xs
xsm
sm
md
lg

“อลงกรณ์” ชี้ร่าง พ.ร.บ.งบ 61 เปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ รับการปฏิรูปสู่ไทยแลนด์ 4.0

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

อลงกรณ์ พลบุตร รองประธานสภาขับเคลื่อนปฎิรูปประเทศ  (แฟ้มภาพ)
รองประธาน สปท.มองร่าง พ.ร.บ.งบ 61 เป็นการเปลี่ยนแปลงการจัดทำงบใหญ่รอบ 10 ปี ตอบโจทย์การปฏิรูปประเทศสู่ไทยแลนด์ 4.0 แนะเน้นประสิทธิภาพการบริหารงบโปร่งใส กันไม่ให้ใช้วิธิพิเศษในการจัดซื้อ เปิดช่องภาค ปชช.ตรวจสอบ

วันนี้ (11 มิ.ย.) นายอลงกรณ์ พลบุตร รองประธานสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ คนที่ 1 กล่าวว่า ร่าง พ.ร.บ. งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2561 วงเงิน 2.9 ล้านล้านบาท ที่ผ่านความเห็นชอบวาระที่ 1 ของ สนช. ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงการจัดทำงบประมาณครั้งใหญ่เป็นครั้งแรกในรอบ 10 ปี ตามแผนการปฏิรูประบบงบประมาณและการคลัง ซึ่งจะส่งผลดีต่อการปฏิรูปประเทศสู่ไทยแลนด์ 4.0 ภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติโดยเปลี่ยนแปลงโครงสร้างและระบบงบประมาณเป็นแบบ 3 มิติ ได้แก่ มิติหน้าที่ (functional base) ตามภารกิจของหน่วยงานรัฐ มิติวาระปฏิรูป (agenda base) ตอบโจทย์ 37 วาระปฏิรูป 11 ด้าน อย่างชัดเจนง่ายต่อการบริหารและประเมินผลและมิติพื้นที่ (area base) สู่จังหวัด กลุ่มจังหวัด และท้องถิ่นโดยตรง ส่งผลต่อการพัฒนาอย่างเท่าเทียมทุกพื้นที่ทำให้การขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศเป็นรูปธรรมชัดเจน

นอกจากนี้ยังสามารถปรับลดรายจ่ายประจำเหลือร้อยละ 74 สามารถเพิ่มงบลงทุนได้ถึงร้อยละ 23 ซึ่งเป็นทิศทางที่ดีขึ้นในรอบหลายปี พร้อมกับเพิ่มการลงทุนประเทศด้วยการใช้ระบบเอกชนร่วมลงทุนแบบพีพีพี และกองทุนไทยแลนด์ฟันด์ ทำให้ดำเนินการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานได้รวดเร็วขึ้น โดยไม่เป็นภาระงบประมาณและหนี้สาธารณะ ปัจจุบันอยู่ที่ร้อยละ 42 ของจีดีพี ถือว่าอยู่ในกรอบวินัยการคลังที่สร้างความเชื่อมั่นให้กับเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของประเทศ เช่นเดียวกับตัวเลขทุนสำรองเงินตราเกือบ 2 แสนล้านดอลลาร์ สูงเป็นอันดับ 9 ของโลก จะทำให้เศรษฐกิจเติบโตอย่างมั่นคงต่อเนื่องเป็นปีที่ 4 และจะเติบโตสูงกว่าอัตราขยายตัวของจีดีพีเฉลี่ย 10 ปีเป็นครั้งแรก สะท้อนถึงความก้าวหน้าของการปฏิรูปประเทศใน 3 ปีที่ผ่านมา ทำให้ประเทศไทยแข็งแรงขึ้น

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ต้องมุ่งเน้นอีกด้าน คือ ประสิทธิภาพการบริหารงบประมาณอย่างโปร่งใส มีธรรมาภิบาล ป้องกันไม่ให้หน่วยงานรัฐใช้วิธิพิเศษในการจัดซื้อจัดจ้างโดยไม่มีเหตุอันควร พร้อมกับส่งเสริมบทบาทของประชาชนเจ้าของภาษีในการตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณ และการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารภาครัฐที่เกี่ยวกับการประมูลจัดซื้อจัดจ้าง การตรวจสอบจากภาคประชาชนจะเป็นการอุดช่องโหว่การทุจริตของงบประมาณแผ่นดินได้เป็นอย่างดี
กำลังโหลดความคิดเห็น