บริษัท เอ็นเนอร์ยี่ เอิร์ธ จำกัด (มหาชน) หรือหุ้น EARTH กำลังสร้างตัวละครใหม่ ในวิกฤตที่เกิดขึ้น โดยธนาคารธนชาต จำกัด (มหาชน) ในฐานะสถาบันการเงินแห่งหนึ่งที่รับฝากเงินจาก “เอิร์ธ” ถูกลากโยงเข้ามาในเหตุการณ์
นายขจรพงศ์ คำดี ประธานกรรมการบริหาร “เอิร์ธ” และผู้ถือหุ้นใหญ่ แถลงข่าวด่วนเมื่อวันที่ 8 สิงหาคมที่ผ่านมา ระบุอย่างชัดถ้อยชัดคำว่า ธนาคารธนชาต เป็นตัวการสำคัญที่ทำให้ “เอิร์ธ” ต้องอยู่ในภาวะจนตรอก กลายเป็นบริษัทที่มีหนี้สินล้นพ้นตัว โดยการนำธุรกรรมทางการเงินไปเปิดเผยต่อธนาคารกรุงไทย
เป็นเหตุให้ธนาคารกรุงไทยยื่นเรื่องต่อศาลขออายัดเงินของ “เอิร์ธ” รวมทั้งเงินในบัญชีเงินฝากของธนาคารธนชาต ซึ่งเตรียมโอนเพื่อซื้อขายถ่านหินกับคู่ค้าในจีน
ผู้บริหาร “เอิร์ธ” ระบุว่า การถูกอายัดเงินในบัญชี ทำให้บริษัทไม่มีเงินใช้จ่ายหรือทำธุรกรรมใดๆ แม้แต่เงินเดือนพนักงานยังจ่ายไม่ครบ ขณะที่ผู้บริหารอาจถูกดำเนินคดีอาญา เพราะได้เขียนเช็คสั่งจ่ายเงินให้คู่ค้าไปล่วงหน้า
แต่ปรากฏว่า เช็คเด้งหมด การที่ธนาคารธนชาตนำความลับของลูกค้าไปเปิดเผย ทำให้เอิร์ธได้รับความเสียหาย จึงยื่นฟ้องในทางแพ่ง เรียกค่าเสียหายจากธนาคารธนชาตจำนวน 60,000 ล้านบาท โดยอ้างว่าศาลได้ประทับรับฟ้องแล้ว
เย็นวันเดียวกัน ธนคารธนชาตได้แถลงข่าวด่วนตอบโต้ทันควัน โดยระบุว่า ข้อกล่าวหาของ “เอิร์ธ” ทำให้ธนาคารได้รับความเสียหาย เป็นข้อกล่าวหาที่ปราศจากความจริง ธนาคารไม่ได้มีพฤติกรรมตามที่ถูกระบุ และธนาคารไม่ได้เป็นคู่กรณีกับ “เอิร์ธ”
แต่เป็นเพียงผู้รับฝากเงินจาก “เอิร์ธ” ซึ่งมีจำนวนไม่มาก เมื่อเทียบกับจำนวนเงินที่ “เอิร์ธ” เรียกร้องค่าเสียหายจากธนาคาร ส่วนการอายัดบัญชีของเอิร์ธ เป็นไปตามคำสั่งศาล
ท้ายจดหมายข่าวของธนาคารธนชาตระบุว่า การแถลงข่าวของ “เอิร์ธ” ที่กล่าวพาดพิงถึงธนาคารในทางเสียหายนั้น ธนาคารสงวนสิทธิ์ที่จะดำเนินการทางกฎหมายทั้งทางแพ่งและอาญา
ระหว่าง “เอิร์ธ” กับธนาคารธนชาตกลายเป็นกรณีพิพาทขึ้นแล้ว และต้องพึ่งกระบวนการทางกฎหมายเพื่อพิสูจน์ว่า ใครพูดจริงใครโกหก
แต่ขณะนี้ธนาคารธนชาตตกอยู่ในฐานะจำเลยของผู้บริหารเอิร์ธ ถูกกล่าวหาว่า เป็นต้นเหตุที่ทำให้กิจการ “เอิร์ธ” ต้องพังทลาย ซึ่งเป็นข้อกล่าวหาที่ผู้บริหารเอิร์ธต้องมีหลักฐานมายืนยัน
เพราะสิ่งที่สาธารณะชนรับรู้โดยทั่วไปนั้น “วิกฤตเอิร์ธ” เริ่มต้นจาก การที่ผู้บริหารบริษัท ออกมาประกาศยอมรับว่า ผิดนัดชำระหนี้ตัวแลกเงิน (ตั๋วบี/อี) ใบแรก จำนวนเงิน 40 ล้านบาท เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2560 หลังจากนั้น การผิดนัดชำระหนี้ก้อนอื่นๆ ก็ทยอยตามมา
ก่อนที่หนี้สินก้อนมหึมาของ “เอิร์ธ” จะถูกเปิดโปง จนทำให้ได้รับรู้ว่า บริษัทจดทะเบียนแห่งนี้ มีหนี้สินล้นพ้นตัว
ผู้บริหารเอิร์ธกำลังตกอยู่ในฐานะจำเลยของสังคม เพราะหนี้ก้อนโตที่เพิ่งโผล่ขึ้นมา ไม่ปรากฏในงบการเงินก่อนหน้า และการซื้อขายหุ้นเอิร์ธก็ถูกจับตา
เพราะราคาหุ้นปรับตัวลงรุนแรง ก่อนที่บริษัทจะประกาศงบการเงินไตรมาสแรกปี 2560 ซึ่งมีผลขาดทุนสุทธิ 68 ล้านบาท และปรับตัวลงรุนแรงอีกครั้ง ก่อนที่จะแจ้งการผิดนัดชำระหนี้
ส่อพฤติกรรมการใช้ข้อมูลภายในมาซื้อขายหุ้นเอาเปรียบนักลงทุนทั่วไป ซึ่งเชื่อว่า ตลาดหลักทรัพย์อยู่ระหว่างการตรวจสอบข้อมูลการซื้อขาย
และการที่ผู้บริหาร ”เอิร์ธ” เปิดบัญชีซื้อขายหุ้น ใช้วงเงินมาร์จิ้น โดยนำหุ้น “เอิร์ธ” เป็นหลักประกันวงเงินสินเชื่อเพื่อซื้อหุ้น แม้จะอ้างว่า ต้องการซื้อหุ้นเพื่อรักษาฐานะการเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ แต่การที่ผู้บริหารระดับสูงเปิดบัญชีซื้อขายหุ้นตัวเอง ไม่น่าจะเป็นพฤติกรรมที่เหมาะสม
การกล่าวหาว่า ธนาคารธนชาต เป็นตัวการที่ทำให้การดำเนินงานของเอิร์ธต้องหยุดชะงักนั้น ถ้าหาหลักฐานพิสูจน์ไม่ได้ ผู้บริหาร “เอิร์ธ” อาจถูกประณามว่าพยายามหา “แพะ” มารับบาปในวิกฤต “เอิร์ธ” ทั้งที่ฝ่ายบริหารบริษัทอาจเป็นผู้ก่อขึ้นเอง
แน่นอนว่าธนาคารธนชาต ซึ่งถูกยัดข้อกล่าวหาหนักขนาดนี้ คงยอมไม่ได้แน่ ดังนั้นผู้บริหาร “เอิร์ธ” คงเตรียมตัวรับหมายศาลคดีแพ่งและอาญาล่วงหน้า
ไม่นับรวมคดีหุ้น คดีก่อหนี้สินล้นพ้นตัว ซึ่งยังไม่รู้ว่า ผู้บริหาร “เอิร์ธ”จะเจอข้อหาใดบ้างหรือไม่
ผู้ถือหุ้นรายย่อย “เอิร์ธ” น่าจะทำใจในความเสียหายที่ได้รับไปแล้ว ตอนนี้คงเฝ้ารอดูว่า ใครกันแน่ที่ทำให้หุ้นตัวนี้พบจุดจบ
ธนาคารธนชาตเป็นต้นเหตุจริงหรือไม่ หรือถูกจับมาเป็น”แพะ”เท่านั้น