xs
xsm
sm
md
lg

แนะไทยเพิ่มการลงทุนภาคเอกชน หนุนไทยโตเต็มศักยภาพ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


สำนักวิจัยเศรษฐกิจมหภาคแห่งภูมิภาคอาเซียน+3 แนะไทยเพิ่มการลงทุนภาคเอกชน หนุนไทยโตเต็มศักยภาพ ห่วงหนี้ครัวเรือน และเอ็นพีแอลสูง

นายคอร์ โฮ อี้ (Hoe Ee Khor) หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ สำนักวิจัยเศรษฐกิจมหภาคแห่งภูมิภาคอาเซียน+3 กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยในปีนี้ คาดว่าขยายตัวร้อยละ 3.4 และ 3.5 ในปี 2561 ซึ่งเป็นอัตราที่น่าพอใจ เพราะประเทศไทยเผชิญกับภาวะแรงกระแทกจากหลายครั้ง แต่พื้นฐานเศรษฐกิจไทย และฐานะการคลังยังคงแแข็งแกร่ง ทั้งเงินทุนสำรองระหว่างประเทศมากที่สุดในภูมิภาคอาเซียน หนี้สาธารณะยังต่ำ อยู่ประมาณร้อยละ 40 หากเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านที่มีหนี้สาธารณะสูง

อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจไทยยังเติบโตไม่เต็มศักยภาพ เนื่องจากการลงทุนภาคเอกชนยังขยายตัวต่ำ หากการลงทุนภาคเอกชนขยายตัวได้เต็มที่ เศรษฐกิจไทยจะสามารถขยายตัวได้สูงกว่าปัจจุบัน ส่วนปัจจัยเสี่ยงของเศรษฐกิจไทยมองว่า ปัญหาหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง ยังเป็นปัจจัยที่กดดันการบริโภคในประเทศ และห่วงหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือ เอ็นพีแอล ที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ เอสเอ็มอี ที่ยังเป็นแรงกดดันเอสเอ็มอีต่อ และเป็นปัจจัยที่ต้องติดตามต่อไป

ขณะที่อัตราเงินเฟ้อยังอยู่ในระดับต่ำ ซึ่งเป็นช่องว่างให้ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ ธปท. สามารถดำเนินนโยบายการเงินได้ในภาวะที่จำเป็น เช่นเดียวกับนโยบายการคลังที่ประเทศไทยสามารถเพิ่มการลงทุนได้ และกระตุ้นเศรษฐกิจ เนื่องจากหนี้สาธารณะของไทยยังอยู่ในระดับต่ำ

“สำหรับประเทศไทย หลังจากผ่านวิกฤตเศรษฐกิจมา 20 ปี พบว่า ประเทศไทยมีการปฏิรูปไปมาก ทั้งภาคธุรกิจ สถาบันการเงิน การบริหารความเสี่ยง และธรรมาภิบาล” นายคอร์ โฮ อี้ กล่าว

ส่วนภาพรวมเศรษฐกิจของกลุ่มอาเซียน+3 ในปีนี้ คาดว่าจะขยายตัวได้ ร้อยละ 5.1-5.2 โดยเศรษฐกิจในกลุ่มดังกล่าวได้ผ่านจุดต่ำสุดแล้ว เศรษฐกิจจีนคาดว่า จะเติบโตได้ร้อยละ 6.5 ขณะที่ญี่ปุ่นคาดว่า จะแข็งขยายตัวร้อยละ 1.3 โดยปัจจัยเสี่ยงของเศรษฐกิจในภูมิภาคนี้ คือ ความเสี่ยงจากเงินทุนเคลื่อนย้ายผันผวน จากความไม่แน่นอนของนโยบายการค้าโลก ซึ่งการดำเนินนโยบายอัตราแลกเปลี่ยนแบบยืดหยุ่นของประเทศต่างๆ ในภูมิภาคนี้ ถือเป็นแนวทางที่เหมาะสมช่วยรองรับความผันผวนได้ และยังการสนับสนุนการฟื้นตัวของกลุ่มภูมิภาคอาเซียน+3

“ตลอดปีที่ผ่านมา หลายประเทศทั้งอินโดนีเซีย มาเลเซีย ได้รับผลกระทบจากราคาน้ำมัน และสินค้าโภคภัณฑ์ที่ราคาต่ำลง ก็ได้ปล่อยให้ค่าเงินอ่อนค่ามากแล้ว ซึ่งถือเป็นแนวทางที่ถูกต้องในการรองรับการไหลออก เพื่อไม่ให้กระทบต่อทุนสำรองระหว่างประเทศ” นายคอร์ โฮ อี้ กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น