xs
xsm
sm
md
lg

เอเชีย แคปปิตอลฯ ปลื้มทริสฯ จัดอันดับเครดิตครั้งแรก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

เอเชีย แคปปิตอล กรุ๊ป ปลื้มทริสเรทติ้ง จัดอันดับเครดิตที่ “BB” ซึ่งถือเป็นการส่งสัญญาณที่ดี เหตุทริสฯ ไม่เคยจัดอันดับเรต ตั้ง ACAP ครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกตั้งแต่เคยก่อตั้งบริษัทฯ เป็นการสะท้อนให้เหตุถึงเสถียรภาพของผลประกอบการที่มีอัตราเติบโตได้อย่างมั่นคง และฐานะทางการเงินที่มีความแข็งแกร่ง ตามแผนการขยายฐานลูกค้าของบริษัท

ทริสเรทติ้ง จัดอันดับเครดิตองค์กรให้แก่ บริษัท เอเชีย แคปปิตอล กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ ACAP ที่ระดับ “BB” โดยอันดับเครดิตสะท้อนถึงสถานะการดำเนินธุรกิจหลักของบริษัทที่ยังเป็นธุรกิจเริ่มต้นใหม่ รวมทั้งสถานะของงบดุลที่ยังไม่แข็งแกร่ง เนื่องจากพอร์ตสินเชื่อที่ยังไม่ได้รับการพิสูจน์ว่า มีการขยายตัวอย่างมีคุณภาพ ตลอดจนระดับการก่อหนี้ที่สูงขึ้น
 
นอกจากนี้ บริษัทยังมีความเสี่ยงด้านการกระจุกตัวจากการให้สินเชื่อแก่ผู้กู้เพียงไม่กี่รายอีกด้วย อย่างไรก็ตาม อันดับเครดิตได้รับการสนับสนุนจากโอกาสที่ดีทางธุรกิจ เนื่องจากผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อมยังมีความต้องการสินเชื่อระยะสั้นอยู่มาก ทั้งนี้ บริษัทยังต้องใช้เวลาในการพิสูจน์ความสามารถในการเติบโตได้อย่างมีเสถียรภาพ และดำรงไว้ ซึ่งผลประกอบการทางการเงินที่น่าพอใจต่อไป

บริษัทเอเชีย แคปปิตอล ก่อตั้งในปี 2541 ในชื่อเดิมว่า บริษัท เอเชี่ยน แคปปิตอล แอ๊ดไวเซอร์ส จำกัด ต่อมาในปี 2556 บริษัทได้แปรสภาพเป็นบริษัทมหาชน และเปลี่ยนชื่อเป็น บริษัท เอแคป แอ๊ดไวเซอรี่ จำกัด (มหาชน) บริษัทได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ ในปี 2548 และต่อมาในปี 2558 นางสาวสุกัญญา สุขเจริญไกรศรี ได้เข้ามาเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของบริษัท และดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหาร จากนั้น บริษัทจึงได้เริ่มดำเนินธุรกิจใหม่ คือ ธุรกิจให้สินเชื่อระยะสั้น ในปี 2559 บริษัทได้เปลี่ยนชื่อใหม่อีกครั้งเป็น บริษัท เอเชีย แคปปิตอล กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) โดยปัจจุบัน บริษัทมีทุนจดทะเบียนทั้งสิ้น 152 ล้านบาท และมีผู้ถือหุ้นใหญ่ คือ ครอบครัวตระกูลสุขเจริญไกรศรี ซึ่งมีสัดส่วนการถือหุ้นประมาณ 18%
 
ในฐานะที่เริ่มต้นธุรกิจใหม่ บริษัทจึงมีผลการดำเนินธุรกิจในช่วงระยะเวลาที่สั้น อีกทั้ง ยังมีสถานะงบดุลที่ยังไม่แข็งแกร่ง มีการเข้าถึงแหล่งเงินทุนจากภายนอกที่ยังไม่หลากหลาย และมีสัดส่วนการกู้ยืมที่ค่อนข้างสูง อย่างไรก็ตาม ผลประกอบการของบริษัทถือว่าดีขึ้นอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ไตรมาสแรกของปี 2559 ดังนั้น ความสามารถในการสร้างกำไรที่สม่ำเสมอจะช่วยสนับสนุนอันดับเครดิตของบริษัทในระยะต่อไป

ในปี 2558 บริษัทเริ่มดำเนินธุรกิจหลักประเภทใหม่โดยการให้สินเชื่อระยะสั้นแก่ผู้ประกอบธุรกิจต่างๆ โดยเฉพาะธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม โดยสินเชื่อดังกล่าวอยู่ในรูปตั๋วแลกเงิน และเงินกู้ระยะสั้น บริษัทยังให้บริการสินเชื่อแฟกตอริ่ง และดำเนินธุรกิจศูนย์บริการข้อมูลลูกค้า หรือ Call Center ผ่าน บริษัท โกลบอล เซอร์วิส เซ็นเตอร์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่บริษัทถือหุ้นทั้งหมดอีกด้วย
 
ทั้งนี้ มูลค่าสินเชื่อภาคธุรกิจ และสินเชื่อรายย่อยของบริษัทเติบโตแบบก้าวกระโดดจาก 1,039 ล้านบาทในปี 2558 เป็น 4,110 ล้านบาทในปี 2559 ซึ่งคิดเป็นอัตราการเติบโตถึง 290% ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2560 สินเชื่อคงค้างของบริษัทเติบโต 4.54% หรือคิดเป็น 4,296 ล้านบาทจากสิ้นปี 2559 ซึ่ง 60% ของสินเชื่อคงค้างนี้เป็นเงินให้กู้ยืมระยะสั้น และที่เหลือเป็นตั๋วแลกเงินนับตั้งแต่เริ่มให้บริการสินเชื่อระยะสั้นในปี 2558 บริษัทยังไม่มีรายงานสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (สินเชื่อค้างชำระมากกว่า 90 วัน)

โดยนโยบายการอนุมัติสินเชื่อที่เข้มงวด และกระบวนการจัดเก็บหนี้ที่มีประสิทธิภาพเป็นกลยุทธ์สำคัญที่ช่วยให้บริษัทสามารถจำกัดความเสี่ยงจากการปล่อยกู้ให้แก่กลุ่มลูกค้าที่มีความเสี่ยงสูง อย่างไรก็ตาม ด้วยระยะเวลาการดำเนินการที่สั้น และการเติบโตอย่างรวดเร็วของสินเชื่อคงค้าง บริษัท จึงยังต้องใช้เวลาในการพิสูจน์ความสามารถในการบริหารจัดการสินเชื่อคงค้างที่จะขยายตัวมากขึ้น และดำรงคุณภาพสินเชื่อไว้ในระดับที่ยอมรับได้อย่างสม่ำเสมอ หลังจากเริ่มธุรกิจหลักประเภทใหม่ดังกล่าว
 
ผลประกอบการของบริษัทก็เริ่มดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัดในปี 2559 โดยบริษัทมีกำไรสุทธิเท่ากับ 212 ล้านบาทในปี 2559 เทียบกับผลขาดทุนสุทธิที่ 25 ล้านบาทในปี 2558 อัตราส่วนผลตอบแทนต่อสินทรัพย์รวมถัวเฉลี่ยก็เพิ่มขึ้นเป็น 7.5% ในปี 2559 จาก -2.7% ในปี 2558 ในช่วง 3 เดือนแรกของปี 2560 บริษัทรายงานกำไรสุทธิที่ 74 ล้านบาท และมีอัตราส่วนผลตอบแทนต่อสินทรัพย์รวมถัวเฉลี่ยที่ปรับเป็นตัวเลขเต็มปีแล้วเท่ากับ 6.4% ในส่วนของการแสวงหาเงินทุนนั้น บริษัทมีต้นทุนทางการเงินที่ค่อนข้างสูง และมีช่องทางการเข้าถึงแหล่งเงินทุนที่ค่อนข้างจำกัด ในปัจจุบัน แหล่งเงินทุนของบริษัทประกอบด้วยตั๋วแลกเงินระยะสั้น และหุ้นกู้ระยะยาว ซึ่งขายให้แก่นักลงทุนกลุ่มเล็กๆ ผ่านการเสนอขายในวงจำกัด ทริสเรทติ้ง เห็นว่า บริษัทควรจะกระจายแหล่งเงินทุนจากภายนอกให้หลากหลายยิ่งขึ้น เพื่อเพิ่มสภาพคล่องทางการเงินให้แก่บริษัท

การเพิ่มขึ้นของเงินกู้ยืมในปี 2559 ทำให้อัตราส่วนของผู้ถือหุ้นต่อสินทรัพย์รวมของบริษัทลดลงเป็น 21.2% ในปี 2559 จาก 59% ในปี 2558 ขณะที่อัตราส่วนหนี้สินต่อส่วนของผู้ถือหุ้นเพิ่มขึ้นเป็น 3.7 เท่าในปี 2559 จาก 0.7 เท่าในปี 2558 ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2560 อัตราส่วนของผู้ถือหุ้นต่อสินทรัพย์รวมของบริษัทเพิ่มขึ้นเล็กน้อยเป็น 22% และอัตราส่วนหนี้สินต่อส่วนของผู้ถือหุ้นลดลงเป็น 3.5 เท่า สำหรับบริษัทที่เริ่มธุรกิจใหม่นั้น ทริสเรทติ้ง คาดหวังว่า บริษัทจะดำรงฐานทุนในระดับที่แข็งแกร่งเพื่อช่วยรองรับความเสี่ยงในช่วงเวลาที่มีการขยายตัวทางธุรกิจ

ดังนั้น ประเมินแนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” สะท้อนการคาดการณ์ของทริสเรทติ้งว่า บริษัทจะสามารถรักษาสถานะทางการตลาด และมีผลประกอบการที่น่าพอใจอย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งดำรงไว้ซึ่งสถานะทางการเงินที่แข็งแกร่ง ทริสเรทติ้ง คาดหวังว่า คุณภาพสินเชื่อของบริษัทจะไม่เสื่อมถอยลงไปอย่างมีนัยสำคัญจนถึงระดับที่จะกระทบต่อผลประกอบการของบริษัทการปรับเพิ่มอันดับเครดิต และ/หรือแนวโน้มอันดับเครดิตยังมีจำกัดในระยะกลางจากประวัติการดำเนินงานอันสั้นของบริษัท โดยบริษัทยังต้องใช้เวลาพิสูจน์ถึงความมีเสถียรภาพของสถานะทางธุรกิจ และการเงิน ซึ่งเป็นปัจจัยที่จะเกื้อหนุนความสามารถในการทำกำไร และฐานทุนที่แข็งแกร่งบริษัทอันดับเครดิต และ/หรือแนวโน้มอันดับเครดิตอาจถูกปรับลดลงหากคุณภาพสินทรัพย์ของบริษัทลดลงอย่างมีนัยสำคัญจนกระทบต่อความสามารถในการทำกำไร และฐานทุนของบริษัท
กำลังโหลดความคิดเห็น