ปลัด “คลัง” โต้บิ๊ก ตลท. ยันฟิวเจอร์สฟันด์ขายได้ ก.ย. นี้ แน่นอน ยืนยัน สคร. ได้ติดตามเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด ยังไม่มีประเด็นปัญหาอะไรที่ต้องเลื่อนไปขายหน่วยลงทุนในปีหน้า
นายสมชัย สัจจพงษ์ ปลัดกระทรวงการคลัง เปิดเผยความคืบหน้าในการจำหน่ายหน่วยลงทุนกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทย (ไทยแลนด์ฟิวเจอร์ฟันด์) หรือ TFF โดยระบุว่า ยังเป็นไปตามกำหนดเดิม คือ พร้อมขายได้ในเดือนกันยายน 2560 นี้เป็นต้นไป ซึ่งทางสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ได้ติดตามเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด ยังไม่มีประเด็นปัญหาอะไรที่ต้องเลื่อนไปขายหน่วยลงทุนในปีหน้า
ทั้งนี้ การให้สัมภาษณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นหลังจากมีการอ้างคำสัมภาษณ์ของผู้บริหารตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) รายหนึ่งว่า กองทุนไทยแลนด์ฟิวเจอร์ฟันด์อาจเลื่อนไปเข้าจดทะเบียนในช่วงต้นปี 2561 จากเดิมที่กระทรวงการคลังคาดว่าจะเข้าจดทะเบียนในปลายปีนี้ เนื่องจากอยู่ระหว่างการแก้ไขสัญญาการโอนรายได้ของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ที่มีปัญหาเล็กน้อย ทำให้เกิดความล่าช้า
ด้านนายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ ผู้อำนวยการ สคร. กล่าวว่า ที่ผ่านมา คณะกรรมการจัดตั้งกองทุนไทยแลนด์ฟิวเจอร์ฟันด์ที่มีปลัดกระทรวงการคลังเป็นประธาน ได้สรุปแผนการจัดตั้งกองทุนโดยให้การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) นำร่างสัญญาโอน และรับสิทธิโอนในรายได้ (RTA) เสนอให้คณะกรรมการ กทพ. เห็นชอบ เพื่อส่งให้สำนักงานอัยการสูงสุดตรวจสอบเห็นชอบอีกครั้งหนึ่ง
นอกจากนี้ กระทรวงการคลังจะเตรียมแบบคำขอเสนอขายหน่วยลงทุนไทยแลนด์ฟิวเจอร์ฟันด์ กับทางคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และจะเตรียมโครงสร้างทางการเงินทั้งหมดให้เรียบร้อยภายในเดือนกันยายน 2560 เพื่อพร้อมระดมทุนตามคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบ 4.48 หมื่นล้านบาท
ขณะที่นายชาญวิทย์ นาคบุรี รองผู้อำนวยการ สคร. กล่าวว่า ในวันที่ 12 กรกฎาคมนี้ กทพ. จะนำรายละเอียดเกี่ยวกับสัญญา RTA รวมทั้งรายละเอียดในด้านอื่น ๆ เพื่อให้คณะกรรมการชุดใหญ่อนุมัติ จากนั้นจะส่งให้สำนักงานอัยการสูงสุดพิจารณาตรวจสอบภายในเดือน ส.ค. นี้ ก่อนยื่นคำขออนุญาตขายหลักทรัพย์กับ ก.ล.ต. ภายในเดือนกันยายน เพื่อรอวันเปิดขายหน่วยลงทุนทุกอย่างเป็นไปตามแผน ไม่ได้มีการล่าช้า
ทั้งนี้ ที่ผ่านมา ครม. ได้เห็นชอบการระดมทุนไทยแลนด์ฟิวเจอร์ฟันด์ของ กทพ. โดยเป็นการระดมทุนผ่าน 2 โครงการ ได้แก่ ทางพิเศษฉลองรัฐ (รามอินทรา-อาจณรงค์) และทางพิเศษบูรพาวิถี (บางนา-ชลบุรี) ผ่านสัญญาโอน และรับสิทธิโอนในรายได้ (RTA) โดยกำหนดสัดส่วนการโอนขายรายได้ในอนาคตที่ 45% ของรายได้จาก 2 โครงการดังกล่าว เป็นระยะเวลา 30 ปี เพื่อมาใส่ไว้ในกองทุน
สำหรับเงินที่ได้จากการระดมทุนผ่านกองทุน จะนำไปเพื่อใช้ในการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานใหม่ของ กทพ. จำนวน 2 โครงการ วงเงินรวมกว่า 4.48 หมื่นล้านบาท ได้แก่ โครงการทางพิเศษพระราม 3-ดาวคะนอง-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันตก วงเงินลงทุน 3.04 หมื่นล้านบาท และโครงการทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือตอน N2 และ E-W corridor ด้านตะวันออก วงเงินลงทุน 1.43 หมื่นล้านบาท