xs
xsm
sm
md
lg

SCC เตรียมจ้างผู้รับเหมาโครงการปิโตรเคมีในเวียดนาม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) หรือ SCC แจ้งว่า บริษัทวีนา เอสซีจี เคมิคอลส์ จำกัด (VSCG) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่ SCC ถือหุ้นทางอ้อมทั้งหมด ได้อนุมัติการดำเนินการลงทุนในโครงการของ Long Son Petrochemicals Company Limited (LSP) ซึ่งเป็นโครงการปิโตรเคมีคอมเพล็กซ์ ในเวียดนาม โดย LSP จะจัดทำหนังสือแจ้งผู้ชนะการประกวดราคา (Letter of Award) ให้กับผู้รับเหมาหลักในวันที่ 14 กรกฎาคม 2560

คาดว่าจะสามารถลงนามในสัญญาจ้างผู้รับเหมาแบบเหมารวมเบ็ดเสร็จ (Turnkey) ในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2560 ซึ่งจะใช้เวลาก่อสร้างประมาณสี่ปีครึ่ง และจะเริ่มดำเนินการผลิตเชิงพาณิชย์ได้ภายในช่วงครึ่งแรกของปี 2565

สำหรับมูลค่าการลงทุนรวมในโครงการของ LSP คิดเป็นเงินประมาณ 5,400 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 188,000 ล้านบาท โดยจะมีโครงสร้างทางการเงินประกอบด้วยเงินกู้เป็นสกุลเงินต่างประเทศ (Foreign denominated debt) และเงินทุนในอัตราส่วน 60:40 โดยค่าใช้จ่ายลงทุนจะทยอยจ่ายไปตลอดช่วงระยะเวลาดำเนินโครงการ โดยผู้ให้กู้คาดว่าจะเป็นสถาบันสินเชื่อเพื่อการส่งออก และธนาคารพาณิชย์

ทั้งนี้ SCC ถือหุ้นทางอ้อมใน LSP ร้อยละ 71 (โดยบริษัทวีนา เอสซีจี เคมิคอลส์ จำกัด ร้อยละ 53 และ บมจ. ไทยพลาสติกและเคมีภัณฑ์ (TPC) ร้อยละ 18) ในขณะที่ Vietnam Oil and Gas Group (PetroVietnam) ถือหุ้นร้อยละ 29

LSP เป็นโครงการปิโตรเคมีครบวงจรแห่งแรกของประเทศเวียดนาม มีความสามารถในการแข่งขันในเชิงธุรกิจ เนื่องจากเป็นโครงการที่มีการเชื่อมโยงจากโรงงานปิโตรเคมีขั้นต้นถึงขั้นปลายครบวงจร มีความประหยัดจากขนาด (Economies of scale) และสามารถใช้วัตถุดิบได้อย่างยืดหยุ่น นอกจากนี้ LSP ยังมีการลงทุนในระบบโครงสร้างพื้นฐานที่ช่วยสนับสนุนการดำเนินกิจการ เช่น ท่าเรือน้ำลึก และสาธารณูปโภคต่าง ๆ ซึ่งมีมูลค่าประมาณร้อยละ 30 ของเงินลงทุนทั้งหมด

จุดเด่นของโครงการนี้ คือ การมีโรงงานผลิตเอทิลีน ขนาดกำลังการผลิต 1 ล้านตันต่อปี ที่มีความยืดหยุ่นสูง โดยสามารถเลือกใช้ก๊าซร่วมกับแนฟทา เป็นวัตถุดิบในสัดส่วนต่าง ๆ เพื่อการผลิตโอเลฟินส์ รวมกันได้สูงถึง 1.6 ล้านตันต่อปี สำหรับเทคโนโลยีในกระบวนการผลิตของ LSP ถือเป็นเทคโนโลยีชั้นนำระดับโลกที่ได้รับการยอมรับ

ส่วนวัตถุดิบจะประกอบด้วยก๊าซอีเทนจากแหล่งภายในประเทศเวียดนาม ก๊าซโพรเพน และวัตถุดิบแนฟทา จากการนำเข้าภายใต้สัญญาซื้อขายวัตถุดิบในราคาตลาดที่แข่งขันได้ ซึ่งจะทำให้โรงงานมีความยืดหยุ่นสูง สามารถเลือกใช้ก๊าซเพื่อบริหารต้นทุนได้สูงสุดถึงร้อยละ 80 ของวัตถุดิบทั้งหมด นอกจากนี้การผลิตโพลิโอเลฟินส์ในขั้นปลาย ซึ่งประกอบด้วยโรงงาน High Density Polyethylene (HDPE), Linear Low Density Polyethylene (LLDPE) และ Polypropylene (PP) จะมีกำลังการผลิตโดยรวมใกล้เคียงกับโรงงานโอเลฟินส์

LSP ตั้งอยู่ห่างจากนครโฮจิมินห์ ซึ่งเป็นตลาดหลัก และเป็นเมืองศูนย์กลางทางเศรษฐกิจของประเทศเวียดนาม เพียง 100 กิโลเมตร โดยในปี 2558 ประเทศเวียดนามนำเข้าผลิตภัณฑ์โพลิโอเลฟินส์ ประมาณ 2.3 ล้านตัน ขณะที่ LSP จะเป็นโครงการปิโตรเคมีครบวงจรแห่งแรกในเวียดนาม ทำให้มีความสามารถในการแข่งขันในเชิงธุรกิจ เนื่องจากเป็นโครงการที่มีความเชื่อมโยงจากโรงงานปิโตรเคมีขั้นต้นถึงขั้นปลายครบวงจร มีความประหยัดจากขนาด (Economies of scale) และสามารถใช้วัตถุดิบได้อย่างยืดหยุ่น ซึ่งจากความสามารถในการแข่งขันดังกล่าว จึงคาดว่า โครงการนี้จะสามารถให้ผลตอบแทนที่สูงกว่าเกณฑ์ในการพิจารณาโครงการลงทุนของ SCC
กำลังโหลดความคิดเห็น