xs
xsm
sm
md
lg

“ไทยพาณิชย์” ปรับเพิ่มประมาณการ GDP ไทยปีนี้เป็นเติบโต 3.4%

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


SCB EIC ปรับประมาณการ GDP ไทยปีนี้เป็นโต 3.4% จากเดิม 3.3% หลังคาดส่งออกโตเพิ่มเป็น 3.5% จาก 1.5% พร้อมเตือนความเสี่ยงจาก 3 ปัจจัยในครึ่งปีหลัง

ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) ปรับประมาณการอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ของไทยในปีนี้เพิ่มขึ้นเป็น 3.4% จากเดิม 3.3% หลังคาดว่า การส่งออกในปีนี้จะฟื้นตัวขึ้นอย่างชัดเจน เนื่องจากเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าสำคัญ เช่น สหรัฐฯ ยุโรป จีน และกลุ่มประเทศ CLMV มีแนวโน้มขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง โดยสินค้าส่งออกที่จะได้รับประโยชน์จากแนวโน้มดังกล่าว ได้แก่ กลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ และกลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม ซึ่งมีสัดส่วนราว 30% ของการส่งออกรวม EIC จึงได้ปรับประมาณการการส่งออกของไทยปีนี้เพิ่มเป็น 3.5% จากเดิมที่คาดไว้ 1.5% ในประมาณการครั้งก่อน

อย่างไรก็ตาม กำลังซื้อภายในประเทศยังชะลอตัวจากสภาวะตลาดแรงงานที่ซบเซา และรายได้เกษตรกรที่มีแนวโน้มลดลงในครึ่งปีหลัง พร้อมประเมินว่า เศรษฐกิจในประเทศช่วงครึ่งปีหลังจะได้แรงหนุนจากการเดินหน้าการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจากงบกลางของภาครัฐ ซึ่งจะช่วยให้กำลังซื้อปรับตัวดีขึ้นได้โดยเฉพาะในต่างจังหวัด

นายพชรพจน์ นันทรามาศ ผู้อำนวยการเศรษฐกิจมหภาค SCB EIC ระบุว่า ธุรกิจส่วนใหญ่ยังคงไม่เพิ่มการจ้างงาน แม้การส่งออกจะขยายตัวได้ดีในช่วงที่ผ่านมา เนื่องจากการฟื้นตัวของการส่งออกนั้นไม่ได้เกิดในส่วนที่ใช้แรงงานมากนัก เช่น กลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ที่ส่งออกได้เพิ่มขึ้นมาก แต่กลับมีต้นทุนแรงงานเพียง 4% ของต้นทุนรวม

ขณะเดียวกัน ภาคธุรกิจยังคงชะลอการลงทุนในสินทรัพย์ถาวร เช่น การก่อสร้างและการลงทุนในเครื่องมือเครื่องจักร ส่วนหนึ่งมาจากการที่ธุรกิจขนาดใหญ่หันไปลงทุนในรูปแบบของการควบรวมกิจการมากขึ้นในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา โดยสัดส่วนของเงินลงทุนเพื่อควบรวมกิจการต่อเงินลงทุนระยะยาวทั้งหมดเพิ่มขึ้นจาก 11% มาอยู่ที่ 42% ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ซึ่งการเปลี่ยนพฤติกรรมดังกล่าว ทำให้ความต้องการในการใช้ปัจจัยการผลิตใหม่ รวมถึงการจ้างงานมีแนวโน้มที่จะขยายตัวน้อยลง

อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจไทยในครึ่งปีหลังมีความเสี่ยงที่ต้องจับตา 3 ประการ 1. กำลังซื้อครัวเรือนที่ชะลอตัว ทั้งจากรายได้เกษตรกรที่มีแนวโน้มลดลงตามทิศทางราคาสินค้าโภคภัณฑ์ และรายได้ครัวเรือนนอกภาคเกษตรที่อาจไม่ได้ถูกปรับขึ้นหากตลาดแรงงานยังไม่ฟื้นตัว ซึ่งกระทบกับการใช้จ่ายของกลุ่มผู้มีรายได้ปานกลาง-น้อยที่มีภาระหนี้ครัวเรือนสูงแล้ว

2. ค่าเงินบาทแข็งค่าเมื่อเทียบกับคู่ค้าบางราย การเคลื่อนไหวของเงินบาทในช่วงที่ผ่านมา มีการแข็งค่าเมื่อเทียบกับบางสกุล เช่น จีน อินโดนีเซีย และเวียดนาม หากเงินบาทนยังคงแข็งค่าต่อไป จะทำให้ความสามารถด้านการแข่งขันของสินค้าบางประเภทเสียเปรียบด้านราคา เช่น อุปกรณ์กึ่งตัวนำ, ชิ้นส่วนโทรศัพท์, ยางพารา และข้าว

3. ตลาดการเงินโลกมีความเปราะบางเพิ่มขึ้น ราคาสินทรัพย์ทางการเงินได้ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งพันธบัตร หุ้น สกุลเงินในภูมิภาคเอเชีย รวมทั้งเงินบาทไทยอาจได้รับผลกระทบจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐฯ และการเริ่มลดขนาดงบดุลในอนาคตอันใกล้ นอกจากนี้ ตลาดการเงินโลกยังมีความเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบจากปัญหาทางภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างประเทศที่คาดเดาได้ยาก ทั้งความไม่แน่นอนในการบริหารรัฐบาล และนโยบายต่างประเทศของนายโดนัลด์ ทรัมป์, ความขัดแย้งในคาบสมุทรเกาหลี และความไม่สงบในภูมิภาคตะวันออกกลาง
กำลังโหลดความคิดเห็น