ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดการณ์ที่ประชุมเฟดมีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 0.25% ในการประชุม 13-14 มิ.ย.นี้ ส่วนในช่วงที่เหลือของปียังต้องรอปัจจัยต่างๆ ที่อาจมีความผันผวนมากขึ้น ด้านค่าเงินบาท เปิดตลาดที่ 34.08 ทรงตัวจากปลายสัปดาห์
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) จะมีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีก 0.25% จากระดับ 0.75-1.00% สู่ระดับ 1.00-1.25% ในการประชุมรอบสี่ของปี 2560 ในวันที่ 13-14 มิ.ย. 2560 หลังพัฒนาการเศรษฐกิจสหรัฐฯ โดยเฉพาะตลาดแรงงานในภาพรวมยังคงแข็งแกร่ง ทั้งนี้ เฟดยังคงอยู่ในช่วงการปรับเปลี่ยนนโยบายการเงินให้เป็นปกติมากขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป แต่การดำเนินนโยบายการเงินของเฟด คงเผชิญกับความท้าทายมากขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี ท่ามกลางปัจจัยเสี่ยงจากทั้งใน และนอกประเทศ ที่เพิ่มขึ้น โดยจังหวะในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐฯ ในรอบการประชุมที่เหลือของปีนี้อาจจะมีความไม่แน่นอนมากขึ้น โดยจะขึ้นอยู่การปัจจัยต่างๆ ในหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นมุมมองต่ออัตราเงินเฟ้อ มุมมองพัฒนาการของเศรษฐกิจสหรัฐฯ และมุมมองอัตราดอกเบี้ย Dot-Plot
อย่างไรก็ตาม ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ยังมีโอกาสที่เฟด จะคงคาดการณ์การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 3 ครั้งในปีนี้อยู่ แม้ว่าจะมีปัจจัยเสี่ยงทั้งใน และนอกประเทศมากขึ้น ซึ่งในสถานการณ์เช่นนี้คงจะไม่ได้สร้างความประหลาดใจให้กับตลาด รวมถึงความผันผวนของการเคลื่อนย้ายเงินทุนมากนัก เนื่องจากเฟด มีการส่งสัญญาณดังกล่าวมาตั้งแต่ต้นปี อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่เฟด ส่งสัญญาณทิศทางการดำเนินนโยบายการเงินในระยะต่อไปในเชิงระมัดระวังมากขึ้น อาจจะส่งผลต่อกระแสเงินทุนไหลเข้าภูมิภาคเกิดใหม่ รวมถึงไทยอย่างต่อเนื่อง และอาจจะเป็นปัจจัยกดดันให้ค่าเงินประเทศเหล่านั้น ปรับแข็งค่าขึ้น
ทั้งนี้ แม้ว่าตลาดการเงินจะมีการปรับตัวสอดคล้องกับความคาดหมายว่า เฟดน่าจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเป็นครั้งที่ 2 ของปีนี้ ซึ่งสอดคล้องไปกับการส่งสัญญาณของเฟด ที่มีมาอย่างต่อเนื่องในช่วงก่อนหน้า แต่คงต้องยอมรับว่า ปัจจัยเสี่ยงต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ปรับเพิ่มขึ้นอย่างมากในช่วงนี้ อาจจะส่งผลต่อการดำเนินนโยบายในระยะต่อไป โดยมีความเป็นไปได้ว่า เฟดอาจจะปรับเปลี่ยนท่าทีในการส่งสัญญาณถึงการดำเนินนโยบายการเงินของสหรัฐฯ อย่างมีความระมัดระวังมากขึ้น
ส่วนเงินบาทวันนี้เปิดตลาดที่ระดับ 34.08 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ และธนาคารกสิกรไทย ประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทที่ 33.90-34.30 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ จากปลายสัปดาห์ก่อนที่ปิดตลาดระดับ 34.07 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ โดยต้องติดตามผลการประชุมนโยบายการเงิน ประมาณการเศรษฐกิจ และ dot plot ชุดใหม่ของธนาคารกลางสหรัฐฯ ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ประกอบด้วย ผลสำรวจกิจกรรมการผลิตของเฟด สาขานิวยอร์ก และสาขาฟิลาเดลเฟีย ดัชนีตลาดที่อยู่อาศัย ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค (เบื้องต้น) เดือน มิ.ย. ยอดค้าปลีก ดัชนีราคาผู้บริโภค ดัชนีราคาผู้ผลิต การผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือน พ.ค. ข้อมูลเงินทุนไหลเข้าสุทธิ และสต๊อกสินค้าคงคลังภาคธุรกิจเดือน เม.ย. นอกจากนี้ ตลาดน่าจะรอติดตามประเด็นต่อเนื่องหลังสถานการณ์การเลือกตั้งในอังกฤษ และข้อมูลเศรษฐกิจเดือน พ.ค. ของจีนด้วยเช่นกัน