xs
xsm
sm
md
lg

ไฟเขียวภาษีสรรพสามิตใหม่ หลังเปลี่ยนการคำนวณราคาขายปลีกแนะนำ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


รมว. คลัง เผย ครม. เห็นชอบภาษีสรรพสามิตความหวาน และปรับลดอัตราภาษี หลังเปลี่ยนการคำนวณราคาขายปลีกแนะนำ เพื่อให้เอกชนขายสินค้าราคาเดิม

นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. อังคารที่ผ่านมา (22 ส.ค.) เห็นชอบการกำหนดอัตราภาษีตามพระราชบัญญัติประมวลกฎหมายสรรพสามิต บังคับใช้วันที่ 16 กันยายนนี้ เพื่อจัดเก็บภาษีสรรพสามิตตามพิกัดใหม่ทุกรายการสินค้า หลังจากปรับเปลี่ยนวิธีการคำนวณภาษีสรรพสามิต จากราคาหน้าโรงงาน และราคา CIF หน้าท่าเรือ เปลี่ยนมาเป็นราคาขายปลีกแนะนำ เมื่อปรับการคำนวณจากฐานราคาขายปลีก จึงต้องปรับลดอัตราภาษี เช่น เดิมเสียภาษีสรรพสามิตร้อยละ 20 ลดเหลือร้อยละ 15 เพื่อให้ผู้ผลิตจ่ายภาษีเท่าเดิม และเอกชนขายสินค้าราคาเดิมไม่ให้กระทบต่อผู้ซื้อ ยอมรับผู้ผลิตที่ตั้งกำไรสูงเกินจริงจะต้องปรับลดลงมาบางส่วน ขณะที่ภาษีสรรพสามิตรถยนต์จะปรับลดลงหลายรายการ เช่น รถยนต์ไฮบริดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดอ๊อกไซค์น้อย

นอกจากการปรับเปลี่ยนอัตราภาษีแล้ว ยังจัดเก็บภาษีสำหรับสินค้าที่ไม่เคยจัดเก็บภาษี เช่น การแก้ไขนิยามให้ครอบคลุมรายการเครื่องดื่มตามพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522 (ประกอบด้วย เครื่องดื่มในภาชนะบรรจุที่ปิดสนิท เช่น ชา, กาแฟ, นมถั่วเหลือง, นมปรุงแต่ง, ผลิตภัณฑ์ของนม, นมเปรี้ยว, เครื่องดื่มเกลือแร่ ที่มีปริมาณน้ำตาลมากกว่า 6 กรัมต่อ 100 มิลลิลิตร) และให้กรมสรรพสามิตปรับปรุงหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการยกเว้นภาษีสรรพสามิตในน้ำผลไม้ และน้ำพืชผัก ให้เป็นไปเพื่อส่งเสริมสุขภาพ โดยกำหนดอัตราส่วนผสมของพืชผักจากธรรมชาติ (ยกเว้น ชา กาแฟ) ให้สูงขึ้น รวมทั้งจัดเก็บภาษีสรรพสามิตในผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มที่ครอบคลุมเครื่องดื่มตามพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522 ใน 2 อัตรา ตามความเข้มข้นของน้ำตาล คือ มากกว่า 6-10 กรัมต่อ 100 มิลลิลิตร และมากกว่า 10 กรัมต่อ 100 มิลลิลิตร โดยควรจัดเก็บภาษีในอัตราที่ทำให้ราคาสูงขึ้นไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 ของราคาขายปลีก

ดังนั้น การจัดเก็บภาษีจึงจัดเก็บตามราคาและปริมาณความหวานรวมอยู่ด้วยกัน คือ 1. ภาษีสรรพสามิตเครื่องดื่มน้ำอัดลม จัดเก็บภาษีร้อยละ 20 ของมูลค่า 2. ภาษีสรรพสามิตตามค่าความหวาน ค่าความหวาน 0-6 มิลลิกรัม (มก.) ต่อลิตร ยกเว้นภาษี รัฐบาลยังให้เวลาภาคเอกชนปรับตัววางแผนการผลิตสินค้าระยะเวลา 6 ปี โดยในช่วง 2 ปีแรก จัดเก็บในอัตราต่ำมาก แต่หากความหวานสูงมากจัดเก็บสูงด้วยเช่นกัน และหากเอกชนต้องการรักษาฐานการตลาดใช้ปริมาณความหวานเดิมต้องยอมจ่ายเพิ่ม

ขณะที่ผู้บริหารโตโยต้า ยอมรับว่า หลังจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บอร์ดบีโอไอ) เห็นชอบการผลิตรถยนต์ไฮบริดตามภาษีสรรพสามิตใหม่ จากเดิมเสียภาษีร้อยละ 10 ทำให้ภาระภาษีลดลงเหลือร้อยละ 5 เมื่อยื่นขอประทานบัตรจากบีโอไอแล้ว พร้อมหารือกรมสรรพสามิต 2-3 เดือนข้างหน้า เพื่อเริ่มวางไลน์การผลิตแคมรี่ไฮบริดออกสู่ตลาด เมื่อราคาลดลงจะทำให้ประชาชนหันไปใช้พลังงานทดแทนมากขึ้น สำหรับรายละเอียดการเสียภาษีสรรพสามิตทั้งระบบกรมสรรพสามิตจะชี้แจงวันจันทร์หน้า (28 ส.ค.)
กำลังโหลดความคิดเห็น