xs
xsm
sm
md
lg

เลขาอังค์ถัด แนะเอกชนเข้าลงทุนก่อนไม่ต้องรอรัฐบาล

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

 นายศุภชัย พานิชภักดิ์ อดีต เลขาธิการการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและ การพัฒนา หรือ UNCTAD
เลขาธิการอังค์ถัด ชี้ไทยเดินมาถูกทางในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ แม้จะล่าช้า แต่การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เช่น รถไฟทางคู่ไทย-จีน และพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ถือว่าเป็นโครงการที่สำคัญมาก เพราะสามารถกระตุ้นอัตราการเติบโตของประเทศให้เท่าทันประเทศอื่นที่โต 5-6% แนะเอกชนเข้าลงทุนก่อนไม่ต้องรอรัฐบาล

นายศุภชัย พานิชภักดิ์ อดีต เลขาธิการการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา หรือ UNCTAD เปิดเผยในงานสัมมนา National Director Conference 2017 “Steering Governance in a changing world” ว่า ตลอด 3 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลได้มีการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้สามารถเติบโตไปได้เพียงรายเดียว โดยรัฐบาลมีค่าใช้จ่ายรายปีถึง 15-20% ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนหดตัวทุกปี จึงทำให้เป็นการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในระยะสั้นเท่านั้น และไม่ได้เป็นการส่งเสริมให้เศรษฐกิจมีสุขภาพที่ดี หรือมีการแข่งขันได้ในระยะยาว แนะให้รัฐบาลเร่งหารือกับภาคเอกชนอย่างชัดเจน และถ้าหากภาคเอกชนมีความจริงใจที่จะแก้ไขปัญหาของประเทศ ก็ต้องมีการลงทุน โดยไม่ต้องรอให้รัฐบาลลงทุนก่อน

“รัฐบาลได้ทำงานอย่างเต็มที่ และผมเห็นใจรัฐบาลมาก โดยรัฐบาลได้เตรียมลงทุนทุกที่ บางที่ช้า เนื่องจากระบบราชการที่ล่าช้า ก็ต้องยอมช้า แต่อย่างน้อยรัฐบาลได้มีการเริ่มต้น ที่จะลงทุนทางด้านรถไฟฟ้า รวมถึงโครงการการพัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจ พิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC ที่ถือว่าเป็นโครงการที่สำคัญมากที่จะทำให้ประเทศไทยสามารถเติบโต จากการลงทุนของเอกชน และต่างประเทศ แต่ก็ต้องคำนึงถึงปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมด้วย ซึ่งเชื่อว่ารัฐบาลก็คงจะเข้ามาดูในทุกๆ เรื่อง”

ทั้งนี้ มองนโยบายดอกเบี้ยปัจจุบันก็อยู่ในระดับที่ต่ำ แต่การลงทุนของภาคเอกชนไม่ได้เกิดขึ้น ซึ่งมีโอกาสที่รัฐบาลถือว่าเป็นผู้ลงทุนเพียงรายเดียวในขณะนี้อาจจะก่อหนี้เพิ่มขึ้นมาได้จากยังมีโอกาสในการกู้ได้อีกมาก ประกอบกับหนี้ภาคครัวเรือนในปัจจุบันก็อยู่ในเกณฑ์ที่น่าเป็นห่วง หากรัฐบาลเข้าไปพยุงเศรษฐกิจ หรือเข้าไปช่วยเหลือให้มีการใช้จ่ายของภาคประชาชน เอกชนมากขึ้น ก็อาจจะเป็นการช่วยได้ในชั่วคราวเท่านั้น ซึ่งสิ่งที่รัฐบาลจะต้องดำเนินการต่อไปก็เป็นสิ่งที่รัฐบาลน่าจะดำเนินการอยู่แล้ว คือ การสร้างโอกาสของการลงทุนให้มีวิธีการที่ง่ายขึ้น เช่น การแก้ไขปัญหาของการจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ จาก 3 เดือน เป็น 3 วัน เป็นต้น

นอกจากนี้ การลงทุนของรัฐบาลโดยเฉพาะโครงการรถไฟทางคู่ไทย-จีน หากจะมีการใช้มาตรการเพื่อเร่งการลงทุนในขณะนี้ก็มองว่าเป็นเรื่องที่ดี เนื่องจากประเทศไทยในขณะนี้ต้องการที่จะให้มีการเริ่มต้นที่เร็วจากผลประโยชน์ที่จะเข้ามาอย่างมาก ซึ่งการตัดสินใจเร็วบางครั้งก็มีความจำเป็น อย่างไรก็ตาม การจะใช้มาตรา 44 ในเรื่องดังกล่าวหรือไม่ ก็ให้เป็นเรื่องของรัฐบาล

สำหรับการเปลี่ยนแปลงของโลกที่เกิดขึ้นในทุกวันนี้ มองว่าอาจจะส่งผลกระทบให้เกิดวิกฤตเศรษฐกิจโลก รวมถึงวิกฤตเศรษฐกิจเอเชียด้วย แม้ว่าปัจจุบัน สภาวะเศรษฐกิจของประเทศต่างๆ อย่างเศรษฐกิจสหรัฐฯ และตลาดหุ้นสหรัฐฯ ที่ดูดีขึ้น รวมถึงจีน ก็อยู่ระหว่างการปรับตัว ซึ่งในเอเชียต้องกลับมาดูว่า อะไรที่จะเป็นตัวแปรที่จะเข้ามาหยุดปัญหาเหล่านี้ได้ เช่น ในอดีตที่เกิดเรื่องของความผัวผวนของค่าเงินหยวนของจีน

“ปัจจุบัน ไทยเราถือว่ามีภูมิคุ้มกันที่ดีอย่างมากจากในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา จากค่าเงินบาทที่มีเสถียรภาพเงินสำรองในประเทศที่อยู่ในเกณฑ์ที่ดี ไม่มีการเปลี่ยนแปลงมาก การจ้างงานต่ำกว่า 1% แต่ปัญหาต่อไปในอนาคตคนที่ไล่ตามเรา หรือจะขึ้นแซงเรา จะทำให้เรามีความสามารถในการแข่งขันอ่อนลงไปหรือไม่ เช่น ในอีก 20 ปีข้างหน้า อินโดนีเซีย อินเดีย จีน ฟิลิปปินส์ ที่จะมีอัตราการเติบโตขึ้นมามาก ขณะที่ไทยมีการเติบโตที่ต่ำลงไปตามการคาดการณ์ของสภาพัฒน์ จึงเป็นสิ่งที่เราต้องกลับมาดูตัวเองอย่างมาก และเป็นเหตุผลที่ไทยควรจะเร่งการลงทุน เช่น EEC ให้เกิดขึ้นให้ได้ เพื่อให้เป็นตัวกระตุ้นอัตราการเติบโตของประเทศ ซึ่งมองว่ายังมีการเติบโตที่ต่ำกว่าเมื่อเทียบกับประเทศอิ่นๆ ที่โต 5-6%”

อย่างไรก็ตาม ความผัวผวนของค่าเงินในปัจจุบันนี้มองว่า มาจากปัจจัยภายนอกเป็นหลักทั้งการดำเนินนโยบายมาตรการผ่อนคลายในเชิงปริมาณการเงิน หรือ QE ซึ่งไม่มีการกำกับดูแลกิจการที่ดีในตลาดทุนใหญ่ของโลก ทำให้เกิดกระแสเงินไหลเข้าออกจากตลาดทุนในเอเซีย โดยที่ไม่ได้คำนึงถึงผลกระทบว่า ประเทศในเอเชียจะได้รับความเสียหายอย่างไร จึงเป็นสิ่งที่เอเชียจะต้องมีการหารือกันอย่างมาก เพื่อนำไปสู่นโยบายธรรมาภิบาลร่วมกัน และป้องกันผลกระทบจากเศรษฐกิจด้านลบภายนอกที่จะมีเข้ามาให้น้อยลง
กำลังโหลดความคิดเห็น