คนรายได้ระดับกลางในเมืองมีรายได้ทรงตัวหรือลดลง แม้ในกลุ่มคนที่รายได้ไม่เปลี่ยนแปลง แต่ก็เกิดความไม่มั่นใจที่จะใช้จ่าย เกิดการระวังตัว และรัดเข็มขัด พฤติกรรมที่เปลี่ยนนี้ส่งผลให้เศรษฐกิจไม่หมุนเช่นในอดีต

สำหรับวิธีแก้ปัญหาหรือเปลี่ยนพฤติกรรมให้คนกล้าใช้จ่ายนั้น น่าจะทำได้ด้วยการสร้างความเชื่อมั่นว่า แนวโน้มเศรษฐกิจในอนาคตยังดูดี ด้วยการใช้กลไกรัฐวิสาหกิจ หรือภาครัฐ ในการเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดการลงทุนด้วยการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน หรือโครงการขนาดใหญ่ เพราะหากรัฐยังไม่เดินหน้า เอกชนก็ลังเลที่จะเดินตาม การดึงดูดนักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก จึงเป็นเรื่องที่รอช้าไม่ได้

นายอมรเทพ กล่าวว่า ทิศทางเศรษฐกิจไทยไตรมาส 3 และทั้งปี 60 ยังคงไม่แตกต่างจากช่วงที่ผ่านมา คือการส่งออก และการท่องเที่ยว นำ การลงทุนภาครัฐน่าจะกลับมาขยายตัว หลังมีการอนุมัติโครงการใหม่ ๆ แต่อุปสงค์ในประเทศผ่านการบริโภค และการลงทุนภาคเอกชน ยังคงอ่อนแอ แม้เชื่อว่า การลงทุนภาคเอกชนจะพลิกเป็นบวกได้ดีขึ้นหลังการส่งออกฟื้นต่อเนื่องราว 2 ไตรมาส จะไปเห็นในช่วงปลายไตรมาส 3 ต้นไตรมาส 4 แต่ก็คงเป็นการฟื้นตัวต่ำ ๆ ขณะที่เศรษฐกิจน่าจะไปเน้นที่ภาคบริการมากกว่าการผลิต

นอกจากนี้ แม้เศรษฐกิจจะขยายตัวได้ดี แต่ต้องจับตาว่าจะยั่งยืนหรือไม่ เช่น การส่งออกที่โตได้ดีนั้น ยังนับว่าต่ำแทบที่สุดในภูมิภาค ปัจจัยที่กระทบภาคการส่งออกนอกจากเงินบาทที่แข็งค่ากระทบต่อความสามารถในการแข่งขันแล้ว ผลิตภัณฑ์ส่งออกของไทยก็ยังคงเน้นไปทางสินค้าโภคภัณฑ์ที่ได้อนิสงส์จากฐานราคาที่ต่ำในปีก่อน ขณะที่สินค้าอุตสาหกรรม โดยเฉพาะยานยนต์และชิ้นส่วนยังคงอ่อนแอ มีเพียงสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่ขยายตัวได้ดี ซึ่งการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมที่ยังมีทิศทางไม่ชัดเจนนี้ ได้กระทบต่อภาคการผลิตของไทย ดังเห็นได้จากการลงทุนภาคเอกชนที่ยังคงต่ำ

ท้ายสุดความเชื่อมั่นจะฟื้นตัวได้เพียงไรก็คงขึ้นอยู่กับว่าจะมีความชัดเจนด้านความต่อเนื่องของนโยบายรัฐบาลหลังเลือกตั้งหรือไม่ เอกชนไม่ใช่รอการเลือกตั้งอย่างเดียว แต่กำลังจับตาว่าหากรัฐบาลสามารถให้ความชัดเจนได้ว่า ภายหลังการเลือกตั้งแล้ว รัฐบาลชุดต่อไปจะหยิบยก และสานต่อสิ่งที่รัฐบาลชุดนี้ทำ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเขตเศรษฐกิจพิเศษ ไทยแลนด์ 4.0 หรือการลงทุนโครงการขนาดใหญ่ ซึ่งความชัดเจนนี้ไม่ต้องรอจนถึงการเลือกตั้งก็ได้ สามารถทำได้ทันที และเชื่อว่า เอกชนจะเห็นโอกาส และลงทุนตาม จนทำให้เศรษฐกิจไทยขับเคลื่อนได้แรง และทั่วถึงขึ้น ในช่วงครึ่งหลังของปี
กำลังโหลดความคิดเห็น