สศค. เผยการส่งออก-ท่องเที่ยว-ใช้จ่ายเอกชนขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยเดือน ก.ค. ขยายตัวดี
นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง แถลงภาวะเศรษฐกิจการคลังประจำเดือน ก.ค. 60 โดยระบุว่า เศรษฐกิจไทยได้รับแรงขับเคลื่อนสำคัญจากการส่งออกที่ขยายตัวในระดับสูง 10.4% ต่อปี ขณะที่การใช้จ่ายภาคเอกชนปรับตัวดีขึ้น ทั้งจากการบริโภค และการลงทุน โดยเฉพาะจากการลงทุนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักร นอกจากนี้ เศรษฐกิจไทยด้านการผลิตพบว่า ดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตร และภาคการท่องเที่ยวจากต่างประเทศ ที่ยังคงเติบโตได้ดี
ทั้งนี้ ในเดือน ก.ค. 60 เครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคภาคเอกชนปรับตัวดีขึ้น สะท้อนจากปริมาณการจำหน่ายรถยนต์นั่งที่ขยายตัวเป็นเดือนที่ 7 ติดต่อกันที่ 10.0% ต่อปี เช่นเดียวกับปริมาณนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคขยายตัวติดต่อกันเป็นเดือนที่ 3 ที่ 1.6% ต่อปี สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวมอยู่ที่ระดับ 62.2
ขณะที่เครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการลงทุนภาคเอกชน มีสัญญาณดีขึ้นจากการลงทุนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักร สะท้อนจากปริมาณนำเข้าสินค้าทุน ที่ขยายตัวต่อเนื่องที่ 7.8% ต่อปี และปริมาณจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ กลับมาขยายตัวที่ 5.8% ต่อปี จากเดือนก่อนหน้าที่หดตัว -0.5% ต่อปี จากยอดจำหน่ายรถกระบะ ขนาด 1 ตัน ในเดือนกรกฎาคม 2560 ที่กลับมาขยายตัวที่ 5.4% ต่อปี ขณะที่การลงทุนในหมวดก่อสร้างมีสัญญาณทรงตัว สะท้อนจากภาษีการทำธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์ในเดือนกรกฎาคม 2560 ขยายตัวต่อเนื่องที่ 25.5% ต่อปี ขณะที่ปริมาณจำหน่ายปูนซีเมนต์ภายในประเทศ หดตัวเล็กน้อยที่ -0.5% ต่อปี
ด้านมูลค่าการส่งออกสินค้าขยายตัวในระดับสูงอย่างต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 ติดต่อกัน โดยมูลค่าการส่งออกสินค้าขยายตัว 10.5% ต่อปี โดยหมวดสินค้าสำคัญที่สนับสนุนการส่งออก ได้แก่ เกษตรกรรม, ยานพาหนะ อุปกรณ์และส่วนประกอบ, ผลิตภัณฑ์ยาง, อิเล็กทรอนิกส์, เครื่องใช้ไฟฟ้า เป็นสำคัญ สำหรับตลาดที่ขยายตัวได้ดี ได้แก่ จีน, CLMV, และสหรัฐอเมริกา เป็นสำคัญ สำหรับมูลค่าการนำเข้าขยายตัวต่อเนื่องที่ 18.5% ต่อปี กลุ่มสินค้าที่สนับสนุนการขยายตัวของการนำเข้า ได้แก่ วัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป, สินค้าทุน, เชื้อเพลิง และสินค้าอุปโภคบริโภค เป็นสำคัญ ทั้งนี้ มูลค่าการนำเข้าที่ฟื้นตัว และการส่งออกที่ขยายตัวได้ดี ส่งผลให้ดุลการค้าขาดดุล 0.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
เครื่องชี้เศรษฐกิจไทยด้านการผลิตได้รับปัจจัยสนับสนุนจากดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตร และภาคการท่องเที่ยวต่างประเทศ ที่ขยายตัวได้ต่อเนื่อง โดยดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตร ขยายตัวต่อเนื่องที่ 15.4% ต่อปี โดยเป็นการขยายตัวได้ดีของผลผลิตในหมวดพืชผลสำคัญ, หมวดปศุสัตว์, หมวดประมง สำหรับจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่เดินทางเข้าประเทศไทย จำนวน 3.0 ล้านคน ขยายตัวต่อเนื่องที่ 4.8% ต่อปี สร้างรายได้จากการท่องเที่ยวต่างประเทศ ที่ 1.56 แสนล้านบาท ขยายตัว 6.2% ต่อปี โดยนักท่องเที่ยวที่ขยายตัวได้ดีมาจากประเทศจีน, ลาว, กัมพูชา, เกาหลี, อินเดีย, เวียดนาม และรัสเซีย เป็นหลัก
ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจภายในประเทศ ยังอยู่ในเกณฑ์ดี และเสถียรภาพภายนอกอยู่ในระดับที่มั่นคง สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไป และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน อยู่ที่ 0.17% และ 0.5% ต่อปี ตามลำดับ สำหรับอัตราการว่างงานอยู่ที่ 1.2% ของกำลังแรงงานรวม ขณะที่สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ณ สิ้นเดือน มิ.ย. 60 อยู่ที่ระดับ 41.5% ซึ่งอยู่ภายใต้กรอบความยั่งยืนทางการคลังที่ตั้งไว้ไม่เกิน 60%
สำหรับเสถียรภาพภายนอกยังอยู่ในระดับมั่นคง และสามารถรองรับความเสี่ยงจากความผันผวนของเศรษฐกิจโลกได้ สะท้อนจากทุนสำรองระหว่างประเทศ ณ สิ้นเดือน ก.ค. 60 อยู่ที่ระดับ 190.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งคิดเป็นสัดส่วน 3.5 เท่าเมื่อเทียบกับหนี้ต่างประเทศระยะสั้น