xs
xsm
sm
md
lg

อดีตเลขาฯ อังค์ถัด แนะรับมือบริษัทข้ามชาติยุคเศรษฐกิจดิจิตอล

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


อดีตเลขาฯ อังค์ถัด แนะรับมือบริษัทข้ามชาติยุคเศรษฐกิจดิจิตอล เรียกร้องประเทศสมาชิกกำลังพัฒนาจับมือเพิ่มอำนาจต่อรองในเวทีการค้าโลก

นายศุภชัย พานิชภักดิ์ อดีตเลขาธิการ ที่ประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา (อังค์ถัด) และอดีตผู้อำนวยการใหญ่ องค์การการค้าโลก (ดับเบิลยูทีโอ) ปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ “กระบวนทัศน์ใหม่ทางการค้าและการพัฒนาในยุคที่เกิดการก่อตัวขึ้นของการปกป้อง และประชานิยม” จากเวทีการประชุมระดับภูมิภาคว่าด้วยการค้าและการพัฒนา ประจำปี 2560 โดยระบุว่า องค์กรระหว่างประเทศทั้งกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ดับเบิลยูทีโอ ธนาคารโลก อังค์ถัด ควรหันมาเน้นส่งเสริมด้านพัฒนาการลงทุน เกษตร พลังงาน เพื่อร่วมมือทางการพัฒนา การลงทุน สังคม การเงิน รวมเป็นหุ้นส่วนเศรษฐกิจร่วมพัฒนาด้านต่าง ๆ มากกว่าการพึ่งพาทางการค้าเพียงอย่างเดียว และการเจรจาระดับสมาชิกขององค์กรระหว่างประเทศมักจะกำหนดกฎระเบียบคุ้มครองประเทศพัฒนาแล้ว และหากไม่ได้ประโยชน์จะหันไปตั้งกลุ่ม FTA ใหม่ เพื่อหาประโยชน์ให้กลุ่มตนเอง

รวมทั้งควรให้ความสำคัญต่อการจดทะเบียนสิทธิ์เครื่องบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (จีไอ) เพื่อดูแลประเทศผู้พัฒนาสินค้า เนื่องจากที่ผ่านมา องค์กรหลักของโลกจะไม่ให้ความสำคัญปกป้องผ่านการส่งเสริมการลงทะเบียนจีไอ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มสินค้าพื้นที่ต่าง ๆ ของประเทศขนาดเล็ก และจากนโยบาย News Economic เศรษฐกิจยุคดิจิตอลมองว่า ทุกอย่างจะโกลาหลมากขึ้น เนื่องจากข้อมูลทุกด้านทั้งประวัติส่วนตัว การเงิน การค้า การลงทุน ไหลไปอยู่บน Big Data บริษัทเอกชนระดับโลก ทั้งบริษัท แอปเปิ้ล, อาลีบาบา แม้แต่รัฐบาลกลางยังมีข้อมูลไม่เท่ากับเอกชน บริษัทข้ามชาติยุคใหม่จึงกลายเป็นผู้มีอิทธิพลครอบครองโลกทางเศรษฐกิจ หากตามไม่ทันจะควบคุมลำบาก เพราะบริษัทเหล่านี้จะอยู่เหนือเงื่อนไขที่กำหนด จึงมีอิทธิพลอย่างมากในตลาดการค้าโลก การค้นคว้าข้อมูลทุกอย่างอยู่บนออนไลน์ จึงเกิดการควบคุมโดยบริษัทข้ามชาติแบบใหม่ BOX Chain,BOX Clould

นายศุภชัย ย้ำเพิ่มเติมว่า โลกาภิวัฒน์กำลังเปลี่ยนรูปแบบจากหน้ามือเป็นหลังมือ เมื่อเวทีดับเบิลยูทีโอตกลงกันไม่ได้ ผู้นำประเทศจะกล่าวแต่คำหวานเมื่อกลับประเทศทุกอย่างเหมือนเดิม จึงไม่เกิดประโยชน์ต่อประเทศสมาชิกขนาดเล็ก มักแทรกแซงตลาดโลกผ่านอัตราแลกเปลี่ยน อัตราดอกเบี้ย ซึ่งควรปล่อยให้เป็นไปตามกลไกของตลาด ดังนั้น สมาชิกประเทศกำลังพัฒนาต้องมีสิทธิมีเสียงมากขึ้นในเวทีองค์กรระดับโลก เพราะขณะนี้นักลงทุนไทย จีน ญี่ปุ่น และหลายประเทศเอเชีย เริ่มเข้าไปเทกโอเวอร์ในสหรัฐฯ ยุโรป และจะมีอำนาจทางเศรษฐกิจมากขึ้น ไอเอ็มเอฟ ดับเบิลยูทีโอ ธนาคารโลก จึงควรปฏิบัติตามเงื่อนไขอย่างเป็นธรรมเหมือนที่เคยเรียกร้องจากเอเชียเรื่องความโปร่งใสในอดีตที่ผ่านมา เมื่อชาติตะวันตกเข้ามาลงทุนในแถบเอเชีย อังค์ถัดจึงต้องมีบทบาทมากขึ้นต่อการสร้างความสมดุล และเป็นธรรมของประเทศสมาชิก เพื่อโน้มน้าวและสร้างบรรทัดฐานที่ดีต่อเวทีโลก

นายกมลินทร์ พินิจภูวดล ผู้อำนวยการสถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (ITD) เปิดเผยว่า การค้าโลกปัจจุบันซบเซา การลงทุนค่อนข้างอ่อนแอ และยังมีการปกป้องทางการค้า และใช้นโยบายประชานิยมมากขึ้นในหลายประเทศ คาดว่า ภายในปี 2560-2564 เศรษฐกิจอาเซียนจะเติบโตเฉลี่ยร้อยละ 3-8 ทุกประเทศจึงได้ประโยชน์ร่วมกัน การประชุมครั้งนี้เน้นการเชื่อมโยงการค้าและการพัฒนาเพื่อความเติบโตอย่างทั่วถึง และยั่งยืน หวังการเติบโตอย่างมีคุณภาพ จึงมุ่งอำนวยความสะดวกทางการค้าข้ามพรมแดนอันปราศจากกระดาษ หรือผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ ความจำเป็นของการค้าดิจิตอลต่อการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจ และการลงทุน การหารือเกี่ยวกับนโยบายเส้นทางสายไหมแห่งศตวรรษของจีน เพราะเป็นบริบทของห่วงโซ่มูลค่าโลก เพื่อสร้างแบบจำลองทางการค้าให้เป็นธรรมกับทุกฝ่าย
กำลังโหลดความคิดเห็น